78.ไหว้พระ ๙ วัด ฝั่งธนบุรี

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 19 มิถุนายน 2015.

  1. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    หลวงพ่อแสน

    เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะ ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หน้าตักประมาณ ๒ ศอกเศษ หรือประมาณ ๒๕ นิ้วครึ่ง เป็นโลหะเนื้อสัมฤทธิ์สีทองต่างกันเป็น ๔ ชนิดดังนี้ เบื้องพระศอตอนบทจนถึงพระเศียรและพระพักตร์สีทองเป็นนวโลหะสัมฤทธิ์แก่ เบื้องพระศอตอนล่างลงมาจนถึงพระองค์และฐานรองสีทองสัมฤทธิ์เนื้ออ่อนกว่า เนื้อทองจีวรเป็นอีกสีหนึ่งเข้มกว่าเนื้อทองส่วนองค์พระแต่ไม่เข้มกว่าตอนพระพักตร์และพระเศียร แต่เป็นสังฆาฏิชนิดยาวทาบลงมาถึงพระนาภีแบบลังกาวงศ์ พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีเป็นเปลวยาวขึ้นแบบลังกาวงศ์ รอบฝังแก้วผลึก ๑๕ เม็ด นิ้วพระหัตถ์ไม่เสมอกันแบบพระเชียงแสนและสุโขทัยยุคแรก พระเศียรโตเขื่องกว่าส่วนขององค์พระจนสังเกตเห็นชัด พระเนตรฝังแก้วผลึกในส่วนสีขาวและฝังนิลในส่วนสีดำ ฐานรองเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงายประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเบื้องหน้าองค์พระประธาน หลวงพ่อแสนเป็นที่นับถือของชาวบ้านชาววัดถิ่นนี้ทั่วกันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักอำนวยความสำเร็จให้แก่ผู้ปรารถนาได้นานาประการและเป็นอัศจรรย์ยิ่ง จนมีนิยายเล่ากันสืบมาว่า หลวงพ่อแสนมีคนอัญเชิญขึ้นหลายแห่งถึงกับใช้แรงคนดึงลากขึ้นเป็นจำนวนแสนคนก็ไม่เสด็จขึ้น เมื่อลอยมาถึงวัดหงส์ฯ นี้แล้ว เพียงอาราธนาอัญเชิญก็เสด็จขึ้นด้วยกำลัง ๔ – ๕ คนเท่านั้น ดังนั้นหลวงพ่อองค์นี้จึงมีนามว่า “หลวงพ่อแสน” คือคนเป็นแสนแสนดึงไม่ขึ้นนั่งเอง

    ตามตำนานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดไว้ในประเภทพระพุทธรูปสำคัญ ทรงพระนิพนธ์ประวัติไว้ในตำนานของพระองค์ท่านดังนี้ “พระแสน(เมืองเชียงแตง) พระพุทธรูปองค์นี้ เชิญมาแต่เมืองเชียงแตงเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม” คิดเป็นเวลาขวบปีได้ ๑๐๐ ปีแล้วจนบัดนี้ อนึ่ง หลักฐานการอัญเชิญมาก็เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่เป็นมูลเหตุ ดังพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ ๔ ในหนังสือชุมนุมพระบรมราชธิบายในพระองค์ เพื่อให้ผู้อ่านทราบเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อแสน ซึ่งมีพระราชดำรัสเป็นลักษณะทรงโต้ตอบกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ใจความว่า “ถ้าฉันพอใจจะให้มีพระพุทธรูปสำคัญมีชื่อที่คนนับถืออยู่ที่วัดหงส์ฯ เป็นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ให้เป็นพระเกียรติยศแล้ว พระชื่อพระแสนอยู่เมืองเชียงแตงอีกองค์หนึ่งงามหนักหนา ถ้าฉันจะมีตราไปเชิญมาท่านจะให้พระยาราชโยธาที่ครั้งนั้นเป็นพระยาสุเรนทร์ ใช้คนให้นำไปชี้องค์พระให้ ฉันเห็นว่าท่านประสงค์ดังนั้น ไม่มีเหตุที่ควรจะขัด ฉันก็ไม่ได้ขัด ฉันก็ได้ให้มหาดไทยมีตราไปเชิญพระนั้นลงมา พระยาสุเรนทร์ใช้พระลาวรูปหนึ่งเป็นผู้รับอาสานำไป ฉันก็ได้ให้ผ้าไตรไปถวายพระสงฆ์ลาวรูปนั้นไตรหนึ่ง แล้วก็ให้นำท้องตราไป ได้เชิญพระแสนลงมาถึงกรุงเก่าแล้ว ฉันก็ได้บอกถวายวังหน้า ให้ท่านจัดการไปแห่รับมาไว้ที่วัดหงส์ทีเดียว แลฐานที่จะตั้งพระนั้น ฉันให้ท่านทำเป็นการช่างในพระบวรราชวัง ฉันจะเป็นแต่รับปิดทอง ฐานพระนั้นก็ยังทำค้างอยู่ บัดนี้ก็ยังไม่ได้ปิดทอง ว่ามาทั้งนี้เป็นการเล่าถึงเหตุที่เป็นแลถ้อยคำที่ได้พูดกันแล้วแต่ก่อนนี้ไป ให้ท่านทั้งปวงทราบ” ดังนี้ และที่มาอีกแห่งหนึ่งคือ พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๐๑ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๕๘ ข้อความว่าดังนี้
    “ ฉันขึ้นไปกรุงเก่า ได้นมัสการพระแสนเมืองเชียงแตงแล้ว รูปพรรณเป็นของเก่าโบราณหนักหนา แต่เห็นชัดว่าอย่างเดียวกับพระแสนเมืองมหาชัยแน่แล้ว ของคนโบราณจะนับถือว่า พระแสนองค์นี้ องค์ใดองค์หนึ่งจะเป็นของเทวดาสร้างหรือว่าเหมือนพระพุทธเจ้าแท้ แล้วจึงถ่ายอย่างกันข้างหนึ่งเป็นแน่แล้ว แต่เมื่อดูสีทองแลชั้นเชิงละเอียดไป ดูทีเห็นว่าพระแสนเมืองเชียงแตงจะเก่ากว่า สีทองที่พระเศียรและพระพักตร์เป็นสีนาคเนาวโลหะเช่นกับพระอุมาภควดีเก่าในเทวสถาน ตมูกฤาพระนาสิกก็ดูบวมมากเหมือนกันที่เดียว ที่พระองค์ พระหัตถ์ พระบาทนั้น สีทองเป็นอย่างหนึ่ง ติดจะเจือทองเหลืองมากไป ที่ผ้าพาดนั้นเป็นแผ่นเงินฝังทาบทับลง แต่ดูแน่นหนาอยู่ พระแสนองค์นี้ฉันถวายแล้ว โปรดทรงดำริดูเถิด จะให้ไปเชิญลงมาเมื่อไรอย่างไรก็ตามแต่จะโปรด ยังมีพระที่มีชื่อ เอามาจากเวียงจันทร์อีกสององค์ พระอินทร์แปลง หน้าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณหน้าตักเศษ พระสององค์นี้ องค์ที่ออกชื่อก่อน ฉันจะรับประทานไปไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม(จ.พระนคร) วัดตะเคียนที่ให้ไปสร้างขึ้นไว้ใหม่ พระอรุณนั้นฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ(จ.ธนบุรี) เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน สมควร แต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ ยังพระไม่มีชื่ออีกหลายองค์ องค์หนึ่งหน้าตัก ๒ ศอกหย่อน แต่รูปพรรณนั้นเห็นชัดว่าทำเอาอย่างพระแสนเมืองมหาชัย ไม่สู้ผิดนัก ทั้งลาดเลาพระพักตร์และส่วนพระหัตถ์พระบาททุกอย่าง พระองค์นี้ ฉันคิดว่าจะไปไว้ที่พระวิหารหลวงพระพุทธบาท พระขัดสมาธิเพชรใหญ่องค์หนึ่ง ฐานมีรูปสัตว์ต่างๆ ฉันคิดว่าจะเชิญมาไว้ในพระอุโบสถวัดเขมาภิรตาราม(จ.นนทบุรี) มีอีกองค์หนึ่งหน้าตักศอกเศษ คล้ายพระแสนแต่ไม่สู้ชัดนักนั้น ฉันคิดว่าจะเชิญไปไว้ในพระอุโบสถวัดชัยพฤกษมาลา
    พระแสนเมืองเชียงแตงนั้นตามแต่จะโปรดเถิด ถ้าจะเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดหงส์ ฯ ก็ดีอยู่ จะได้เป็นคู่กับพระอรุณที่วัดอรุณ เหมือนดัง ๒ องค์ที่จะเชิญลงไปไว้ที่วัดชัยพฤกษมาลาและวัดเขมาภิรตารามนั้นเป็นพระเกียรติยศ แลส่วนพระราชกุศลถวายทูลกระหม่อมและสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
    แต่ถ้าจะโปรดเอาพระแสนเมืองเชียงแตงไว้ในวังแล้ว ฉันจะถวายอีกองค์หนึ่งหน้าตักศอกเศษ เป็นทองสองสี เพื่อจะได้ไปที่วัดหงส์ฯ แทน ตามแต่จะโปรด เรือสติมเมอร์ “มีตีออร์” ขึ้นไปก็ไม่ถึงกรุงเก่า ไปค้างติดตื้นอยู่ที่ปากคลองตะเคียน ต่อเวลา ๘ ทุ่ม (๒ A.M.) น้ำขึ้นมากจึงจะกลับมาได้ ต้องหยั่งน้ำหาร่องมา พึ่งมาเมื่อ ๙ โอคล๊อค “๒๐ – A.M.” ตามพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ยังทรงแสดงให้เห็นความพิเศษของหลวงพ่อแสนนี้ว่า น่าจะเป็นเทวดาสร้าง คนโบราณนับถือกันและเก่าแก่ยิ่งกว่าหลวงพ่อแสนอีกองค์หนึ่งที่ในพระวิหารวัดปทุมวนารามในพระวิหาร จังหวัดพระนคร

    อีกแห่งหนึ่งได้กล่าวถึงการมาของหลวงพ่อแสนไว้ คือหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ ว่าดังนี้
    “ พระแสนนั้นก็อยู่ที่เมืองเชียงแตงมาจนถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้(รัชกาลที่ ๔) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบทราบต้องพระราชประสงค์ เสด็จลงมากราบทูลขอให้มีท้องตราให้ข้าหลวงขึ้นไปเชิญอาราธนาลงมา เมื่อปีมะแมนักษัตรเอกศกศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๘๕๙ ครั้นเชิญเสด็จพระแสนลงมาถึงแล้วก็พระราชทานไปในพระบวรวังตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้อัญเชิญไปสร้างแท่นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม ริมคลองบางกอกใหญ่อยู่จนทุกวันนี้ พระแสนนั้น รูปพรรณเป็นฝีมือช่างลาวโบราณประหลาด ดังนี้ คิดเป็นระยะปีมาอยู่วัดหงส์ ฯ ของหลวงพ่อแสนตามประชุมพงศาวดารนี้ได้ ๙๙ ปี ตก พ.ศ. ราว ๒๔๐๒ หลังพระราชหัตถเลขาที่กล่าวมาแล้ว ๑ ปี แต่เรื่องตามนัยหลังนี้ได้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ห่างระยะเวลาอัญเชิญพระมา ๔ ปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลนี้ เมื่อวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๒๓
    ในอันดับนี้จะได้เล่าประวัติความบังเกิดขึ้นของหลวงพ่อแสน วัดหงส์ ฯ นี้ซึ่งได้จากตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ รวม ๓ ฉบับ คือ ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ฉบับหม่อมราชวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม) และฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ กับราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ ว่าไว้เป็นเรื่องละม้ายคล้ายกันดังนี้ คือภิกษุรูปหนึ่ง ผู้มีบุญแต่ปางก่อนอุปถัมภ์ ท่านฉลาดไหวพริบดีและแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นคนเมืองพาน เป็นสานุศิษย์พระครูลึมบองและพระครูยอดแก้ว ได้รับยกย่องเป็นราชาจั่วและได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุ มีพระสงฆ์นั่งหัตถบาสถึง ๕๐๐ รูป ในพระอุโบสถน้ำ โดยพระเจ้าเมืองเวียงจันทร์ถวายอุปการะ ท่านมีผู้คนนับถือและเกียรติชื่อเสียงเลืองลือไปทั่วแต่เมื่อยังเป็นสามเณร และทรงไว้ซึ่งอภินิหารมหัศจรรย์มาก ต่อมาท่านได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นพระครู และจำพรรษาอยู่ ณ วัดโพนเสม็ด คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อท่านว่า “พระครูโพนเสม็ด” ท่านผู้นี้ยังได้ปฏิบัติกรรมฐานบรรลุอภิญญาสมาบัติ มีฤทธิ์อำนาจเป็นพิเศษอีกด้วย จึงเป็นที่ทั้งเกรงทั้งเคารพนับถือและบูชาสักการะของคนทั่วไปในถิ่นนั้น ครั้นต่อมาเจ้านครเวียงจันทน์พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงราชสมบัติได้เป็นเจ้าเมืองแต่ประพฤติมิชอบและคิดกำจัดท่าน ท่านพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ชาวบ้านและมเหสีโอรสเจ้าเวียงจันทร์เดิม จึงทิ้งถิ่นเดิมอพยพย้ายกันเป็นหมู่ใหญ่จำนวนนับพันมาอยู่ยังตำบลจะโรยจังวา คือตำบลบ้านแหลม ซึ่งต่อมาตำบลนี้เป็นนครพนมเปญ ท่านประสบศุภนิมิตคือได้พระบรมธาตุจากยายเป็น เป็นผู้ถวาย จึงสร้างเจดีย์เป็นพนมขึ้นแล้วบรรจุพระบรมธาตุนั้นไว้ ณ ที่เจดีย์พนมนี้ แล้วท่านจึงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง ได้แต่เพียงพระเศียรลงมาถึงพระกรขวา ยังไม่เสร็จทั้งองค์ ก็มาเกิดเรื่องพระเจ้ากรุงกัมพูชาจะเก็บส่วยเป็นเงินครัวละ ๘ บาท ท่านจึงพาญาติโยมเคลื่อนที่ขึ้นไปตามลำน้ำโขงโดยลำดับแล้วมาอธิษฐานขอที่อยู่อาศัย ด้วยอำนาจกุศลธรรมของท่าน ก็เกิดเกาะเป็นหาดขึ้นเรียกกันว่า “หาดท่านพระครู” มาจนทุกวันนี้ ท่านและญาติโยมก็อยู่พำนักอยู่ ณ ที่นี้ และสร้างพระพุทธปฏิมากรต่อพระอังสาพระกรเบื้องซ้ายตลอดพระแท่นรองสำเร็จแล้วให้ศิษย์ไปนำส่วนพระเศียรและพระกรเบื้องขวามาต่อสวมเข้าเป็นองค์บริบูรณ์ ตรงนั้นเรียกเกาะหาดทรายมาจนบัดนี้ และท่านขนานนามพระปฏิมากรองค์นี้ว่า “พระแสน” และสร้างวิหารถวายประดิษฐาน ณ ที่นี้ อนึ่งพระครูโพนเสม็ดรูปนี้เป็นผู้ให้กำเนิดเมืองเชียงแตงและนครจำปาศักดิ์ พร้อมทั้งเจ้าท้าวพระยาอีกด้วย และท่านยังได้สร้างพระพุทธปฏิมากรองค์อื่นๆ อีกภายหลังพระแสนองค์นี้ เมื่อพิจารณาตามประวัตินี้ หลวงพ่อแสนได้กำเนิดจากการกระทำของท่านผู้ศักดิ์สิทธิ์ คือพระครูโพนเสม็ด
    ในเนื้อที่ ๒ แห่ง คือที่บ้านแหลมอันต่อมากลายเป็นราชธานีนครพนมเปญ และเกาะหาดเกาะทราย ซึ่งต่อมาในบริเวณที่แถบนี้กลายเป็นนครจำปาศักดิ์ และศิษย์ท่านผู้เป็นเชื้อสายเจ้านครเวียงจันทน์เดิม พระนามว่า “เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร” โดยท่านเป็นผู้สถาปนาขึ้น และโอรสเจ้าสร้อยศรีสมุทรองค์สุดท้อง ทรงพระนามว่า “พระไชยเชษฐ์” ครองเมืองเชียงแตง คือบ้านหางโค ปากน้ำเซกอง ฝั่งโขงตะวันออก บัดนี้ นับว่าหลวงพ่อแสนเป็นพระฤกษ์อันสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ และเป็นต้นสกุลองค์หนึ่งของพระแคว้นลานช้าง

    เรื่องนามของหลวงพ่อแสน ตามนัยแห่งตำนานนี้ว่า พระครูโพนเสม็ดกับครอบครัวได้อพยพมาจากเมืองเขมรมาตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงแตงจึงได้เรี่ยไรพวกครอบครัวที่อพยพมานั้น ประมวญทองแดงทองเหลืองเป็นอันมากหนักได้ ๑๖๐ ชั่งเศษ แล้วหล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปพระองค์หนึ่งเนื้อหนาดี ขัดสีเกลี้ยงเกลางาม พระครูโพนเสม็ดถวายพระนามว่า “พระแสน” เพราะคิดน้ำหนักได้กว่าแสนเฟื้อง และตั้งไว้ในวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของพระครูโพนเสม็ด ณ เมืองเชียงแตง ดังนั้น “แสน” หมายเอาคำว่า “กว่าแสนเฟื้อง ประการหนึ่ง และ “แสน” หมายเอาทองแดงทองเหลืองมากมาย หนักตั้ง ๑๖๐ ชั่งเศษ เพราะ “แสน” คำนี้พจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า “มากยิ่ง” ประการหนึ่งแต่ “แสน” คำนี้จะหมายเอาถิ่นที่เกิดของพระและช่างผู้หล่อเป็นชาวถิ่นนั้น คือ แคว้นลานช้าง เลยขนานนามตามนัยนี้ว่า พระแสนลานช้าง แต่ตัดคำหลังเพื่อกะทัดรัดเข้าเพียงเรียกว่า “พระแสน” ดังนี้ แม้ในหนังสือโบราณคดีกล่าวไว้ว่า “อาศัยเหตุที่เชียงแสนได้เคยเป็นชื่อราชธานี มานมนานตั้งแต่สมัยเมื่อชนชาติไทยได้เข้ามาปกครองมณฑลลานช้างราว พ.ศ.๑๖๐๐ นักปราชญาทางโบราณคดีจึงสมมติ ชื่อโบราณวัตถุสถานอันเป็นฝีมือช่างไทยได้ทำไว้แต่ครั้งนั้น และต่อมาในอาณาจักรลานนาและลานช้างว่า “สมัยเชียงแสน” และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรามพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้เหตุผลไว้ในหนังสือพุทธเจดีย์ว่า “พุทธเจดีย์แบบเชียงแสนเป็นต้นแบบต่อไปถึงประเทศลานช้าง คือ เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ลงมาจนเมืองจำปาศักดิ์” ดังนี้ นัยนี้คำว่า “พระแสน” ก็หมายเอา “พระสมัยฝีมือเชียงแสน” นั่นเอง แต่เรียกสั้นก็ว่า “พระแสน” ฉะนั้น หลวงพ่อแสนองค์นี้ นับเข้าเป็นพระงามยิ่งองค์หนึ่งในบรรดาพระพุทธรูปลานช้างที่งามด้วยกัน คือพระแสนวัดหงส์ๆ นี้องค์หนึ่งและพระแสนกับพระเสริม วัดประทุมวนาราม อีก ๒ องค์ด้วยกัน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระพุทธรูปทองโบราณ

    เดิมเป็นพระหุ้มปูนมีพุทธลักษณะสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลังพระอุโบสถซึ่งชำรุดทรุดโทรมหักพังยังรกรุงรังด้วยเศษอิฐและไม้กับมีเครือเถาและต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนคนทั้งหลายเรียกว่าวิหารร้าง ต่อมาเมื่อพระสุขุมธรรมาจารย์ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ จึงได้ทำความสะอาดและจัดการให้มีความเรียบร้อย ตัววิหารนี้จึงมีสภาพพอที่จะเห็นได้ภายในและพอที่จะเข้าออกได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๙ พระพุทธรูปในพระวิหารนี้ มีองค์กลางที่ยังเหลืออยู่เป็นองค์พระในรูปที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงเป็นแนวเดียวกัน หลังพระพุทธรูปติดฝาผนังพระวิหารและหันพระพักตร์ออกสู่ประตูพระวิหาร พระพุทธรูปทองโบราณองค์นี้ประดิษฐานอยู่ตรงกลางในแนวเดียวกันกับพระพุทธรูปอื่น ๆ ก็เพราะบังเอิญคือรอยกะเทาะของปูนหุ้มที่พระอุระหลุดออกเห็นเนื้อในเป็นทองสีสุกงาม พระพุทธรูปทองโบราณองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างทำตามแบบสุโขทัยยุคกลางซึ่งเป็นฝีมือประติมากรรมที่งดงามอีกสมัยหนึ่ง พระสุขุมธรรมาจารย์จึงดำเนินการเข้าพิทักษ์รักษาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองทัพเรือ

    ครั้นต่อมานางสาวสังวาลย์กับนางสาวเนื่องน้อย ชูโต อยู่ตำบลเจริญพาสน์ กิ่งอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี ได้ศรัทธาสร้างศาลาเทคอนกรีตตรีมุข มีประตูเหล็กขึ้นถวายเพื่อประดิษฐานเป็นที่ปลอดภัยในบริเวณทิศตะวันตกของพระวิหารและให้ชื่อว่า “ศาลาตรีมุข” ส่วนการเคลื่อนย้ายนั้นกองทัพเรือมีผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก หลวงชำนาญอรรถยุทธ ได้รับการขอร้องและได้ถวายการอุปถัมภ์การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปทองโบราณนี้จึงได้ถูกกำหนดและได้ประกอบพิธีอัญเชิญมาจากพระวิหารสู่ศาลาตรีมุข เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๑ เวลา ๐๙.๑๙ เป็นปฐมฤกษ์ โดยผู้บัญชาการทหารเรือได้มาเป็นประธานอำนวยการหลังจากการเคลื่อนย้ายแล้วทางกองทัพเรือได้ส่งช่างไปขัดสีชำระมลทินในส่วนใหญ่ออกแต่ยังคงสภาพรักษาโบราณวัตถุและศิลปกรรมไว้เพื่อประโยชน์การศึกษาในวิชาแขนงนี้ พร้อมกันนี้ทางวัดและกองทัพเรือพร้อมกับท่านผู้ศรัทธาเลื่อมใสทั้งหลาย ได้กำหนดงานสมโภชขึ้น เริ่มแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๑ รวม ๕ วัน ๕ คืน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  3. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์
    สระเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๖ วา ยาวประมาณ ๒๖ วา ลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกส่วนท้ายของวัด แต่ตามพื้นที่เดิมของวัดทั้งหมดแล้วอยู่ตรงกลางติดไปทางตะวันตก

    จางหลวงพรหมาธิบดี (จัน) ผู้เชี่ยวชาญทางประพันธ์และมหาชาติ บ้านอยู่ใกล้วัดนี้และพระครูพิสิษฐ์ธรรมานุรักษ์(อุย) เป็นพระสงฆ์ในวัดนี้ ได้เล่าอานิสงส์และคุณความดีของน้ำมนต์สระนี้นานาประการและส่งผู้พบปะให้อาบเสมอ ในสมัยก่อนนี้บริเวณสระนี้มีศาลาพักด้านเหนือและใต้ มีที่อาบน้ำทำเป็นที่ตักลงรางไหลลงสู่ที่ขังไหลเป็นก๊อกมายังผู้อาบ แต่ต้องระวังลื่นตะไคร่จับหนาแน่นเพราะมีคนอาบไม่ขาด เรียกกันสมัยนั้นว่า “บ่อโพง” ด้านใต้ทางทิศตะวันตกมีศาลาเป็นเรือนไม้กั้น ฝาสามด้านตั้งเครื่องสักการะเต็มกว้างประมาณ ๓ วา หันหน้าเข้าสู่สระธูปเทียนดอกไม้ไม่มีขาด เฉพาะก้านธูปเผาคนไหม้และเป็นที่ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสังฆราชชื่น ซึ่งที่ฐานพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้มีอักษรจารึกว่า รูปสมเด็จพระสังฆราชวัดหงส์ฯ หม่อมเจ้าหญิงกระจ่าง หม่อมเจ้าหญิงชม หม่อมเจ้าสฤษดิ์ ได้พร้อมใจกันหล่อพระรูปเจ้าของสระ จารึกนี้ก็แสดงว่า ความสำคัญของสระนี้เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้อยู่เหมือนกัน
    ต่อมามีผู้ศรัทธาทำการลอกสระน้ำกันครั้งหนึ่ง ผู้เป็นหัวหน้าจัดการ คือ พันตำรวจเอกพระยาธุรการกำจัด ได้ขุดลอกทั่วถึงลึกพอหยั่งถูกก้อนหินที่ลงอาคมกลางสระก็พอดีฝนตกใหญ่ฟ้าคะนอง น้ำเต็มล้นสระผู้ขุดลอกต้องพักและรอโอกาสใหม่ เมื่อฝนหายหยั่งไม่พบหินก่อนนั้นเสียแล้ว ไม่ทราบว่าเคลื่อนที่ไปไหน สระน้ำมนต์นี้ประวัติไม่ปรากฏแน่ชัดเห็นจะมีมานานคู่กับวัดนี้จึงไม่มีผู้ใดจะทรงจำได้เพราะหมดคนรุ่นนั้นไปนานแล้ว แต่ตามสันนิษฐานนั้นพอเล่าได้ดังนี้ ตามหลักฐานของท่านเจ้าคุณรัตนมุนีเล่าว่า มีพระวัดหงส์ฯ นี้รูปหนึ่งไปธุดงค์ ไปพักที่วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดอยุธยา พบกับพระเถรอาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง ถามถึงสระน้ำมนต์นี้แล้วฝากหินกายสิทธิ์ลงอาคมมาแผ่นหนึ่งให้มาใส่ในสระนี้ เมื่อพระวัดหงส์ฯ นี้กลับถึงวัดก็เล่าให้เพื่อนพระเณรฟังและต่างขอดู พอเอาออกจากย่ามมาถึงข้างนอกกลายเป็นก้อนมหึมายกคนเดียวไม่ได้เป็นอัศจรรย์ พระเณรจึงช่วยกันยกไปใส่ไว้ในสระนี้ นี่ประการหนึ่ง อีกหลักฐานหนึ่งว่าดังนี้ สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เสาะสืบหาพระสงฆ์จัดการพระศาสนา พระศรีภูมิปรีชาได้อาราธนาพระอาจารย์ดี วัดประดู่ซึ่งท่านรู้คุณธรรมมากและมีพรรษาอายุเป็นผู้เฒ่ามายังกรุงธนบุรีและได้สถาปนาท่านเป็นพระสังฆราช ตามเรื่องว่า ท่านลงแผ่นหินประกอบพิธีสระน้ำมนต์นี้ อีกหลักฐานหนึ่งว่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้อาราธนาพระอาจารย์สุด วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่วัดพลับท่านได้ลงเวทมนต์ฝังอาคมด้วยพุทธมนต์หลายประการเป็นสี่ทิศเพื่ออาบแก้ทุกข์โศกโรคภัยและอำนวยโชคลาภยศศักดิ์อัครฐานนานาชนิดเข้าไว้ พระอาจารย์สุกองค์นี้ต่อมาได้เป็นพระสังฆราชทรงความรู้สูงและมีคุณธรรมเยี่ยมในเวลานั้น สามารถเรียกไก่ป่ามาให้เชื่องได้ด้วยอำนาจเมตตา เขาว่าเมื่อท่านย้ายวัดข้ามฟากจากวัดพลับไปอยู่ฝั่งพระนครท่านเดินข้ามน้ำไปได้ ทั้งนี้เพราะมีผู้นับถือบูชาท่านต่างนำเรือมาจอดแน่นขนัดยาวยืดแต่วัดพลับถึงฝั่งพระนคร ท่านจึงเดินไปบนเรือนั้นแต่วัดถึงฝั่งพระนครได้เป็นอัศจรรย์ แต่เรื่องปลุกเสกเวทมนต์สระน้ำนี้นั้น เขาเล่าว่า ท่านทำร่วมกับพระอาจารย์ศรี วัดสมอราย ผู้วิเศษขลังอีกองค์หนึ่ง ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าคุณปัญญาวิลาลเถร เรื่องนี้จะยุติประการใดไม่ทราบ
    หมื่นราชพัตถ์ผดุงได้บันทึกหนังสือเป็นใจความว่า ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ท่านฟังว่า จะอาบจะกินต้องคารวะและอธิษฐานขอความสำเร็จแล้วจึงอาบกิน แต่สระน้ำมนต์นี้อำนวยผลให้สัมฤทธิ์ ต่างกันแต่ละมุมสระคือ มุมทางทิศตะวันออก ดีทางเมตตามหานิยม มุมทางทิศใต้ ดีทางหาลาภและค้าขาย
    มุมทางทิศเหนือ ดีทางบำบัดทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ มุมทางทิศตะวันตก ดีทางแคล้วคลาดและอยู่คงกะพันชาตรี
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3916_1a.JPG
      IMG_3916_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      951.2 KB
      เปิดดู:
      1,540
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  4. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3928_1a.JPG
      IMG_3928_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      876.3 KB
      เปิดดู:
      1,673
  5. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]

    พระพุทธรูปบนตำหนักสมเด็จพระสังฆราช
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3932_1a.JPG
      IMG_3932_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.2 MB
      เปิดดู:
      1,548
  6. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3436_1a.JPG
      IMG_3436_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      995.8 KB
      เปิดดู:
      1,380
  7. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ที่วัดหงส์รัตนารามนี้ คณะไหว้พระได้หยุดพักเหนื่อย ทานอาหารกลางวัน ดื่มน้ำเย็นๆ จนพอที่จะมีแรงลงเรือเดินทางไปยังวัดต่อไป...
     
  8. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    วัดที่ ๗ วัดอินทารามวรวิหาร

    วัดอินทาราม เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท ปากคลองบางยี่เรือ ริมคลองบางกอกใหญ่(คลองบางหลวง) แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร(แต่เดิมหน้าวัดอยู่ทางคลองบางกอกใหญ่แต่เมื่อตัดถนนแล้วจึงใช้ทางหลวงเป็นหน้าวัดด้วย)

    วัดอินทารามเป็นวัดสำคัญของสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ที่นับว่าสำคัญน่าชมและศึกษา คือพระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีลแลทรงเจริญกรรมฐาน ประวัติที่น่าศึกษาของวัดนี้คือ เป็นที่ประดิษฐาน(ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ และบรมศพพระอัครมเหสีของพระองค์ ก็ได้ถวายพระเพลิงและบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดนี้ทั้งสองพระองค์

    วัดอินทารามวรวิหารเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดบางยี่เรือนอก” คู่กับวัดราชคฤห์ซึ่งเรียกว่า “วัดบางยี่เรือใน” วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด ปรากฏในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ร่วงโรยมากและเป็นวัดเล็กๆ อย่างบ้านนอกไกลๆ ต่อเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง วัดนี้บังเอิญเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระองค์ จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์อย่างถึงขนาดขยายที่ทางไว้เป็นอันมาก แล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลอย่างใหญ่ๆ หลายครั้ง

    มีเรื่องเล่ากันว่า เดิมพื้นที่ตามริมคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นแขวง(ตำบล) บางยี่เรือในขณะนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นป่าสะแกทึบ แต่ฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ลุ่มมีหญ้าและกกขึ้นอยู่ในน้ำตื้นๆ คล้ายป่าพลุ ถ้าหากมีเรือล่องมาจากลำคลองจะต้องอ้อมคุ้งมองเห็นบริเวณป่าในระยะไกลได้ถนัด ชายป่าริมฝั่งตรงนี้เองได้เป็นชัยภูมิของทหารไทยใช้เป็นซุ่มดักยิงเรือของข้าศึกที่ผ่านออกมาอย่างไม่ระมัดระวัง อาการที่ซุ่มยิงอย่างนี้เรียกว่า“บังยิงเรือ” กลายเป็นชื่อตำบล(แขวง)นั้น ต่อมาเพี้ยนเป็น “บางยิงเรือ” แล้วก็ “บางยี่เรือ” ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงได้ความว่า วัดอินทารามที่เรียกว่าบางยี่เรือนนอก ด้วยเหตุตั้งอยู่ด้านนอกเพราะนับจากเมืองธนบุรีเก่าออกมา หลักฐานเช่นนี้จึงได้รู้ว่าวัดอินทารามได้นามว่า วัดบางยี่เรือนอก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะปรากฏว่าครั้งสมเด็จพระชัยราชา ได้โปรดให้ขุดคลองไปต่อกับคลองบางกอกน้อย ซึ่งส่วนที่ลัดระหว่างคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่ ถูกน้ำเซาะกลางออกไปกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในภายหลังต่อมา
    นอกจากจะเคยเรียกกันว่าวัดบางยี่เรือนอก วัดนี้ยังเคยมีชื่อเรียกกันอีกหลายอย่าง เช่น วัดสวนพลู เพราะครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังอยู่ในพระราชสมบัติ ที่ดินใกล้เคียงวัดอินทาราม มีคนทำเป็นนา เมื่อเลิกจากนากลายเป็นสวนขึ้นแล้วก็มีการทำสวนพลูขึ้น ต่อมาก็เลยเรียกตามสิ่งใกล้เคียงนี้ว่า วัดสวนพลู ปัจจุบันกลายเป็นอย่างอื่นไปหมดแล้ว วัดใต้ ที่เรียกกันติดปากกันมาก็ได้แก่วัดบางยี่เรือใต้ เรียกตามที่ตั้งตัวเมืองเก่า ตัดคำว่า “บางยี่เรือ” ออกเสีย เช่นเดียวกับวัดจันทาราม ซึ่งติดกับวัดนี้อันเคยมีนามเดิมว่าวัดบางยี่เรือกลาง ก็เรียกว่า “วัดกลาง” คำเดียว ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ วัดอินทารามมีชื่อเรียกว่า วัดบางยี่เรือไทย โดยที่มีวัดบางยี่เรือรามัญ เรียกสั้น ๆ ว่า วัดมอญ จึงพากันเรียกวัดนี้ว่าวัดบางยี่เรือไทย วัดนี้มาได้ชื่อว่าวัดอินทารามในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    การก่อสร้างในสมัยกรุงธนบุรี
    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระบรมราชาภิเษกแล้วได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดอินทาราม คือทรงถวายที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นอันมาก ทรงสร้างกุฏิ เสนาสนะสงฆ์ ๑๒๐ หลัง บูรณะพระปฏิมาและพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร ให้บูรณะขึ้นทั่วทั้งพระอาราม ทรงขุดคู ถวายพระไตรปิฏก พระหีบปิดทองคู่หนึ่ง สำหรับเก็บวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน พระกรุณาที่ทรงมีอยู่แก่วัดอินทารามจะมิได้หมดไปเพียงเท่านี้ พระองค์ก็ยังทรงทำให้วัดอินทารามเป็นสิริสถานขึ้นอีก โดยเสด็จมาทรงศีลบำเพ็ญพระกรรมฐานแรมพระตำหนักอยู่ถึง ๕ เวร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ ทรงถวายเรือโขมดยาปิดทองทึบหลังคาบัลลังก์คาดสีสักหลาดเหลือง ๑ ลำ คนพายสิบคน พระราชทานคนพายเหล่านั้นมาเป็นปะขาวอยู่วัด กับยังได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาอยู่ในกุฏิที่ทรงสร้างไว้นั้น เกณฑ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทให้เป็นผู้ปฏิบัติพระทุกรูป ด้วยพระราชหฤทัยทรงนมสิการสักการะพระบวรพุทธศาสนา ปรากฏพระบรมราโชวาทที่ค้นพบในพงศาวดารตอนหนึ่ง ว่า
    “ขอพระผู้เป็นเจ้า จงตั้งสติอารมณ์ ปรนนิบัติตั้งอยู่ในพระจตุปาริสุทธิศีล สังวรวินัยบัญญัติบริบูรณ์ อย่าให้พระศาสนาของพระพุทธองค์เศร้าหมองเลย แม้พระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัย ๔ ประการนั้น เป็นธุระของโยมจะอุปถัมภ์ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว แม้นปรารถนามังสะรุธิระของโยม โยมก็สามารถเชือดเนื้อและโลหิตออกมาบำเพ็ญทานได้” (คำว่ารุธิระหมายถึงโลหิต)
    เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จกลับจากพระราชสงครามที่เมืองสระบุรี ได้โปรดให้สร้างเมรุที่วัดอินทาราม เพื่อถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชชนนีใช้เวลาสร้างอยู่ถึง ๒ เดือน พระเมรุโปรดให้สร้างเป็นมณฑปและมิได้ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจปลูกสร้างเลย โปรดให้รายบุคคลให้ทำกันคนละด้าน คือพระราชสงครามทำด้านเหนือ หลวงศรีกาลสมุดทำด้านใต้ พระราชสุภาวดีทำด้านตะวันออก พระเทพพี่เลี้ยงทำด้านตะวันตก ส่วนพลับพลาโรงทิมพระสงฆ์ และทิมต่าง ๆ โรงไว้สังเฆต โรงฉ้อทาน ร้านน้ำ โรงพิเศษ โรงศาลาลูกขุน สามช่าง ชื่อขวาง เฉวียงขวาง ระทาใหญ่ ราชวัตรทึบ ราชวัตรเลว และฉัตรเบญจรงค์ ได้เกณฑ์กรมกองต่างๆ คือ กรมกลาโหม กรมวัง กรมมหาดไทย กรมนครบาล กรมพระคลัง กรมคลังพิเศษ กรมคลังหลวง กรมคลังนา คลังในซ้าย คลังในขวา กรมเมือง กรมแพ่ง กรมแพ่งกลาง กรมแพ่งเกษม กรมท่า กรมอาสาหกเหล่า สนม ทหาร พลเรือน อาสาเดโช อาสาท้ายน้ำ เป็นผู้จัดทำ
    เครื่องประกอบที่กรมกองทั้งหลายได้ทำสำหรับประกอบในงานพระเมรุที่วัดอินทาราม คราวนี้ มีราชวัตรทึบ ๑๔๕ ราชวัตรเลว ๔๕ ราชวัตร ฉัตรเบญจรงค์ ๒๐ ฉัตร ทาระใหญ่ ๑๒ ระทา ร้านน้ำ ๓๒ ร้าน สามช่าง ชื่อขวาง เฉวียงขวาง ๔ ทิศ ยาวข้างละ ๕ เส้น ๑๒ วา ทิมพระสงฆ์ ๖ ทิม โรงพิเศษ ๑ โรง โรงศาลาลูกขุน ๑ โรง โรงโขนระหว่างช่องระทา ๑๔ โรง โรงเทพทอง ๒ โรง โรงไว้สังเฆต ๒ โรง ห่างจากราชวัตรทึบออกไปเป็นที่ตั้งดอกไม้เพลิง ๒ เส้น ๑๕ วา
    ฝ่ายราษฎรนั้น กรมมหาดไทยได้เกณฑ์ให้ช่วยกันตั้งราชวัตรกระดาษ (ฉัตร) เรียงรายตามทาง กรมมหาดไทยได้เกณฑ์ไปฝึกซ้อมเครื่องเล่นมหรสพไว้นำมาแสดงทำดอกไม้เพลิง และคนที่สำหรับถือดอกบัวคู่ตามกระบวนแห่ให้สมทบกับราชการกรมสนมที่ทำเครื่องสูง แห่งระพรหมนำข้างขวา พระอินทร์แห่นำข้างซ้าย ซึ่งมีเสมียนกรมวังเข้าสมทบด้วย
    เมื่อได้สร้างพระเมรุเสร็จแล้ว ก็โปรดให้ชักพระศพมาสู่วัดอินทาราม ณ วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม พุทธศักราช ๓๒๑๘ รุ่งขึ้นอีก ๒ วัน ก็ได้ถวายพระเพลิงคือ วันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ค่ำนั้น รวมเป็นเวลาประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงคราวนี้ ๓ วัน ๓ คืน มีการละเล่นมหรสพต่าง ๆ กัน คือ กลางคืนมีโขน ๒ โรง โรงงิ้ว ๓ โรง เทพทอง ๒ โรง รำหญิง ๔ โรง หนังกลางวัน ๒ โรง หุ่นญวน ๑ โรง หุ่นลาว ๒ โรง กลางคืน หนังใหญ่ ๓ โรง หนังใหญ่ระหว่างช่องระทา ๑๐ โรง หนังจีน ๒ โรง จัดดอกไม้เพลิงถวายพระบรมศพทั้ง ๓ คืน ซึ่งรวมดอกไม้เพลิงที่จุด ๓ คืน ดอกไม้ระทา ๔๘ ระทา ไฟพะเนียง ๒๐๐ กระบอก เสือลากหาง ๑๒ สาย เพลิงพร้อม ๓ สิงห์โตไฟ ๙ ตัว ม้าไฟ ๑๐ ตัว ดอกไม้เพลิงชนิดกระถาง ๑๓ กระถาง ขึ้นคลีม้า ๑๑ ม้า
    ในการประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพพระราชนนีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งนี้ ยังหาจุพระทัยของพระองค์ไม่ เนื่องจากเกิดศึกพม่าอะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลก ถ้าจะทรงทำพระเมรุดีจริง ๆ ก็เสียเวลานาน แม้ยอดพระเมรุก็ยังใช้กระดาษน้ำตระกูดแผง เอาแทนแผ่นดีบุก อนึ่งยังเป็นเวลาชุกฟ้าชุกฝนด้วย ในระหว่างงานฝนจึงตกเปียกดอกไม้เพลิงต่าง ๆ จุดไม่ติดเสียเป็นอันมาก จึงทรงปรึกษากับพวกลูกขุนว่าจะเห็นควรตัดค่าบำเหน็จดอกไม้เพลิงครั้งนี้เสียบ้างหรือไม่ พวกลูกขุนก็ทูลว่าควรลด เพราะดินปืนของที่ทำก็เป็นของหลวง จึงได้ทรงลดเงินค่าบำเหน็จค่าดอกไม้เพลิง และได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อบ้านเมืองสงบศึกเรียบร้อยแล้วจะถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชนนีอีกให้สมกับเป็นผู้มีพระคุณอย่างล้นเหลือ
    พุทธศักราช ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้จัดงานถวายพระราชกุศลแด่พระบรมอัฐิพระราชนนีอีกตามที่ได้ทรงพระราชดำริไว้ ในงานบำเพ็ญราชกุศลคราวนี้ทรงบำเพ็ญเป็นงานใหญ่เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลฉลองพระเกียรติของสมเด็จพระราชนนีนาถ ได้เกณฑ์กรมทหารเมืองมาช่วยด้วย เมืองภาคเหนือมีเมืองลพบุรี เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย ส่วนเมืองภาคอื่นมีเมืองชัยนาท เมืองสิงห์บุรี เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์บุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และเมืองสุพรรณบุรี ได้กรมการเมืองเหล่านี้มาช่วยกันกับทางวัดทำสะพานทำพลับพลาและปลูกโรงทิมต่าง ๆ สำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิ นี่คือข้าราชการหัวเมืองต่าง ๆ ต้องทำงานที่วัดอินทารามนี้ งานนี้ได้ใช้หัวหน้าที่สำคัญทั้งในกรุงและนอกกรุง มีเจ้าพระยา ๒ พระยา ๘ คน พระ ๖ คน หลวง ๘ คน ขุน ๑๑ คน หมื่น ๘ คน และได้แยกย้ายไปเกณฑ์คนทำงานต่าง ๆ คือ ช่างทำบุษบกร้านม้า ๕๒ คน คนหามเสลี่ยงงา ๗ คน คนทำเครื่องสูง ๑๘ คน ชาวภูษาช่วยอีก ๒ คน คนทำทิมและงานเบ็ดเตล็ด ๑,๒๓๒ คน กรมกลาโหมเกณฑ์กันทำ ๕๖๒ กรมอาสาหกเหล่าทำทิมสงฆ์ ๖๓ คน กรมตำรวจปลูกพลับพลา ๓๐๓ คน พวกสรมทูลข้าละอองคอยถวายข้าวห่อแก่พระสงฆ์ ๒๓๒ คน กรมสัสดีทำทิมประดิษฐานพระบรมอัฐิ ๑๙๙ คน กรมนครบาลเกณฑ์กันสร้างสะพาน ๑๐๕ คน มหาดไทยเกณฑ์คนถางหญ้าหน้าวัด ๒๘๗ คน ชายพายเรือขบวนแห่ ๑,๔๓๙ คน หญิงพายเรือมังกุขบวนแห่ ๑๕๖ คน ชายคอยทำการขบวนแห่ ๑,๒๓๒ คน กรมต่าง ๆ ทำราชวัตรและฉัตรใหญ่ ๖๐ คน มหาดเล็กรักษาเครื่องนมัสการ ๑๔ คน ตำรวจ ๔ คน จุดประโคมไฟ ๔ ทิศ รวมคนที่ทำการพระราชกุศลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่วัดอินทารามครั้งนี้ เฉพาะที่จดหมายเหตุเอาไว้นั้น ๖,๐๐๐ คนเศษ งานบำเพ็ญพระราชสักการะพระบรมอัฐิกรมพระพิทักษ์เทพามาตย์ ณ วันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก พุทธศักราช ๒๓๑๙
    ที่ได้นำเรื่องราวงานถวายพระเพลิงและพระบรมอัฐิของสมเด็จกรมพระพิทักษ์เทพามาตย์มากล่าว ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าวัดอินทารามเมื่อก่อนน่าสนุกครึกครื้นเพียงใด ที่ได้มีมหรสพต่างๆ พร้อมกันในเวลาเดียวกันถึง ๒๐ กว่าโรง และต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้พระราชทานเพลิงเจ้านายและคนสำคัญๆ ที่รู้จักกันดีในพงศาวดารอีกหลายท่าน ซึ่งทุกๆ ครั้งย่อมกระทำเป็นทางราชการอย่างใหญ่ ที่ต้องประดับไปด้วยราชวัตร ฉัตรเงิน ฉัตรทอง มีการเล่น เต้นรำ แห่และจุดดอกไม้เพลิงนานาชนิดดังที่ปรากฏพระราชทานเพลิงโดยต่อมา คือ
    ๑. เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก พุทธศักราช ๒๓๑๙ งานพระราชทานเพลิงพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ ได้ทำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน
    ๒. เมื่อวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก พุทธศักราช ๒๓๑๙ งานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้านราสุริวงษ์ ได้ทำอยู่ ๓ วัน ๓ คืน
    ๓. เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๒๐ งานพระราชทานเพลิงพระศพพระหม่อมเจ้าเส็ง พระยาสุโขทัย พระยาพิชัยไอยสวรรค์
    ๔. เมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด พุทธศักราช ๒๓๒๓ งานพระศพมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์(เจ้าฟ้าเหม็น), พระราชบิดาในรัชกาลที่ ๑ แต่พระราชพิธีคงได้ลดกันตามยศ เช่น คราวพระเมรุพระศพขุนอินทรพิทักษ์ ก็ได้ทำยกพื้นเป็นภูเขา ๓ ชั้นขึ้นไปปักเครื่องสูงตามมุมทั้ง ๔ ทิศจนถึงแว่นฟ้าตั้งโกศ มีราชวัตรทึบ ราชวัตรเลว ดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ในจดหมายเหตุความจำของกรมหลวงนรินทรเทวี(เจ้าครอกโพธิ์) ว่าแบบแปลนพระเมรุคราวนี้ คงทำเหมือนพระเมรุกรมหมื่นวิษณุนารถเป็นจตุรมุข ไม่มียอดเหมือนรัชกาลที่ ๔
    เพื่อให้เห็นสถิติความสนุกสนานของวัดอินทารามในยุคนั้น จึงรวมสถิติคร่าว ๆ มาให้ดูไว้ด้วยมีงาน ๗ คราว มีมหรสพแสดง ๒๙ วัน (ไม่ได้รวมเวลาที่เตรียมและก่อสร้างโรงพระราชพิธี) กลางวันมีโขนโรงใหญ่และธรรมดา ๙๔ โรง เทพทอง ๙ โรง งิ้วโรงใหญ่และธรรมดา ๒๒ โรง หนังกลางวัน ๒๕ โรง รำหญิง ๓๑ โรง ละครเขมร ๕ โรง คนต่อเท้า ๑๒ ญวนหก ๓๗ หุ่นลาว ๒๔ หุ่นมอญ ๒๘ รามัญเก่า ๑๖ รามัญใหม่ ๒๐ กลางคืนหนังไทยโรงใหญ่และหนังไทยต่าง ๆ ๗๕ หนังจีน ๒๕ มหรสพที่มีน้อยในเวลากลางคืนก็เพราะใช้จุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ แทนกันเสีย รวมมีงาน ๗ ครั้ง มีการละเล่น ๕๒๒ ราย วิธีคิดคือ เช่นกลางวันมีงิ้ว ๕ โรง ๆ ละ ๓ วันก็คิดเป็น ๑๕ ราย
    สมัยรัตนโกสินทร์ ฯ
    พุทธศักราช ๒๓๒๕ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคต ได้นำพระบรมศพมาประดิษฐาน(ฝัง) ไว้ ณ วัดนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็ยังทรงรับวัดอินทารามเป็นพระอารามหลวงอยู่อีก ในเรื่องพระราชาคณะที่ปกครองวัดอินทารามมาแต่ก่อน ถ้าจะนึกถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ดูว่าวัดอินทารามออกจะมีเกียรติที่ดีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่เคยมีพระราชาคณะมากกว่าวัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชในเวลานั้น เรื่องนั้นจะรู้ได้ก็คราวอสุนีบาตตกที่ปราสาทเบื้องอุดรเกิดไฟไหม้ขึ้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงอาราธนาพระราชาคณะทุกๆ องค์ และทุกๆ วัดไปวินิจฉัย ได้ปรากฏว่าวัดระฆังมีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง และพระราชาคณะธรรมดาองค์หนึ่ง ส่วนวัดอินทารามมีพระราชาคณะ ๓ องค์ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์(เป้า) พระธรรมมุนี และพระราชมุนี มีพระราชาคณะที่มากกว่าวัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชพระราช ๑ องค์ มีเรื่องกล่าวไว้ในลัทธิธรรมเนียมภาคที่ ๑ ว่า พระองค์ได้เคยทรงเสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปีมะแม วันอาทิตย์แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธศักราช ๒๓๓๐ ครั้งหลังเมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๓๓๒ จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อๆ มาทุกรัชกาลจนถึงรัชกาลที่ ๗ ได้เสร็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินอย่างน้อยรัชกาลละครั้ง แต่คงมิได้ปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมหรือการสร้างขึ้นใหม่เพิ่มเติม ได้พยายามค้นจากตำนานวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวสถาปนาก็ยังไม่มีการปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานเหตุการณ์จากสิ่งสลักหักพังร่วงโรยไปมากนั้น พอจะได้วัตถุสถานเป็นทางลงวินิจวิจัยได้ว่า วัดอินทารามคงได้ขาดการปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๓ หากจะมีการปฏิสังขรณ์ขึ้นบ้างแล้ว ก็คงจะเป็นบางส่วนและส่วนน้อยเท่านั้น
    ถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ วัดอินทารามซึ่งได้เสื่อมสลักหักพังไปเพราะขาดผู้ทำนุบำรุงก็ได้ผู้ศรัทธาปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่มีศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดอินทารามขึ้นใหม่ครั้งนี้ ได้แก่ พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นตระกูลศรีเพ็ญ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้มิได้ทำกันเพียงสิ่งใดปรักหักพังก็ใช้ซ่อมแซมหรือปรับปรุงโยกย้ายของเก่ามาเป็นของใหม่เท่านั้น แต่พระยาศรีสหเทพได้ปลูกสร้างถาวรวัตถุเสนาสนะขึ้นใหม่ ตั้งแต่พระอุโบสถอันเป็นสิ่งใหญ่ลงไปจนถึงสิ่งเล็กน้อยเสร็จเรียบร้อยแล้วทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นพระอารามหลวงอีกครั้งหนึ่ง พระองค์พระราชทานนามไว้ว่า วัดอินทาราม เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารจึงได้เรียกว่าวัดอินทารามสืบมาทุก ๆ วันนี้
    สมัยรัชกาลที่ ๕ ปูชนียสถานและเสนาสนะในวัดทรุดโทรมมาก พระอุโบสถที่พระยาศรีสหเทพได้สร้างขึ้นใหม่ก็ทรุดโทรม พระเณรร่วงโรยมีจำพรรษาไม่ค่อยถึง ๑๐ รูป ทางราชการจึงอารธนาให้พระทักษิณคณิสรย้ายจากวัดโพธินิมิตมาปกครองวัดนี้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ นับตั้งแต่พระทักษิณคณิสรมาปกครองวัดนี้แล้ว ท่านได้เอาใจใส่พยายามทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่าซึ่งทรุดโทรมลงเหลือแต่ผนังแค่ฐานปัทม์เท่านั้น ทั้งยังได้สร้างกุฏิตึก กุฏิไม้ โรงเรียนปริยัติธรรม ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างถนน กำแพง สระน้ำ ในยุคนี้นับว่ามีถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างเจริญขึ้น ทั้งนี้ย่อมจะกล่าวได้ว่า สรรพวัตถุที่งอกงามขึ้นมาในสมัยปัจจุบันนี้ ด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระทักษิณคณิสรตลอดเวลาที่มาปกครองวัดนี้ ๓๔ ปี
    นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นมา พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระวิเชียรมุนีได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดอินทารามสืบต่อจากท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อน ได้ทำการปฏิสังขรณ์เสนาสนะ จัดการศึกษา จัดการปกครองให้เป็นไปด้วยดี จำเริญรอยตามท่านเจ้าคุณพระทักษิณคณิสรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์สืบต่อมาจนถึงการบัดนี้
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3480_1a.JPG
      IMG_3480_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.1 MB
      เปิดดู:
      2,617
  9. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    สิ่งที่น่าสนใจในวัดอินทาราม

    พระประธานในพระอุโบสถใหม่
    เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต ๓ นิ้วครึ่ง มีนามว่าพระพุทธชินวร ตามหลักฐานว่ามีพ่อค้าซุงทางเหนือ ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ล่องมากับซุง พอดีกับพระยาศรีสหเทพได้บูรณะวัดอินทารามขึ้นใหม่ จึงได้ติดต่อขอซื้อจากพ่อค้าซุงมาไว้เป็นพระประธานที่พระอุโบสถใหม่ ที่พระยาศรีสหเทพได้สร้างขึ้น
     
  10. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    เป็นพระพุทธรูปปางตรัสรู้ หน้าตักกว้าง ๔ ฟุต ๘ นิ้วครึ่ง เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถเก่า และเป็นที่บรรจุพระบรมสรีรังคารของพระองค์ การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ได้จดหมายเหตุไว้ในประชุมพงศาวดารภาค ๖๕ หน้า๘๕ ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ดังนี้ แล้วตรัสประภาษถึงพระกรรมฐานว่า พระนาภีของพระองค์นั้นแข็งไป กระแหนบมิเข้าผิดกับสามัญโลกทั้งปวง อัศจรรย์นี้ต้องด้วยในพระบาลีกรรมฐาน แล้วตรัสถามพระราชาคณะด้วยพระรูปลักษณะทรงฉายเป็นปริมณฑลนี้ จะต้องพระบาลีว่าอย่างไร พระราชาคณะถวายพระพรว่า พระบาลีลักษณะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระรูปเปรียบประดุจต้นไทร มิได้สูงต่ำ มิได้ยาวสั้น มีพระลักษณะหนา ๗ ประการ คือ พระกรขวา ๑ ซ้าย ๑ พระอังษาขวา ๑ ซ้าย ๑ พระอุระ ๑ รวมเป็น ๗ ประการด้วยกัน จึงพระกรุณาให้หล่อพระพุธรูปซึ่งต้องด้วยพระพุทธลักษณะ ให้พระสังฆราชเอาพระบาลีออกมากางให้ช่างทำ อนึ่ง พระสังฆราชแปลพระบาลีพระพุทธลักษณะถวายพระลักษณะใหญ่ ๓๒ ประการ พระลักษณะอย่างน้อย ๘๐ ประการ จึงดูในพระองค์ต้องด้วยพระพุทธลักษณะคือ สูงเท่าวาพระองค์สิ่งหนึ่ง มีเส้นพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงอยู่เส้นหนึ่ง พระนาภีเรียวยาวเป็นทักษิณาวัตร พระปฤษฎางค์ใหญ่หนึ่ง ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาท พระพาหา พระอุระ หนาทั้ง ๗ ประการ ก็ต้องด้วยพระพุทธลักษณะทั้ง ๗ สิ่ง และพระปรางค์หนาอิ่มเป็นปริมาณหนึ่ง เมื่ออ่านพระบาลีและชันสูตรพระองค์ไปด้วยทุกประการ ก็ต้องด้วยพระพุทธลักษณะ ๑๒ สิ่ง ที่ไม่ต้องก็ทรงบอกไม่ต้อง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3498_1a.JPG
      IMG_3498_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      825.6 KB
      เปิดดู:
      2,418
  11. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้วครึ่งประดิษฐานในพระวิหารเล็กข้างพระอุโบสถเก่า หรือพระวิหารพระเจ้ากรุงธนบุรี


    ประพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๓ ฟุต ๒ นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่บนหอสวดมนต์ชั้นบน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3486_1a.JPG
      IMG_3486_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.1 MB
      เปิดดู:
      2,362
  12. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3493_1a.JPG
      IMG_3493_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      887.2 KB
      เปิดดู:
      1,232
  13. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระเจดีย์กู้ชาติ
    คือ พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยอดบัวกลุ่มคู่กับพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งมียอดเป็นปล้องไฉน ทั้งสององค์นี้ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถเก่า.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3978_1a.JPG
      IMG_3978_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      639.2 KB
      เปิดดู:
      1,731
  14. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระอุโบสถเก่าที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ไว้
    แต่ก่อนไม่มีหน้าต่าง ท่านเจ้าคุณพระทักษิณคณิศร ได้เจาะเปิดผนังทำหน้าต่าง เมื่อท่านมาอยู่พระพุทธรูปในพระอุโบสถเดิมพระเศียรหักพังหลุดไปเป็นส่วนมาก คุณนายเลียบ มารดาท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) ได้ถวายเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท ปฏิสังขรณ์ขึ้นกับพระวิหารไว้พระแท่นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และกำแพงรวมทั้งสองหลังพระอุโบสถเดิมเดี๋ยวนี้ใช้เป็นพระวิหาร ประดิษฐานพระรูปฉลองสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี บนหลังคาและหน้าบรรณประดับเครื่องลายคราม
     
  15. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระวิหารไว้พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบรมรูปจำลองแบบทรงพระกรรมฐาน
    นายต่าง บุญยมานพ ได้จ้างช่างปั้นตู้กระจกครอบกับพระแท่น ท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศร ได้ช่วยออกสมทบทุนห่างจากเขื่อนริมคลองบางกอกใหญ่มา ๔๐ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ได้ซ่อมแซมขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยคุณนายขันทองบริจาคให้ ๑๕๐ บาท และนายต่าง บุญมานพได้ปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปพระศอหักขึ้นอีกเป็นเงิน ๑๐๐ บาท ภายในวิหารประดิษฐานพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งพระองค์เคยใช้เป็นที่ประทับแรมทรงธรรมและกรรมฐาน เป็นไม้กระดาน ๒ แผ่น กว้างแผ่นละ ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๒ เมตร ๔๘ เซนติเมตร กว้าง ๑ เมตร ๗๖ เซนติเมตร มีลูกกรงงา ๑๑๒ อัน (หลุดหายไปเสีย ๔ อัน) กับแผ่นสลักลายงาวิจิตรด้วยดอกไม้คั่นอยู่ภายในลูกกรงงา มี ๓๐ แผ่น (หลุดหายไปเสีย ๔ แผ่น) ที่สุดของลูกกรงงามีหัวเม็ดและโคนรวมเป็นงารวม ๖ อันหายไป ๓ อัน มีเสาสำหรับพระวิสูตร ๔ เสา ๒ เสา หน้าพระแท่นที่แผ่นงาสลักลายวิจิตรประกอบเสาเบื้องบนทั้งซ้ายขวาดังรวงผึ้งรวม ๔ เสา หายไป ๒ แผ่น แต่ก่อนพระบรมรูปจำลองเท่าพระองค์จริงในแบบทรงพระกรรมฐานอยู่บนพระแท่น ในปี ๒๕๐๙ ทางวัดได้ย้ายออกมาจากพระแท่นไปไว้อีกข้างหนึ่งโดยทำที่ประดิษฐานใหม่อย่างสวยงาม วิหารนี้เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าชมและถวายสักการะได้ทุกวัน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3491_1a.JPG
      IMG_3491_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      990.4 KB
      เปิดดู:
      3,898
  16. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    เก๋งจีนทั้งซ้ายขวา ตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถใหม่ พระยาศรีสหเทพเป็นผู้สร้าง ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางวัดได้จัดซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยทั้งสองหลัง

    วิหารคตซ้าย มีพระพุทธรูปขนาดเท่ากับปางมารวิชัย ๑๐ องค์ และปางลิไลยก์ก็ใหญ่หน่อย ๑ องค์ ตัววิหารชำรุด ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถใหม่ พระยาศรีสหเทพเป็นผู้สร้าง

    วิหารคตขวาได้ชำรุดปรักหักพังมาก มีพระประธาน ๑๑ องค์ พระยาศรีสหเทพเป็นผู้สร้าง ขณะนั้นพังลงมาทั้งหลัง พระพุทธรูปทั้งหมดสร้างด้วยปูนชำรุดเสียหายหมด ทางวัดมีโครงการจะสร้างให้เหมือนเดิมอยู่

    ศาลาการเปรียญใหญ่ อยู่ซ้ายพระอุโบสถใหม่มองดูเหมือนวิหารพระยาศรีสหเทพสร้างไว้ มีพระประธานหน้าตัก กว้าง ๓ ศอกเศษ ๑ องค์ บนผนังวิหารทำเป็นช่องเสมารอบวิหารทั้ง ๔ ทิศ สำหรับไว้พระพุทธรูปรวม ๑๔๘ ช่อง เวลานี้ไม่ได้ใช้เป็นของร้าง ด้านหน้าด้านซ้ายได้ร้าวออกยาว ชำรุดมาก

    พระวิหารอยู่หน้าพระอุโบสถข้างขวา เป็นของพระยาศรีสหเทพสร้างลักษณะของพระวิหารทำกำแพงสองชั้น ชั้นนอกมีประตูและหน้าต่างเหมือนวิหารธรรมดา ส่วนวิหารชั้นในประตูเขียนลงทองลายรดน้ำเป็นนิยายเรื่องนารีผล ลวดลายยังพอมองเห็นได้ ภายในพระวิหารชั้นในก่อแท่นสำหรับไว้ตู้พระไตรปิฎกทั้งสองด้านและตู้พระไตรปิฎกก็ยังมีทั้งสองตู้ ภายนอกปิดทองทั้งหมดขนาดตู้ใหญ่มาก ตู้หนึ่งสูง ๒ เมตร ๕๕ เซนติเมตร ด้านล่าง ๑ เมตร ๓๔ เซนติเมตร ด้านข้างกว้าง ๖ เมตร ๓๐ เซนติเมตร และอีกตู้หนึ่งสูง ๓ เมตร แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๑ เมตร ๒๖ เซนติเมตร มีพระประธานขนาดหน้าตัก ๒ ศอกเศษ อยู่หน้าตู้พระไตรปิฎก ข้างซ้ายมีพระปางห้ามญาติองค์หนึ่ง และพระปางห้ามสมุทรองค์หนึ่ง ผนังมีช่องเสมาไว้พระพุทธรูปสูงขนาด ๑ ฟุต รวม ๒๒๑ ช่อง
     
  17. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระอุโบสถใหม่

    เป็นพระยาศรีสหเทพสร้างได้สร้างพระอุโบสถจากบริเวณที่ประดิษฐาน(ฝัง) พระบรมศพของพระเจ้ากรุงธนบุรี ห่างจากเขื่อนริมคลองบางกอกใหญ่ ๙๐ เมตร ตัวพระอุโบสถกว้าง๑๙ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ภายในพระอุโบสถ มีพระประธานตักกว้าง ๑๐ ฟุต ๓ นิ้ว ครึ่ง เสาพระอุโบสถและฝาผนังเขียนเป็นลายดอกไม้ เมื่อก่อนนั้นหลังคาพระอุโบสถรั่วมากน้ำไหลถูกภาพเขียนเลอะเลือนหมด มีสภาพดีเป็นบางตอน เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทางวัดได้เขียนซ่อมแซมใหม่ ด้านหลังของประตูเป็นรูปเซี่ยวกางทั้ง ๔ ช่องและด้านหลังของหน้าต่างเป็นเทพพระยารักษ์ทั้ง ๑๐ ช่อง หน้าพระอุโบสถมีเตียงใหญ่เป็นไม้กระดานแผ่นเดียว ยาว ๖ เมตร ๕๗ เซนติเมตร กว้าง ๑ เมตร ๑๒ เซนติเมตร หนา ๙ เซนติเมตร เดิมใช้เป็นที่ตักบาตรของสงฆ์อยู่ในศาลาการเปรียญข้างพระอุโบสถ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3934_1a.JPG
      IMG_3934_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      820.6 KB
      เปิดดู:
      1,316
  18. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    แท่นองค์พระเจดีย์ ๓ องค์

    สิ่งนี้ยังเหลือเป็นอนุสรณ์ของพระยาศรีสหเทพ มีกุฏิพุทธอนุสรณ์ รวม ๔ กุฏิ กุฏิหัวและท้ายประดิษฐานพระปางไสยาสน์ขนาดเท่าพระพุทธองค์ ยาว ๔ เมตร ๔๘ เซนติเมตร ส่วนอีก ๒ กุฏิ มีพระแท่นพระพุทธบาทกุฏิหนึ่ง และอีกกุฏิหนึ่งเป็นรูปหีบพระศพพระพุทธองค์ ขณะยื่นพระบาทออกมาให้พระมหากัสสปะได้นมัสการ และมีเจดีย์ ๓ องค์ คั่นอยู่ระหว่างกุฏิ องค์กลางรอบฐานทำเป็นรูปรามเกียรติ์
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3935_1a.JPG
      IMG_3935_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      599.2 KB
      เปิดดู:
      1,399
  19. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3947_1a.JPG
      IMG_3947_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      915 KB
      เปิดดู:
      1,267
  20. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_3948_1a.JPG
      IMG_3948_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      768.3 KB
      เปิดดู:
      1,279

แชร์หน้านี้

Loading...