เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 มิถุนายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,583
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,383
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,583
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,383
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนเวลาประมาณตี ๒ ครึ่งของที่นี่ ณ โรงแรม Mayfair Hotels & Resorts เมืองกาลิมปง รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย

    วันนี้พวกเราแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าหากว่าตามโปรแกรมก็คือ พยายามเดินทางกลับไปให้ถึงเมืองบักโดกรา เพื่อที่จะได้เช็คอินขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย ซึ่งระยะทางนั้นจะ โหด มัน ฮา ขนาดไหน ท่านทั้งหลายก็จะได้พบได้เห็นต่อไปในเว็บไซต์วัดท่าขนุน หรือว่าเฟซบุ๊กวัดท่าขนุน

    เมื่อวานนี้พวกเราทั้งหลายเมื่อรับประทานอาหารเช้ากันเรียบร้อยแล้ว โดยที่ก่อนจะได้รับประทาน ก็ต้องไปนั่งกดดันกันเป็นการใหญ่ เนื่องเพราะว่าทางด้านนี้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเขารับประทานอาหารกันแค่ ๒ มื้อ ดังนั้น...มื้อเช้าของเขาจึงสายมาก ประมาณ ๘ โมงหรือ ๘ โมงครึ่งของทางนี้ ซึ่งก็ตกประมาณ ๙ โมงครึ่งหรือว่า ๑๐ โมงของบ้านเรา หลังจากนั้นมื้อกลางวันก็จะเป็นบ่าย ๒ โมงของที่นี่ ก็คือบ่าย ๓ โมงครึ่งของบ้านเรา

    เมื่อพวกเราผิดเวลา ขอให้ห้องอาหารเปิดตอน ๗ โมงเช้า เพื่อที่เราจะได้ไปเที่ยวตามโปรแกรมของเราให้ครบถ้วน ทางด้านโรงแรมจึงไม่สามารถที่จะบังคับให้คนของเขาเข้ามาทำหน้าที่ก่อนเวลาได้ กว่าที่พวกเราจะได้รับประทานอาหาร ก็ต้องลงไปนั่งคุยกันที่ห้องอาหารอยู่พักใหญ่

    คุณเอ (ฉัตตริน เพียรธรรม) หัวหน้าคณะทัวร์จากบริษัทเอ็นซีทัวร์นั้น เป็นคนให้คำแนะนำเองว่า ถ้าเราไม่ไปนั่งกดดัน เขาก็จะไม่ทำให้เรา ถ้าเราไปนั่งกดดัน อาหารต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ทยอยมาเอง

    เมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ได้เดินทางออกจากเมืองกังต็อก เพื่อไปยังเมืองกาลิมปง ซึ่งเมืองกาลิมปงนั้นอยู่ในเขตรัฐเบงกอลตะวันตกของประเทศอินเดียแล้ว ไม่ใช่เมืองกังต็อก ซึ่งอยู่ในเขตนครรัฐสิกขิม

    ตอนแรกกระผม/อาตมภาพยังเข้าใจว่าเมืองกาลิมปงนั้นอยู่ในเขตนครรัฐสิกขิมอยู่เลย จนกระทั่งคุณเอได้อธิบายขยายความให้ฟังว่า เราจำเป็นที่จะต้องเดินทางย้อนกลับไปขึ้นเครื่องบินที่เมืองบักโดกรา จึงพยายามหาเส้นทาง หาเมืองที่มาชดเชยโปรแกรมที่เมืองลาชุงซึ่งเราไม่ได้ไป ให้เส้นทางนั้นอยู่ในระยะของขากลับ หรือว่าใกล้เคียงขากลับให้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้วิ่งไปยังเมืองบักโดกรา ขึ้นเครื่องบินได้ทันตามเวลา

    คราวนี้เส้นทางนั้น เมื่อวิ่งไประยะหนึ่ง กระผม/อาตมภาพก็หันไปถามคุณเอว่า "นี่เรากำลังวิ่งกลับไปเมืองซิงตัมใช่ไหม ?" ซึ่งเมื่อเห็นพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. ทำหน้าสงสัย กระผม/อาตมภาพก็บอกว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม กระผม/อาตมภาพสามารถจำทางได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าไปครั้งที่ ๒ ก็จำได้เกือบจะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะเอาแน่นอนขอไปสัก ๓ ครั้ง ก็จะสามารถเป็นมัคคุเทศก์นำทางให้เลย พูดยังไม่ทันจะขาดคำ ป้ายชี้ทางว่า "เมืองซิงตัม" ก็ปรากฏขึ้นให้เห็น
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,583
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,383
    คราวนี้การเดินทางนั้นเป็นการเดินทางย้อนกลับ ซึ่งครั้งก่อนเรามาตอนกลางคืน และรถคันที่กระผม/อาตมภาพนั่งอยู่นั้น ต้องพยายามเร่งเครื่องหลบหินถล่ม ซึ่งเกือบจะไปเสียบตูดรถสิบล้อคันข้างหน้า..! ปรากฏว่ามาถึงวันนี้นั้นเขาก็ยังเคลียร์หินถล่มไม่หมด ทำให้รถยนต์ติดนิ่งอยู่นานมาก ๆ ซึ่งแต่ละช่วงเวลานั้นติดถึง ๑๐ กว่า ๒๐ นาที กว่าที่เราจะผ่านออกไปได้ ก็ใช้เวลาถึง ๔๐ นาทีเศษ แต่ว่ายังดีกว่ารถซึ่งวิ่งสวนเราไปนั้น ติดยาวหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว..!

    เมื่อพวกเรามาเสียเวลาชักช้า จึงต้องเข้าไปรับประทานอาหารกันที่ในเมืองซิงตัม เข้าร้านกันตั้งแต่ประมาณ ๑๐ โมงครึ่งของที่นี่ เพื่อเปิดโอกาสให้นายสุเรศวร์ ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์พื้นเมืองนั้น ไปประทับตราหนังสือเดินทางเพื่อกลับเข้าเมือง

    ร้านที่เราเข้าไปนั่งนั้น ถ้าหากว่าดูจากทางเข้าแล้วก็ไม่น่าที่จะมีอะไรเลย เพราะว่าเป็นช่องทางแคบ ๆ เล็ก ๆ เตี้ย ๆ ให้มุดเข้าไปแบบทางหมาลอด ร้านนี้ชื่อว่า Green & Organic Sikkim แต่เมื่อเข้าไปภายในแล้ว ปรากฏว่าใหญ่โตกว้างขวางน่าดู มีกระทั่งห้องพิเศษสำหรับแขกที่นิยมความเป็นส่วนตัว มีกระทั่งเวทีดนตรี และที่แน่นอนที่สุดก็คือ ทางด้านหลังได้จัดเอาไว้เป็นที่สูบบุหรี่ของบรรดาสิงห์อมควันโดยเฉพาะด้วย

    แม้ว่าพวกเราจะรออาหารกันอยู่นานหน่อย แต่กระผม/อาตมภาพก็ได้สำรวจสถานที่เรียบร้อยไปแล้ว แค่ที่ตาเห็นนั้น เขามีกล้องวงจรปิดอยู่ถึง ๔ ตัว โดยเฉพาะมีระบบเลเซอร์ที่สำหรับถ่ายภาพตอนกลางคืนด้วย

    ส่วนห้องน้ำนั้นมีการแบ่งชนชั้น ด้านหนึ่งเขียนว่า Indian คือสำหรับคนอินเดีย อีกด้านหนึ่งเขียนว่า Western ประเทศตะวันตก เมื่อกระผม/อาตมภาพเปิดเข้าไปดูจึงเห็นความต่างว่า ห้องน้ำสำหรับคนอินเดียนั้นเป็นห้องแบบนั่งยอง ส่วนห้องน้ำของทางด้านชาติตะวันตกนั้นเป็นโถชักโครก

    เมื่อพวกเรารับประทานอาหารกันเสร็จสรรพเรียบร้อย ก็ได้เดินทางข้ามสะพานใหญ่ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างนครรัฐสิกขิมกับเมืองกาลิมปงของประเทศอินเดีย โดยที่วิ่งไปแล้วเห็นถนนหนทางค่อนข้างดี เพราะว่าเรามาออกคนละเส้นทางกับทางด้านที่วิ่งมาแล้ว

    แต่ด้วยความที่ว่าอยากจะให้ทุกคนทำใจล่วงหน้าว่าสถานที่นี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราจึงดีใจได้พักเดียว ก็เจอหินถล่มบ้าง ทางที่เป็นโคลนเลนบ้าง เพียงแต่ว่าเส้นทางเส้นนี้นั้นวิ่งข้ามไปข้ามมาระหว่างแม่น้ำ ลักษณะเดียวกับที่คนโบราณไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ต้องอยู่ใกล้น้ำ เพื่อที่จะไม่ให้ตนเองเดือดร้อนเพราะการขาดน้ำ

    พวกเราวิ่งไปจนกระทั่งถึงเมืองกาลิมปง ซึ่งต้องบอกว่าหลังจากที่ออกห่างจากริมแม่น้ำแล้ว ก็ต้องวิ่งขึ้นที่สูงไปตลอดเวลา
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,583
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,383
    เมื่อเราเข้าสู่ที่พักก่อน ตามคำแนะนำของมัคคุเทศก์ เพื่อที่ข้าวของจะได้ไม่พะรุงพะรังเวลาเราไปเที่ยวชมตามสถานที่ต่าง ๆ ปรากฏว่าเข้าไปแล้วต้องร้อง "โอ้โฮ..!" เนื่องเพราะว่าสถานที่ซึ่งจัดให้เป็นที่พักของเรานั้นงดงามสุด ๆ ต้องบอกว่าเป็นสถานที่ซึ่งทางด้านผู้เป็นบิดา คือ นายเดวิด แม็คโดนัลด์ ได้สร้างเอาไว้สำหรับลูกสาว คือ นางสาวแอนนี่ เพอรี่ ตั้งแต่ปี ๒๔๔๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของเราโน่น..!

    ลักษณะการสร้างนั้นก็เป็นเรือนแบบโคโลเนียลของยุคตะวันตกครองเมือง ปรากฏว่าเขาจัดได้งดงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะมุมชมวิวนั้น ทางด้านเจ้าหน้าที่เขาแจ้งว่า ถ้าอากาศดีก็สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยด้วย แต่ว่าตอนที่เรามาถึงนั้นอากาศปิด ไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ เมื่อพวกเราออกจากสถานที่พักแล้ว ก็ตรงไปยังวัดแห่งแรก

    ตรงนี้ขอให้ทุกคนทำใจว่า ที่คณะของเรามานั้น ประกอบไปด้วยพระภิกษุสงฆ์ ขณะเดียวกันก็ยังมีญาติโยมที่ส่วนใหญ่ไม่รับประทานอาหารเย็นเสียด้วย จึงทำให้ส่วนใหญ่แล้วเขาพาพวกเราไปแต่วัด แต่ว่าถ้าหากว่าเป็นอย่างวัดเอ็นเช่ ที่ได้ไปมาเมื่อวานนั้น ก็ถือว่าคุ้มค่าสุด ๆ เพราะว่าทุกสิ่งสวยงาม "เลิศเลอเพอร์เฟ็ค" มาก

    เมื่อพวกเรามายังวัดแรกแล้ว ได้สอบถามนายสุเรศวร์ว่าวัดนี้ชื่ออะไร ? ปรากฏว่าพ่อเจ้าประคุณบอกว่าชื่อยาวมาก แล้วก็ได้กดให้ดูข้อมูลในกูเกิ้ล พร้อมกับค่อย ๆ บอกชื่อวัดทีละคำให้พวกเราสะกดเป็นภาษาอังกฤษแทน ทำให้ทราบว่าวัดนี้มีชื่อว่าวัดซางด็อก (Zang Dog Palri Fo - Brang Monastery) แต่ถ้าหากว่าเขียนแบบประเทศจีน ตัว D ก็จะออกเสียงเป็น ต.เต่า ดังนั้น...วัดนี้จึงอ่านตามแบบของพวกเราว่าวัดซางด็อก แต่ว่าถ้าหากว่าอ่านแบบตามภาษาจีน น่าจะชื่อว่าวัดซางต็อก ปารี โพปรัง ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่าวัดซางด็อกก็แล้วกัน

    ในสถานที่นี้นั้น ต้องขอทางด้านเจ้าหน้าที่มาเปิดให้เราดู เพราะว่าวิหารใหญ่ได้ปิดอยู่ ภายในนั้นจะมีรูปของลามะดุดจอม รินโปเช ซึ่งเป็นลามะที่มีชื่อเสียงอย่างมากของสถานที่นี้ พวกเราเข้าไปถ่ายรูปกันจนทุกซอกทุกมุมแล้ว จึงเดินมาถ่ายรูปป้าย "ห้ามถ่ายรูป" ของเขา เพื่อเป็นการแสดงให้เราได้รู้ว่า การเห็นป้ายนั้นเป็นการเห็นทีหลัง จึงไม่ได้กระทำตามกฎเกณฑ์กติกาของเขา..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,583
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,544
    ค่าพลัง:
    +26,383
    เมื่อออกจากสถานที่นั้น ทางด้านไกด์พื้นเมืองก็ได้พาวิ่งไปที่ Pine View Nursery ซึ่งเป็นสถานที่เพาะปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยเฉพาะเขาเน้นไม้ทะเลทรายตระกูลกระบองเพชร เพื่อให้พวกเราได้เข้าไปชม แต่ว่าภายในเรือนเพาะปลูกของเขานั้น เป็นเรือนควบคุมอุณหภูมิ จึงค่อนข้างที่จะร้อนมาก

    พวกเราใช้เวลาที่นี่ไม่มากนัก จึงทำให้มัคคุเทศก์พาเราไปยังวัด Tongsa Gumba ซึ่งเป็นวัดที่ชาวภูฏานมาสร้างเอาไว้ เป็นการแถมเพิ่มให้ เพราะว่าเวลายังเหลืออยู่มาก เมื่อเข้าไปภายในวิหารหลัก ซึ่งบรรดาพระกำลังสวดมนต์กันอยู่นั้น สิ่งแรกที่เห็นเลยก็คือองค์พระประธานนั้น ได้แก่ พระพุทธชินราชของประเทศไทยเราเอง คาดว่าจะต้องมีผู้ที่เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างภูฏานกับประเทศไทยถวายมาให้

    เพียงแต่ว่าในวัดนี้นอกจากไม่ห้ามถ่ายรูปแล้ว บรรดาพระภิกษุสามเณรทั้งหลายยังไว้หนวด ไว้เครา ไว้ผมกันดูเท่มาก ซึ่งเมื่อกระผม/อาตมภาพพยายามทบทวนข้อมูลแล้ว ในหัวสมองบอกไว้ว่า ทางด้านมหายานนั้นจะมีการนิยมไว้ผมอยู่เช่นกัน เขาเรียกกันว่าพระธุดงค์ ซึ่งกระผม/อาตมภาพยังไม่เข้าใจดีนัก เพราะว่าไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งไปมากกว่านี้

    เมื่อพวกเราทำบุญกันเรียบร้อยแล้ว ทางด้านมัคคุเทศก์ก็ได้พาเข้าไปในตลาด โดยให้เวลา ๑ ชั่วโมงในการเดินซื้อหาสิ่งของ แต่เมื่อกระผม/อาตมภาพพยายามเดินดูสิ่งของต่าง ๆ แล้ว ไม่มีอะไรน่าสนใจเลย พยายามแบ่งสิ่งของออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ก็ได้แค่อุปโภค คือเครื่องใช้ และบริโภค คือของกิน

    แต่ถ้าจะแยกให้ชัดเจนกว่านั้น ก็คือเครื่องอุปโภคนั้น ประกอบไปด้วยบรรดาเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน ส่วนเครื่องบริโภคนั้นก็คือบรรดาข้าวปลาอาหารต่าง ๆ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็เน้นแค่บริโภคประจำวันเท่านั้น

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราจึงเดินกลับมายังจุดนัดพบซึ่งเป็นหอนาฬิกาที่มีจราจรหญิงทำหน้าที่อยู่ ตรงจุดนี้มีร้านขายใบชา ซึ่งดร.พระครูโรจน์และพวกเราก็ไปรุมตอมกันอยู่สักพักหนึ่ง ก่อนที่จะจ่ายสตางค์แล้วก็เดินกลับไปยังที่พัก ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑๐ กว่านาทีเท่านั้น

    เมื่อกลับเข้าสู่ที่พักแล้ว ทางด้านคุณเอก็ได้นัดแนะพวกเราว่า พรุ่งนี้ให้เก็บข้าวของให้เรียบร้อย โดยเฉพาะสิ่งหนึ่งประการใดที่พวกเราซื้อหามา ต้องแพ็คให้เรียบร้อยไปเลย เนื่องจากว่าเราต้องวิ่งย้อนกลับไปเมืองบักโดกราเพื่อทำการเช็คอินทีเดียว เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ได้เข้าสู่ที่พัก

    สำหรับวันนี้การเดินทางจะออกมาในสภาพไหน ก็ขอให้บรรดาท่านที่รอชมรอฟังอยู่ทั้งหลาย ทั้งพระภิกษุสงฆ์สามเณร ตลอดจนกระทั่งญาติโยมได้รอชมรอฟังกันต่อไป

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...