เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 สิงหาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๗

    [yt]

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4287.jpeg
      IMG_4287.jpeg
      ขนาดไฟล์:
      285.8 KB
      เปิดดู:
      45
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปถึงวัดสระแก้ว ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่ ๗ โมงครึ่ง กราบเท้าหลวงปู่ท่านเจ้าคุณพระวชิรสิกขการ, ดร. (ไพเราะ ฐิตสีโล ป.ธ. ๔) เพื่อนร่วมรุ่นพระอุปัชฌาย์ ๕๑ โดยที่พระซึ่งติดต่อประสานงาน ท่านเมตตาแนะนำหลวงปู่ว่ากระผม/อาตมภาพนั้นเป็นใคร เลยทำเอาทุกฝ่ายได้หัวเราะกันยกใหญ่ เนื่องเพราะว่าพวกเรานั้นรู้จักสนิทสนมกันมากกว่าที่ท่านคิด

    โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพนั้นเป็นประธานรุ่นพระอุปัชฌาย์ ๕๑ โดยมีหลวงปู่เจ้าคุณซึ่งตอนนั้นเป็นพระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิตคุณ ท่านเป็นหนึ่งในองค์กรพระอุปัชฌาย์นั้น
    กระผม/อาตมภาพจึงได้คุยทับไปว่า "ผมเป็นเจ้านาย หลวงปู่เป็นลูกน้องผมเอง" หลวงปู่ท่านก็เล่นด้วย บอกว่า "ยอม ๆ ๆ เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจะแก้ตัวอย่างไร เพราะว่าท่านเป็นประธานรุ่นจริง ๆ"

    กระผม/อาตมภาพนั้นเคยมาช่วยหลวงปู่เจ้าคุณท่านในการเลี้ยงเด็ก เนื่องเพราะว่าวัดสระแก้วนั้นได้ทำการรับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงเอาไว้ถึง ๒,๐๐๐ กว่าคน และส่งให้เรียนหนังสือทุกคน กระผม/อาตมภาพถวายปัจจัยให้หลวงปู่เจ้าคุณไพเราะท่าน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ปรากฏว่าพอเป็นค่าข้าวสารสำหรับเด็ก ๆ แค่เดือนเดียวเท่านั้น..! แต่วันนี้เมื่อได้ยินเด็ก ๆ รายงานว่า "ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานค่าอาหารให้ทุกเดือน จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" กระผม/อาตมภาพก็เบาใจแทนหลวงปู่เจ้าคุณ

    พระเดชพระคุณหลวงปู่เจ้าคุณไพเราะนั้น ท่านเป็นบุคลากรสำคัญของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมานานถึง ๔๐ กว่าปี ในสมัยนั้นท่านก็คือพระมหาไพเราะ ฐิตสีโล ในเมื่อวัดสระแก้วได้สิ้นหลวงพ่อฉบับ ขนฺติโก (พระครูขันตยาภิวัฒน์) ผู้นำเอาเด็กกำพร้ามาเลี้ยงและส่งให้เรียนหนังสือ ตลอดจนกระทั่งประกอบสัมมาอาชีพเป็นที่เลื่องลือไปทั้งประเทศไทย

    โดยเฉพาะลูกศิษย์ของท่านซึ่งเล่นลิเกและร้องเพลงจนโด่งดังก็คือไชยา มิตรไชย นั่นก็เป็นเด็กกำพร้าจากวัดสระแก้วนี่เอง สิ้นหลวงพ่อฉบับแล้ว ทางคณะสงฆ์จึงได้ส่งหลวงปู่พระมหาไพเราะ ฐิตสีโล มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสระแก้วต่อจากหลวงพ่อฉบับ แล้วหลวงปู่ท่านก็สืบสานปณิธานเลี้ยงดูเด็ก ๆ สืบมา

    ครั้นเมื่อท่านได้เป็นเจ้าคณะอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ก็ต้องไปอบรมพระอุปัชฌาย์ กระผม/อาตมภาจึงได้มีวาสนาเป็นพระอุปัชฌาย์รุ่นเดียวกับหลวงปู่ ท่านเองก็ยังปรารภว่า "พวกคุณโชคดีมาก ทำบุญไว้ดี ได้เป็นเจ้าอาวาส ได้เป็นพระอุปัชฌาย์กันตั้งแต่อายุยังน้อย กระผมเองมาเป็นเอาตอนอายุ ๗๐ กว่าเข้าไปแล้ว..!"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    กระผม/อาตมภาพก็ยังชื่นชมหลวงปู่ท่าน ซึ่งปัจจุบันได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระวชิรสิกขการ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ก็เพราะว่าหลวงปู่ท่านเกษียณอายุทางคณะสงฆ์แล้ว ปัจจุบันนี้ท่านมีอายุกาลพรรษาถึง ๘๔ ปี ก็คือ ๗ รอบนักษัตรเข้าไปแล้ว ร่างกายก็ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน เพราะว่าต้องเข้าผ่าตัดท่อปัสสาวะ เพิ่งจะออกจากโรงพยาบาลมาไม่นาน แต่ท่านก็ยังเมตตาลงมานั่งเป็นประธานงานตั้งแต่เช้า

    กระผม/อาตมภาพขอตัวจากเจ้าคุณหลวงปู่ เดินไปดูนิทรรศการต่าง ๆ เห็นแล้วก็เบาใจมาก เนื่องเพราะว่างานนิทรรศการนั้น ส่วนมากก็เป็นฝีมือเด็ก ๆ ที่ทำนิทรรศการออกมาได้สุดยอดมาก ๆ กระผม/อาตมภาพยังปรารภว่า "ถ้าหากว่ามีครูดี เด็กก็พร้อมที่จะเดินตามรอยที่ครูสอนให้"

    เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องบอกว่าโชคดีมาก ๆ มีครูดีในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องของงานศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการแสดงต่าง ๆ แล้วกระผม/อาตมภาพก็ยังได้อุดหนุนสิ่งของต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงของทางด้านนี้ไปจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะตุ๊กตาชาววังที่เป็น OTOP นวัตวิถีของจังหวัดอ่างทอง

    ครั้นเมื่อถึงเวลา พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ประธานคณะกรรมการบริหารกลางโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ พระเดชพระคุณพระเทพปวรเมธี, รศ. ดร. (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี ป.ธ.๙) รองเจ้าคณะภาค ๑๕ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ หนกลาง ตลอดจนกระทั่งคณะกรรมการต่าง ๆ มาถึง พวกเราก็เข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อพระประธานในโบสถ์ เจริญพระพุทธมนต์ถวาย และถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก จากนั้นก็กลับเข้ามาชมนิทรรศการในศาลาอีกรอบอย่างเป็นงานเป็นการ

    ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพปวรเมธี, รศ. ดร. ต้องแจกซองรางวัลให้เด็กกันมือเป็นระวิง ยังโชคดีที่คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ หนกลางนั้น ได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยเป็นกองกลางเอาไว้แล้ว จึงได้เตรียมซองเอาไว้สำหรับแจกเด็ก ๆ ได้พอเพียง ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักแสดง เด็ก ๆ ที่ทำหน้าที่รายงานตามซุ้มนิทรรศการต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งเด็กที่มาสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ

    เด็กบางชุดผลงานดีมาก จนกระทั่งหลวงพ่อเจ้าคุณสืบ - พระราชสมุทรวัชราจารย์ (บุญสืบ วุฑฺฒิสาโร) วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ต้องควักเงินเพิ่มเติมให้ไปอีกรอบ แถมยังมีคณะกรรมการแอบกระซิบเด็ก ๆ ว่า "รับแล้วก็รีบเก็บไว้ ไปวางเอาไว้เขาเห็นแล้วเขาจะไม่ให้อีก..!" ทำเอาคนได้ยินหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ขณะที่บรรดาเด็ก ๆ มองหน้าคณะกรรมการประมาณว่า "อย่างนี้ก็ได้ด้วยหรือ ?!"
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ครั้นถ่ายรูปหมู่กันเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าสู่พิธีกรรมพิธีการในการตรวจประเมินเพื่อยกบ้านปะขาว หมู่ที่ ๓ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ขึ้นเป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบ สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ ตลอดจนกระทั่งข้อมูลซึ่งกรอกเข้าระบบออนไลน์นั้น สอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นอันดี ไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดให้ต้องตหนิติเตียน ในขณะเดียวกันเมื่อเรามาเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่จัดนิทรรศการเอาไว้ ก็ยิ่งเป็นภาพที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า บ้านปะขาวแห่งนี้นั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกขึ้นเป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบ

    โดยมีนายพรปวีณ์ แสงฉาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลบางเสด็จ ก็คือบ้านปะขาวแห่งนี้ ท่านได้กล่าวรายงานว่า ชื่อบ้านปะขาวนั้นไม่แน่ใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ว่ามีผู้นำในอดีตเป็นท่านขุน คือ ขุนชินแดนปะขาว กระผม/อาตมภาพได้ยินแล้วก็คิดว่าในใจว่า ถ้ามีโอกาสจะเรียนบอกท่านผู้ใหญ่บ้านว่า คำนี้ต้องอ่านว่า ขุน-ชิ-นะแดนปะขาว ไม่ใช่ ขุน-ชิน

    คำว่า ขุนชิน นั้นพวกเราอ่านตามตัวหนังสือ แต่ว่าตำแหน่งท่านขุน ซึ่งเป็นข้าราชการในพระเนตรพระกรรณระดับสูงในสมัยก่อนนั้น ต้องอ่านว่า ขุน-ชิ-นะแดนปะขาว ก็คือเป็นผู้ชนะในเขตของบ้านปะขาวทั้งหมดนั่นเอง ตลอดจนกระทั่งอดีตกำนันก็คือพันชูจันทร์ กระผม/อาตมภาพได้ยินแล้วก็ยังชื่นใจ เพราะว่าตำแหน่งเก่า ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เด็กสมัยใหม่ก็ไม่ค่อยได้ยินแล้ว

    สมัยนั้นบรรดาผู้ใหญ่บ้านหรือว่ากำนัน มักจะได้รับพระราชทานพระกรุณา ตั้งให้เป็นหัวพัน หัวหมื่น หรือว่าท่านขุน บางรายได้รับการยกย่องถึงขนาดเป็นคุณหลวงก็มี ตามบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้น อย่างเช่นว่าพันชูจันทร์ หรือว่าหมื่นชนะชน เหล่านี้เป็นต้น ขึ้นไปจนถึงขุนชินแดนปะขาว ถัดไปก็เป็นตำแหน่งคุณหลวง คุณพระ พระยา เจ้าพระยา ตลอดจนกระทั่งถึงสมเด็จเจ้าพระยา ที่ต้องรับใช้ใกล้ชิดพระเนตรพระกรรณ ตำแหน่งเหล่านี้รู้สึกว่าคนรุ่นหลังจะได้ยินน้อยลงไปทุกที เนื่องเพราะว่าท่านขุนที่เราคุ้นชินที่สุดก็คือ ท่านปู่ขุนพันธรักษ์ราชเดช ซึ่งท่านปู่ขุนพันธ์นั้นก็ได้เสียชีวิตลงไปหลายปีแล้ว..!

    เมื่อถึงเวลาแล้ว พวกกระผม/อาตมภาพจึงสรุปกันในหมู่คณะกรรมการผู้ให้คะแนนทั้ง ๔ หมวดว่าเราไม่มีอะไรจะถาม ไม่ใช่ว่าเพราะใกล้เวลาฉันเพล หากแต่ว่างานที่นี่สมบูรณ์จนไม่รู้ว่าจะถามอะไรดี นอกจากจะแกล้งถามว่าทำไมพิมพ์ตัวเลขไม่ตรงกัน ซึ่งคาดว่าผู้พิมพ์ก็ต้องตอบได้อย่างแน่นอน

    เนื่องจากว่าการทำโครงการต่าง ๆ ของหมู่บ้านแต่ละโครงการนั้น ย่อมมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากน้อยต่างกัน อย่างเช่นว่าโครงการช่วยเหลือคนพิการ บุคคลที่ไม่พิการจะเข้าไปร่วมด้วยก็ย่อมไม่ใช่ที่อยู่แล้ว จึงได้ให้ท่านพระครูศรีรัตนาภิวัฒน์, ดร. (ทวี รตนเมธี) รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดพระลอย ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ หนกลาง เป็นผู้กล่าวสรุปถวายประธานแต่เพียงผู้เดียว
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ครั้นปิดการประชุมประเมินแล้ว ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ก็คือท่านพิริยะ ฉันทดิลก ได้ทำการประเคนของที่ระลึกให้กรรมการทีละคน เมื่อมาถึงตรงหน้าก็ถามว่า "หลวงอาจำผมได้ไหมครับ ?" กระผม/อาตมภาพต้องรีบเพ่งมอง แล้วก็นั่งหัวเราะกันเป็นการใหญ่ "เฮ้ย..นี่หลานฉันเองนี่หว่า..!" ท่านบอกว่า "ใช่ครับ" กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่หัวเราะ หลวงอาผู้เป็นพระภิกษุชรา จำไม่ได้แม้กระทั่งหลานของตนเอง..! เพียงแต่สงสัยว่าทำไมนามสกุลถึงคุ้นหูนัก ปรากฏว่าตอนนี้รุ่นหลานมาถึงระดับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ถ้าหากว่าเป็นในทางโลก ๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

    ในขณะที่คนอื่นไปเข้าโต๊ะเพื่อที่จะฉันเพล กระผม/อาตมภาพจึงได้ถ่ายภาพร่วมกับท่านผู้ว่าพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แล้วก็ส่งไปให้บรรดาญาติโยมที่คุ้นเคยกับตระกูลของกระผม/อาตมภาพดูกัน กระผม/อาตมภาพเคยบอกกล่าวเป็นนัย ๆ อยู่หลายหนแล้วว่า ตนเองหนีมาบวช เพราะว่าขี้เกียจเลี้ยงหลาน เนื่องเพราะว่าบรรดาพี่ ๆ หาหลานมาให้ถึง ๓๒ คน..! ปรากฏว่ามีทั้งหลานนอกและหลานใน ซึ่งตามภาษาจีนนั้นก็คือลูกของผู้ชาย และลูกของผู้หญิง ถ้าหากว่าเป็นลูกของผู้ชาย เขาเรียกว่าหลานใน ถ้าเป็นลูกของผู้หญิง เขาเรียกว่าหลานนอก เหล่านี้เป็นต้น นี่เป็นคำอธิบายแบบคร่าว ๆ เท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลามาเถียงกัน

    กระผม/อาตมภาพก็ไม่นึกเหมือนกันว่าจะมาเจอหลานของตนเองเข้าที่นี่ ยังโชคดีที่มานึกออกและจดจำได้ก็ตอนที่ปิดการประเมินไปแล้ว ไม่สามารถที่จะเพิ่มคะแนนได้ เมื่อหันไปบอกกรรมการท่านอื่น ทุกคนก็หัวเราะกันด้วยความขบขัน เรื่อง "จุดไต้ตำตอ" เหล่านี้มักจะมีมาเป็นระยะ ๆ เพราะว่าบรรดาผู้ที่เด็กกว่าก็ย่อมจดจำคนแก่ได้มากกว่า แต่ว่าคนแก่จะให้จำลูกหลานที่มีมากขึ้นทุกที ๆ ก็ไม่ไหว

    โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพนั้น รุ่นหลานหาเหลนมาให้มากมายมหาศาล ในปัจจุบันนี้รุ่นเหลนก็เริ่มหาโหลนมาให้แล้ว ซึ่งคำว่าโหลนนั้นไม่มีอยู่ในการสืบสาแหรกตระกูลของคนไทย แต่ด้วยความที่พวกเราเคยชินกับคำว่าลูกหลานเหลนโหลน กระผม/อาตมภาพก็เลยใช้ตามที่เคยชิน เพื่อที่ท่านทั้งหลายจะได้เข้าใจว่า ถ้าหากว่าตามศักดิ์ในตระกูลแล้ว กระผม/อาตมภาพจัดอยู่ในระดับทวดหรือเทียดไปแล้ว..! ซึ่งไม่นึกเหมือนกันว่าจะอยู่มาจนกระทั่งมีลูกหลานเหลนโหลนมากมายขนาดนี้ นับว่าไม่เสียทีที่อายุยืนที่สุดในรอบหลาย ๆ ชาติที่ผ่านมา..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...