เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 18 พฤษภาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,580
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,580
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ วันนี้ได้เข้าอบรมผ่านระบบ Zoom Meeting Online แล้ววิทยากรที่เป็นระดับ รศ., ดร. รองอธิบดีกรมหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างแรงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยกล่าวว่า "ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พระภิกษุสามเณรใส่รองเท้า เพราะว่าจะได้ระมัดระวัง ไม่ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านเขา..!"

    ตรงนี้ท่านทั้งหลายก็คงจะเคยได้ยินกระผม/อาตมภาพบอกกล่าวมาแล้วว่า "พระภิกษุสามเณรของเราไม่ใช่ควาย จะได้เดินไปลุยนาเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านเขา" ขนาดสมัยวัยรุ่น
    กระผม/อาตมภาพเลี้ยงควาย ยังฉลาดมาก บอกให้เดินแค่ไหนควายก็เดินแค่นั้น กระผม/อาตมภาพก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนสมัยก่อนของเราเอาข้อมูลตรงนี้มาจากไหน ?

    ความจริงแล้วการอยู่จำพรรษาในฤดูฝนของพระภิกษุสามเณรนั้น เกิดจากการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นพระภิกษุ ๓๐ รูปที่เป็นชาวเมืองปาฐา เดินทางมาสักการะพระองค์ท่านในช่วงฤดูฝน แล้วจีวรเปียกฝนโชกมาทั้งองค์ ประกอบกับบรรดานักบวชนิกายอื่น ๆ ลัทธิอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ให้สัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ก็คือลูกศิษย์ของตนหยุดการเดินทางในช่วงฤดูฝน

    ที่สำคัญก็คือ โดยธรรมเนียมสมัยก่อน เมื่อมีแขกไปใครมาถึงบ้าน ก็ต้องให้การต้อนรับ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์สามเณรมา ก็ต้องจัดอาสนะ จัดน้ำใช้น้ำฉัน จัดภัตตาหารถวาย ฤดูฝนเป็นฤดูของการทำนา ถ้าหากว่าพระภิกษุสามเณรของเรายังวนเวียนไปรบกวนญาติโยมอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้การทำนาของเขาล่าช้า จนเกิดผลเสียหายได้

    เมื่อด้วยเหตุหลายประการเหล่านี้เกิดขึ้น จึงทำให้สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุโลมตามนักบวชลัทธิอื่น ๆ ก็คือให้พระภิกษุจำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือนของฤดูฝน

    ส่วนในเรื่องการห้ามพระภิกษุสงฆ์สามเณรใส่รองเท้านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม แต่ว่าชาวบ้านสมัยก่อน ไม่ต้องสมัยก่อนหรอก แค่ช่วงกระผม/อาตมภาพเด็ก ๆ นี่แหละ เดินตีนเปล่ากันเป็นปกติ จนกระทั่งภารโรงที่โรงเรียนเก่าที่กระผม/อาตมภาพเรียนอยู่ ชื่อ "ตาดา" ถึงเวลาก็เดินลุยเข้าไปในสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยหนามโคกกระสุน เดินแบบไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย จนพวกเราเรียกประชดชีวิต โดยเรียกหนามโคกกระสุนว่า "พรมตาดา"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,580
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    กระผม/อาตมภาพเองไปเรียนหนังสือใหม่ ๆ ต้องใส่รองเท้าผ้าใบ เป็นอะไรที่ทุกข์ทรมานมาก เพราะว่าโดนรองเท้ากัด เนื่องจากเดินตีนเปล่ามาจนเคย บางคนก็แนะนำว่าให้กัดรองเท้าเสียก่อน รองเท้าจะได้ไม่กัดเรา แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล จนกระทั่งผู้รู้แนะนำว่า ให้ไปขอเศษเทียนที่วัดมาถูบริเวณที่รองเท้ากัดเรา ต้องทำแบบนี้ถึงจะได้ผล เนื่องเพราะว่าเมื่อเทียนเคลือบเอาไว้ก็ทำให้ลื่น ความหยาบความสากของรองเท้าก็ไม่สามารถที่จะกัดตีนของเราได้อีก

    ในเมื่อบุคคลเดินตีนเปล่าเป็นปกติ ขออภัยที่ไม่ใช่คำว่าเท้า เพราะไม่ชัดเจน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นราชกุมารในศากยตระกูล เมื่อมีบุคคลผู้ที่ขออนุญาตให้ใช้รองเท้าได้ ก็คือท่านโสณโกฬิวิสะเถระ ที่เป็นผู้ที่สุขุมาลชาติมาก เพราะว่าเท้าบาง ไม่สามารถเดินพื้นทั่วไปอย่างพวกเราได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้ใช้รองเท้าได้

    หลังจากนั้นก็มีอนุบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมาอีกว่า รองเท้าที่ใช้นั้น ถ้าหากว่าอยู่ในปัจจันตชนบทที่หนทางธุรกันดาร ก็ให้ทำพื้นหนาหลายชั้นได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เดินไม่กี่ทีก็จะขาดหมด เท่านั้นยังไม่พอ ยังทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าได้ ๒ คู่ ก็คือคู่หนึ่งใช้ในระหว่างเดินทาง เมื่อถึงที่พักแล้ว ทำความสะอาดเท้า ล้างเท้า เช็ดเท้า เรียบร้อย ทาน้ำมันแล้ว ให้ใช้รองเท้าอีกคู่หนึ่งสำหรับเดินในที่พักได้

    เพราะฉะนั้น...บรรดาท่านทั้งหลายที่มีรองเท้าใช้ในบ้าน มีรองเท้าใช้ในโรงแรม ไม่ใช่ของใหม่ พระพุทธเจ้าบัญญัติให้พระภิกษุสามเณรใช้มา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว

    แต่ที่บัญญัติเช่นนั้น ก็เพราะว่าถ้าพระภิกษุสงฆ์ของเราไม่ได้ใช้รองเท้า การเดินทางไกลไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องเพราะว่าอย่างไรเสียก็เป็นเลือดเนื้อของเรา ถ้าต้องเดินทางกันทีหนึ่ง หลายร้อยหลายพันกิโลเมตร ก็คงจะรับสภาพไม่ไหว จึงต้องใช้รองเท้า และทรงบัญญัติให้ว่า บุคคลที่เท้าบาง เดินแล้วเจ็บเท้า สามารถใช้รองเท้าได้ทุกเวลา

    ส่วนการที่พระภิกษุสงฆ์ของเราออกเดินบิณฑบาตโดยไม่ใส่รองเท้านั้น เป็นการแสดงความเคารพในทาน เมื่อผู้อื่นให้เราด้วยความเคารพ เราก็ควรที่จะอยู่ในลักษณะของ วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ก็คือได้รับการเคารพตอบ จึงไม่ใส่รองเท้าในระหว่างที่บิณฑบาต ไม่ใช่ไม่ใส่รองเท้าเพราะกลัวจะไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้าน..!

    ข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่แก้ไขให้ถูกต้อง นานไปเกิดคนรุ่นหลังสงสัยขึ้นมาว่า "พระภิกษุสามเณรของเราโง่กว่าวัวกว่าควายหรือเปล่า ถึงได้เดินไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้าน ?" เราก็จำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ฟังว่า เป็นเรื่องที่รับรู้และสอนกันมาผิด ๆ จนกระทั่งระดับรองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการ ความรู้สูงขนาดนั้น แล้วยังดำรงตำแหน่งรองอธิบดีด้วย ยังเข้าใจผิดไปได้ขนาดนั้น..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,580
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    ในเมื่อกล่าวเรื่องนี้แล้ว ก็ขอกล่าวเรื่องต่อไป ก็คือมีอุบาสกท่านหนึ่ง ต้องบอกว่าเป็นผู้มีความรู้ในพระพุทธศาสนา ระยะหลังออกมาแสดงทัศนคติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจว่าตนเองศึกษามาดี มั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองบอกกล่าวนั้นถูกต้อง

    แต่พอมาถึงเรื่องของหลวงปู่แสง ญาณวโร ซึ่งมีแพทย์ให้ความเห็นว่า หลวงปู่มีอาการอัลไซเมอร์ อุบาสกท่านนี้ก็ออกมาให้ความเห็นว่า "ถ้าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริง ต้องไม่มีอาการหลงลืมแบบอัลไซเมอร์" เป็นการฟันธงเลย


    โดยที่ลืมความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงที่ยังเกิดการปรุงแต่งอยู่นั้น ย่อมไม่เที่ยงเป็นปกติ แล้วสัญญาความจำจะเที่ยงได้อย่างไร ? แม้กระทั่งที่พวกเราสวดในอนัตตลักขณสูตร ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า "รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง" มีอะไรเที่ยงสักอย่างหรือไม่ ?


    เพียงแต่ว่า ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระอริยเจ้าแล้ว หลักธรรมที่ท่านเข้าถึงจะไม่มีวันเสื่อมถอย เพราะว่ากำลังใจปักมั่นอยู่ตรงนั้น เหมือนอย่างกับคนที่เดินทางไปถึงสถานที่หนึ่งแล้ว จะไม่ถอยกลับจากที่นั้นอีก ยกเว้นว่าจะเดินทางจากไป


    แล้วท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นบุคคลที่เสียมารยาทมาก ต้องดูตัวอย่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศล มหาราชแห่งแคว้นโกศล ซึ่งได้มีโอกาสสนทนากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเห็นปริพาชกหมู่หนึ่งเดินทางผ่านไปบริเวณนั้น ก็นั่งกระโหย่ง ยกพระหัตถ์ไหว้ ตรัสบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "นักบวชทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ กำลังจาริกไปยังเขตคามต่าง ๆ"

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรยังเป็นบุคคลที่บริโภคกาม นอนเบียดกับลูกเมียอยู่ จะไปรู้เรื่องของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสได้อย่างไร ?"

    พระเจ้าปเสนทิโกศลจนด้วยถ้อยคำ จึงได้ยอมสารภาพว่า "นักบวชเหล่านั้นคือจารบุรุษ ที่พระองค์ท่านส่งไปสืบความตามแคว้นต่าง ๆ" ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ประมาณ CIA ดังนั้น...การที่อุบาสกท่านนั้นออกมาแสดงทัศนะในเรื่องที่ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองเข้าถึง โอกาสผิดจึงมีเกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,580
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    เรื่องนี้กระผม/อาตมภาพจึงขอสรุปลงตรงที่ว่า ถ้าหากว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว สิ่งที่เข้าถึงนั้น เป็นสิ่งที่สลักฝังลึกอยู่ในจิตในใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้น จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่มีวันคลอนคลาย แต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นของไม่เที่ยงนั้น ย่อมเสื่อมทรามไปตามปกติ

    เพียงแต่ว่าบุคคลที่เป็นนักปฏิบัติชั้นยอดนั้น ส่วนใหญ่แล้วมีสติที่สมบูรณ์ ความเสื่อมทรามเหล่านี้จึงปรากฏขึ้นช้ามาก จนกระทั่งหลายท่านก็ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน ว่ามีความเสื่อมทรามทั้งหลายเหล่านี้อยู่


    จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้รู้ชัดเจน อย่างที่หลวงปู่สด วัดปากน้ำ กล่าวว่า "การเรียนในพระพุทธศาสนาจะต้องเรียนให้รู้จริง เมื่อถึงเวลา จะได้เป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนาได้" ไม่ใช่ปล่อยให้คนรู้ไม่จริง หรือว่ารู้ต่อกันมาผิด ๆ นำสิ่งทั้งหลายที่ตนเองรู้ผิดนั้นเผยแพร่ไปเรื่อย แล้วทำให้พระพุทธศาสนาของเรา โดน "ด้อยค่า" ลงไปอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

    วันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมที่ฟังอยู่แต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...