เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 8 กันยายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,393
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,393
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพมีงานสำคัญหลายอย่างด้วยกัน แต่ส่วนที่อยากจะพูดถึงก็คือ เรื่องของการติดตามผลโครงการต่าง ๆ ทั้ง ๑๐ โครงการที่ได้อนุมัติงบประมาณไป ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ

    เรื่องของเงิน โดยเฉพาะถ้าเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ "ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" อย่างไรเสียถ้าใช้จ่ายออกไปต้องมีหลักฐานในการใช้จ่ายคืนมาด้วย จึงต้องมีการส่งรายงานหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะให้เวลา ๓๐ วัน แต่คราวนี้ในส่วนของหน่วยงานระดับเล็ก ๆ อย่างของสภาวัฒนธรรมตำบลต่าง ๆ มักจะไม่ถนัดในการทำงานเอกสาร หลายแห่งเขียนโครงการมา ก็ต้องแก้แล้วแก้อีก จนกระทั่งบางแห่งก็ท้อใจ เลิกของบประมาณไปเลย..!

    พวกท่านต้องเข้าใจว่า ในเรื่องของการของบประมาณนั้น อันดับแรกเลย ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับผลที่คาดว่าจะได้รับต้องมี ถ้าไม่มี ต่อให้ยื่นโครงการมาขนาดไหนก็เจ๊ง..! คนอื่นตรวจไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้า
    กระผม/อาตมภาพตรวจนี่ไม่ผ่านแน่นอน ประการที่สองก็คือ ความชัดเจนของระยะเวลาในการดำเนินงาน หลังจากนั้นจึงเป็นจำนวนงบประมาณ

    หลายโครงการโดนกระผม/อาตมภาพปัดทิ้งไปเลย อย่างเช่นบางโครงการของบประมาณมา ๓๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดงานประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ แต่ว่า ๓๐,๐๐๐ บาทที่ขอมา เป็นค่าอาหารไป ๒๕,๐๐๐ บาท..! เป็นพวกท่านจะให้ไหม ? คือถ้าโดยปกติทั่ว ๆ ไปนั้นได้ แต่วัตถุประสงค์ของเขาก็คือ เพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ ถ้าอย่างนั้นค่าอาหารก็ไม่ต้อง ทุกคนที่เข้าร่วมงานก็เอาข้าวหม้อแกงหม้อมาเอง ถ้าอย่างนั้นก็จะได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้

    เรื่องพวกนี้ถ้าหากว่าเราไม่มีความชำนาญ ก็ต้องปรึกษาผู้รู้ หรือไม่ก็พอชี้แจงแสดงเหตุไปว่าตรงไหนผิดพลาดเพราะอะไร ก็ต้องรีบแก้ไข งบประมาณจะว่าไปแล้วมีอยู่รอบตัว แม้กระทั่งงบประมาณที่ได้รับจากการบริจาคโดยศรัทธา แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วคนเราจะไม่มีความอดทนในการแก้ไข และโดยเฉพาะไม่มีอารมณ์ที่จะมาส่งรายงาน หลังจากที่ดำเนินการโครงการเสร็จแล้ว ประมาณว่าเหนื่อยจนหมดสภาพแล้ว..!

    แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมานึกดู ในสภาพพระภิกษุของเรา มีราคาแค่ ๙๙ สตางค์ ครบบาทเมื่อไร ก็ขาดความเป็นพระ..! ก็แปลว่าทุกบาททุกสตางค์สำคัญเท่าชีวิต ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้เอ้อระเหยลอยชายไปก็ได้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,393
    งบประมาณบางแหล่งที่กระผม/อาตมภาพได้มา "ไม่พอยาขี้ฟัน" ให้มา ๒,๕๐๐ บาท แต่ทางวัดท่าขนุนต้องส่งรายงานปีละ ๔ ครั้ง ก็คือรอบไตรมาสละครั้ง ได้มา ๒,๕๐๐ บาท ค่ากระดาษรายงานยังไม่รู้ว่าจะพอหรือเปล่า ? บอกไปว่า "ไม่ต้องให้มาหรอก ไม่ต้องการ" เขาบอกว่า "ไม่ได้ ..เพราะว่าเป็นงบจากส่วนกลาง โอนเข้าบัญชีโดยตรง หลวงพ่อจะรับหรือไม่รับก็เข้าบัญชีไปแล้ว เพราะฉะนั้น..ให้ส่งรายงานมาก็แล้วกัน" เขาเรียกว่า "มัดมือชก"

    ในเรื่องของการทำงาน กระผม/อาตมภาพ ต้องบอกว่า ทั้งเลื่อมใสทั้งชื่นชมพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่กระผม/อาตมภาพเคยเห็นมา

    ท่านให้กระผม/อาตมภาพค้นหาใบเสร็จรับเงินในการซื้อเครื่องปั่นไฟ เพื่อที่จะเอามาเทียบราคาว่า เครื่องปั่นไฟที่ท่านซื้อเมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้วกับปัจจุบัน ราคาเพิ่มลดไปกี่เปอร์เซ็นต์ ? ท่านชี้ให้ไปหาดูในตู้ที่สูงท่วมหัว..! ปรากฏว่าเปิดออกมา มองปราดแรกเท่านั้น
    กระผม/อาตมภาพสบายใจมาก เพราะว่าใบเสร็จรับเงินของท่านจะใส่แยกไว้เป็นแฟ้ม ๆ แต่ละแฟ้มจะมีเลขกำกับที่สันปกว่าเป็นของ พ.ศ.ไหน ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ค้นใบเสร็จนั้นเจอแล้ว เพราะท่านบอกแล้วว่าเคยซื้อเมื่อประมาณ พ.ศ. นั้น

    เมื่อกระผม/อาตมภาพออกจากวัดท่าซุงมาอยู่ที่เกาะฤๅษี ทำงานก่อสร้างอยู่ ๘ เดือน อยู่ ๆ วันหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านก็มา พวกคุณต้องเข้าใจนะครับว่า กระผม/อาตมภาพออกจากวัดท่าซุงมา หลังจากที่จัดงานศพถวายหลวงพ่อท่านเรียบร้อย ส่งศพท่านขึ้นมณฑปแล้ว..!

    ท่านก็เดินมาหน้าตาเฉยอย่างนั้นแหละ มาถามว่า "แกมีเงินส่วนตัวเท่าไร ?" กระผม/อาตมภาพตอบด้วยความภาคภูมิใจแกมอวดว่า "ไม่มีเลยครับ เพราะว่าผมผลักลงกองกลางไปหมด" ท่านถามต่อว่า "ถ้าอย่างนั้นแกใช้เพื่อสงฆ์ไปเท่าไร ?" กราบเรียนว่า "ไม่ทราบครับ" "แล้วแกใช้เพื่อส่วนตัวไปเท่าไร ?" "ไม่ทราบครับ" ไม่ทราบครับ ๒ ทีเท่านั้นแหละ ไม้เท้าลงหัวเปรี้ยงเบ้อเร่อเลย..! เจ็บกว่าตอนเป็น ๆ ตีอีก..!

    ท่านบอกว่า "ไปรื้อบัญชีทำเสียใหม่ ทุกบาททุกสตางค์ แกรับมาจากใคร ? ใช้จ่ายไปด้วยเรื่องอะไร ? ถ้าใครมาตรวจสอบต้องชี้แจงเขาได้ และที่แน่ ๆ ถ้าซื้อของ ให้ขอบิลไว้ทุกครั้ง"
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,393
    ในเมื่อผ่านไป ๘ เดือนแล้ว ก็แปลว่าต้องนั่งตูดด้านอยู่หลายวัน เพื่อไปแคะตัวเลขออกมา ท้ายที่สุดเห็นว่ายุ่งยากลำบากนัก กระผม/อาตมภาพก็เลยตัดใจว่า "๘ เดือนแรกเราไม่เอาเงินส่วนตัวก็แล้วกัน" เพราะฉะนั้น..ถ้าหากว่าใครตรวจสอบบัญชีของกระผม/อาตมภาพย้อนหลังไป จะเห็นว่าตั้งแต่ออกจากวัดท่าซุงมา ๘ เดือนแรกจะไม่มีเงินส่วนตัว ขี้เกียจไปงมหา ถัดจากนั้นมาถึงได้มี

    แล้วสิ่งที่ท่านบอกเอาไว้ก็คือ ถ้าใครตรวจสอบต้องชี้แจงเขาได้ หลังจากนั้นเป็น ๑๐ ปี ถึงได้มีการเร่งรัดในเรื่องของบัญชีเงินวัด บุคคลที่ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต้องชี้แจงบัญชี ซึ่งอย่างปัจจุบันนี้ก็คือ ๓ ครั้ง ครั้งแรก ๙ เดือนของรอบงบประมาณ ชี้แจงสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ครั้งที่สอง ครบรอบปีงบประมาณ ชี้แจงสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ครั้งที่สาม ในรอบปีนั้น คือ ๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม ส่งทางคณะสงฆ์

    เพราะฉะนั้น..ไม่ว่าจะที่ไหนมีปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบ แต่ของ
    กระผม/อาตมภาพไม่เคยมี ท่านทั้งหลายสามารถตรวจสอบบัญชีย้อนหลังไปได้ถึงปี ๒๕๓๖ ย้อนหลังไป ๓๐ ปีพอดี ในส่วนของวัดท่าขนุน ตัวอย่างที่กระผม/อาตมภาพจัดการก็คือ ก่อนหน้านั้นถือว่าเป็นภาระของเจ้าอาวาสเก่า กระผม/อาตมภาพมาเริ่มส่งบัญชีเดือนแรกที่รับตำแหน่งเจ้าอาวาส

    คราวนี้สะดวกอยู่ตรงที่ว่าคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีของเรานั้น มีการปฏิบัติที่เป็นที่เข้าใจกันทั่วว่า ถ้าจะแต่งตั้งให้รับตำแหน่งต่าง ๆ ให้ลงวันที่ ๑ ของเดือนไว้เสมอ พูดง่าย ๆ ก็คือสมมติว่าเรายื่นเรื่องขอรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส อาจจะยื่นวันที่ ๒ ของเดือนกันยายน ก็แปลว่าวันที่ ๑ ตุลาคมเตรียมรับตราตั้งได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้น ท่านบอกว่า เพื่อความสะดวกในเรื่องของการรับเงินอุดหนุนนิตยภัต ที่พวกเราไปเรียกง่าย ๆ ว่าเงินเดือนพระ

    ดังนั้น..ในเรื่องพวกนี้ต้องบอกว่า การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ เราเน้นในเรื่องของ "หลักธรรมาภิบาล" ซึ่งมี "ความโปร่งใส" เป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าจะโปร่งใสบ้าง ไม่โปร่งใสบ้างก็ช่างเถอะ..! ใครสามารถทำได้โปร่งใสเท่าไรก็ได้รับการเชื่อถือเท่านั้น ส่วนท่านที่ไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ เอกชน หรือวัดวาอารามก็แล้วแต่ท่านไป
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,393
    คราวนี้ที่ติดตามงบประมาณนั้น กระผม/อาตมภาพกำหนดอยู่ส่วนหนึ่งก็คือว่า ถ้าใครไม่ส่งรายงาน เมื่อถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๖ จะไม่สามารถที่จะยื่นของบประมาณโครงการใดโครงการหนึ่งได้อีก ถึงยื่นมาก็จะกองเอาไว้ก่อน จนกว่าจะส่งรายงานการใช้งบประมาณของเก่ามา

    เรื่องพวกนี้ที่จำเป็นต้องเข้มงวด เพราะว่าเราต้องการผลงาน ท่านที่ฟังอยู่จะเห็นว่า เขาจะรายงานว่าประสบความสำเร็จตามโครงการกี่เปอร์เซ็นต์ ? ใช้วิธีติดตามประเมินผลแบบไหน ? ท่านที่ช่วย
    กระผม/อาตมภาพรับผิดชอบด้านนี้ ต้องพยายามศึกษาเอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเขียนโครงการ

    สมัยที่เรียนปริญญาตรี ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้เขียนโครงการ จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม ปรากฏว่าโครงการที่กระผม/อาตมภาพเขียนนั้น เป็นคนเดียวที่ได้รับคำชมเชยว่า "สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง"

    กระผม/อาตมภาพจะเขียนโครงการระยะสั้นว่า ปีนี้เราจะทำอะไร ? อย่างเช่นว่าจัดการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน วัตถุประสงค์เพื่ออะไร ? แหล่งวัตถุดิบจะเอามาจากไหน ? แหล่งงบประมาณจากไหน ? วิธีการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร ? หลังจากนั้นแล้วเราจะติดตามประเมินผลอย่างไร ? จะส่งรายงานเมื่อไร ? เหล่านี้เป็นต้น

    โครงการระยะกลาง อย่างเช่นว่าจะจัดส่งพระภิกษุสามเณรเข้ารับการศึกษาตามโครงการพระปริยัติธรรมนำสู่ปริญญา ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ ๕ ปี

    โครงการระยะยาว คือการจัดหางบประมาณสำรองเอาไว้ สำหรับบุคคลที่มารับช่วงในการบริหารวัดต่อจากกระผม/อาตมภาพเอง

    เรื่องพวกนี้บางทีท่านฟังแล้วก็จะปวดหัว แต่ถ้าหากว่าแยกแยะออกก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ ระยะสั้นคือปีนี้ปีหน้า อาจจะเพิ่มอีกปีหนึ่ง เราจะทำอะไร ระยะกลางอย่างเช่นว่า ๕ ปี ๖ ปี ๗ ปี เราจะทำอะไร ถ้าระยะยาวก็ ๑๐ ปีข้างหน้า เราจะทำอะไร ไม่ใช่เรื่องฟุ้งซ่านนะครับ ถ้าหากว่าเราคิดอย่างมีสติ ไม่ถือว่าเป็นการฟุ้งซ่าน เป็นการใช้ปัญญาอย่างหนึ่ง แต่ใช้ไปในเรื่องของโลก ๆ ก็คือการบริหารวัดวาอาราม ทำอย่างไรจะให้วัดอยู่ได้ ท่ามกลางกระแสสังคมในปัจจุบันนี้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...