เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 25 มีนาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เรื่องภาวะสงครามที่ปะทุขึ้นมาเร็วอย่างที่ว่าเอาไว้ ก็ไม่ขอกล่าวถึง เนื่องเพราะได้ขอบารมีพระท่านสงเคราะห์ อย่าเพิ่งให้หนักไปกว่านี้ อย่างน้อยก็ให้เราทันปลุกเสกวัตถุมงคลในวันเสาร์ ๕ ตรีวัน แล้วมอบให้ถึงมือญาติโยมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    ส่วนที่จะต้องแลกกับอะไรบ้าง ก็คงจะต้องสุขภาพชำรุดไปสักพักใหญ่ ๆ นั่นก็เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนที่ต้องสมน้ำสมเนื้อกันอยู่ เนื่องเพราะว่าภาวะกรรมของสัตว์โลกเป็นไปตามนั้น ไม่ว่าจะพยายามยืด พยายามถ่วงเวลาไปนานเท่าไร ท้ายที่สุดเรื่องก็ต้องเกิด

    ส่วนวัดเรา วันนี้มีการอุปสมบท ส.ต.ต.ธรรมพร สมพงษ์ ฉายา กนฺตธมฺโม คราวนี้ในการบวชตั้งแต่โบราณมานั้น เขากล่าวกันว่ามี การบวชลับ บวชลี้ บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน

    บวชลับ บวชลี้ ตั้งแต่โบราณมา เขาถือว่าถ้าหากว่าเป็นผู้ที่ก่อคดีเอาไว้แล้วไปบวช จะได้รับการให้อภัย โดยดูตัวอย่างจากองคุลีมาลเถระ ก็เลยทำให้สังคมบ้านเรา มีอยู่ช่วงหนึ่งบรรดาพวกเสือปล้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากสถานการณ์บังคับ หรือว่าจำใจก็ตาม ท้ายที่สุดก็เข้าวัดบวช แล้วส่วนใหญ่ก็มีความสามารถด้านคาถาอาคมอะไรต่าง ๆ กลายเป็นหลวงปู่หลวงพ่อที่มีชื่อเสียง อย่างเช่นหลวงพ่อหรุ่น วัดอัมพวัน เป็นต้น

    บวชหนีสงสาร บาลีเขาว่าอุปนิสฺสรณิกา มีพระบาลียืนยัน ตั้งใจบวช เพื่อที่จะปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส

    บวชผลาญข้าวสุก บาลีเขาว่าอุปชีวิกา บวชมาเลี้ยงชีพตัวเอง ลักษณะแบบเดียวกับที่ภิกษุฉัพพัคคีย์ปรึกษากันว่า "ภิกษุซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม ได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูจากชาวบ้านด้วยดี เราควรที่จะไปบวชบ้าง" มีการวิเคราะห์ด้วยว่า เมืองนั้นประกอบไปด้วยชาวบ้านกี่ครัวเรือน เมืองนี้กี่ครัวเรือน เราบวชแล้วควรจะย้ายไปอยู่เมืองนั้นเมืองนี้ วางแผนไว้อย่างดีมาก ท้ายที่สุดก็ก่อเหตุให้พระพุทธศาสนามัวหมอง ต้องลงอเวจีมหานรกไปตาม ๆ กัน..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    บวชสนุกตามเพื่อน บาลีว่าอุปกิฬิกาเห็นเขาบวชแล้วสนุกสนานเฮฮา มีการแห่กัน ก็อยากจะบวชบ้าง บวชเข้ามาแล้ว กินให้เปลืองข้าวสุกยังไม่ว่า บางทีก็โขกหมากรุก เตะตะกร้อ ถึงขนาดมีบันทึกเอาไว้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๓ เมื่อได้รับการฟ้องร้องเกี่ยวกับการเล่นสนุกของพระภิกษุสามเณร ท่านใช้คำว่า "เจ้ากูอยากจะเล่นบ้าง ก็ช่างเจ้ากูเถิด" ก็คือปล่อยให้ออกกำลังให้หายบ้าบ้าง..! ยังดีที่เป็นบ้านเรา ถ้าหากว่าเป็นทางพม่านี่ เขาตั้งทีมฟุตบอลแข่งกันระหว่างวัดกับชาวบ้านเลย กระผม/อาตมภาพเจอมาด้วยตัวเอง..!

    การบวชทั่ว ๆ ไปนั้น ตามประเพณีของเราจะมีการแห่ สมัยที่กระผม/อาตมภาพเด็ก ๆ เขาแห่กันข้ามตำบลเลย แห่ไปทำอะไร ?
    เพื่อให้ญาติพี่น้องและคนที่ได้พบเห็นอนุโมทนาด้วย ว่าบ้านนี้ได้บวชลูกชาย บางคนหวังสูงกว่านั้น ก็คือต้องการให้ "ว่าที่พ่อตา - แม่ยาย" เห็นด้วยว่าหนุ่มคนนี้บวชแล้ว เพราะว่าสมัยก่อนถ้าไม่บวชแล้วไปขอลูกสาว เขาไม่ค่อยให้ เขาถือว่าเป็น "คนดิบ" ยังไม่ได้ผ่านการขัดเกลา ฝึกฝนตนเองมา ดังนั้น..วัตถุประสงค์ในการแห่ สมัยก่อนหลัก ๆ เลยก็คือให้คนอนุโมทนาด้วย จัดว่าเป็นปัตตานุโมทนามัย ยินดีในบุญที่คนอื่นเขาทำ

    เราจะเห็นว่าการที่ถึงเวลาแล้วต้องแห่นาครอบโบสถ์ ๓ รอบ ก็เพื่อให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยว่า พระพุทธเจ้าของเราประกอบไปด้วยพระบริสุทธิคุณ ชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสได้อย่างวิเศษยิ่ง ประกอบไปด้วยพระกรุณาคุณ สงสารจึงสั่งสอนสัตว์โลกอยู่ตลอด ๔๕ พรรษา ประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณ สามารถตรัสรู้อริยสัจ ซึ่งในยุคนั้นไม่มีใครรู้เห็นได้

    ระลึกถึงพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าป้องกันผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกสู่ทุคติ

    ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

    ก่อนเข้าโบสถ์ก็มีการโปรยทาน เข้าโบสถ์ไปแล้วก็มีการสมาทานศีล ก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ยังต้องรับศีล ๑๐ อีก ก็แปลว่า
    มีทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ดังนั้น..ประเพณีโบราณต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่กำหนดขึ้นมา เพื่อให้เราได้บุญได้กุศลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ว่าสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้วก็แห่เอาสนุกสนาน ร้องรำทำเพลงไม่พอ บางทีก็ยังกินเหล้าเมายากันอีก บางรายมาถึงก็ยิงปืนขึ้นฟ้าสนั่นหวั่นไหวไปหมด..! ไอ้ที่หนักกว่านั้นก็คือโดยปกติเขาแห่ ๓ รอบโบสถ์ อันนี้เต้นแล้วยังไม่พอใจ แห่ต่อเป็น ๙ รอบ พระอุปัชฌาย์ก็นั่งรอไปเถอะ..!

    ประเพณีที่เพี้ยนไป เพราะว่าอันดับแรก..ไม่มีใครบอกว่าเขาทำเพื่ออะไร ประการที่สอง..ก็คือไม่มีใครไปกระตุกหาง ขออภัย..แรงไปหน่อย ไม่มีใครไปกระตุกต่อมสำนึก เตือนสติให้รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ก็เลยเลยเถิดกันไปเรื่อย..!

    คราวนี้พอบวชเสร็จ ญาติโยมก็มักจะ
    มีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระใหม่ เพราะมั่นใจว่าพระบวชใหม่ ศีลยังบริสุทธิ์อยู่ ทำบุญแล้วจะได้บุญมาก แต่พอพระออกจากโบสถ์ปุ๊บ โยมก็เอาเงินหย่อนใส่ย่ามปั๊บ เล่นเอาพระศีลขาดตั้งแต่ยกแรก..! ดังนั้น..จึงได้บุญเฉพาะคนแรก พร้อมกับได้บาปกับคนต่อ ๆ ไป..! อันนี้พูดเล่นนะ

    ในเรื่องของการทำบุญนั้น เราทำด้วยอะไรก็ได้
    เพียงแต่เรื่องของปัจจัยเงินทอง ที่สมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้าม ก็เพราะว่าป้องกันไม่ให้พระของเราสะสม ป้องกันไม่ให้เกิดความโลภ แต่เท่าที่ตัวกระผม/อาตมภาพพบเจอมาเอง วัดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ถึงเวลาก็มีพ่อค้าแม่ค้าเข้าไปขอซื้อสบงจีวรต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องสังฆทานที่พระรับมา เหมาไปในราคาถูก ๆ แล้วก็เอาไปบรรจุหีบห่อใหม่ จำหน่ายในราคาท้องตลาด กำไรเป็นเท่า ๆ ตัว ก็แปลว่าในเรื่องของการที่บวชเข้ามาแล้ว บุคคลจะมองเห็นทรัพย์สินว่าไม่ใช่ของตนเองนั้นยากมาก..!

    หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านสอนพวกกระผม/อาตมภาพว่า "อย่าสะสมเงินเพื่อรวย ญาติโยมตั้งใจถวายมา ให้ผลักเข้ากองบุญการกุศล เพื่อเพิ่มบุญให้กับผู้ถวาย ถ้าหากว่ามีเงินเหลือจากปีนี้ อย่าให้ข้ามไปถึงปีหน้า ให้หางานที่ใหญ่กว่าเงินทำเอาไว้ตลอด เวลาเงินมาถึง เราจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นของตนเอง"
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    โดยส่วนตัวแล้วกระผม/อาตมภาพเองหมดความสนใจในเงิน น่าจะตั้งแต่ก่อนบวชสักสองปี ตอนนั้นทำหน้าที่เสมียนกองร้อย อัตราสิบเอก อยู่ที่ชายแดนตาพระยา ไปเบิกเบี้ยเลี้ยงของทหารในกองร้อยมาจากคลังกองพัน สองแสนกว่าบาทสมัยนั้น เพราะว่ามีทั้งเบี้ยเลี้ยงปกติ มีทั้งเบี้ยเลี้ยงชายแดน ด้วยความที่ต้องวิ่งไปเป็นระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร แล้วถนนหนทางก็ปลักควายดี ๆ นี่เอง ตลอด ๕๐ กิโลเมตร กระแทกตึงตังโครมครามไปตลอดทาง แถมยังมีโจรเขมรคอยปล้นอยู่อีก

    เมื่อเบิกเงินจากคลังเรียบร้อยแล้ว วิ่งกลับมาก็หมดสภาพ โยนเงินไว้หัวเตียงแล้วก็หลับ ตื่นขึ้นมา..ลืม..! จนกระทั่งเลยเวลาจ่ายเบี้ยเลี้ยงไปแล้ว พลทหารเขาก็มากลัว ๆ กล้า ๆ ถามว่า "หมู่ครับ..จะไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือครับ ?" นึกขึ้นมาได้ว่า "ฉิบหายแล้วกู..เงินอยู่ไหนวะ..!?"

    ปรากฏว่าไอ้เตียงที่ทหารเขานอน เป็นไม้แผ่นเดียวเหมือนกับประตู เอาพาดอยู่กับราวด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งจะเป็นตู้ที่ใหญ่พอดีกับแผ่นประตู เขาเรียก "ล็อกเกอร์" เอาไว้ใส่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ เงินถุงใหญ่สองแสนกว่าบาทที่โยนไว้ที่หัวเตียง ลื่นตกลงไปอยู่ใต้เตียง ไม่มีใครสนใจเลย เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีเอาเงินเยอะขนาดนั้นไปทิ้งไว้ใต้เตียง..!

    แล้วกระผม/อาตมภาพมาหมดความสนใจในเงินจริง ๆ ตอนที่ทำหน้าที่อยู่ที่วัดท่าซุง ได้รับมอบหมายให้ดูแลศาลาหลวงพ่อ ๔ องค์ที่เขามีการทุจริตกัน เมื่อเข้าไปกวาดล้างทุจริตเสร็จ ก็ปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ขอให้ทางคลังจังหวัดเขาเอาเงินเหรียญบาทมาให้ ๗๐,๐๐๐ เหรียญ เขายังถามว่า "เอาไปทำอะไรเยอะแยะ ?" งวดนั้น
    กระผม/อาตมภาพส่งคืนไปล้านกว่าบาท ขอ ๗๐,๐๐๐ คืนล้านกว่า ตั้งแต่นั้นมาขอเท่าไรก็ให้ตามนั้นหมด..!

    แต่คราวนี้ล้านกว่าบาทนี่ก็คือนับด้วยมือล้วน ๆ..! เนื่องเพราะว่าเครื่องนับสมัยก่อนเราจะต้องแยกเหรียญให้เขา ถ้าเป็นเหรียญผิดประเภท น้ำหนักผิดแม้แต่นิดเดียว เครื่องจะหยุดทำงาน แล้วให้เราไปคุ้ยหาว่าอยู่ตรงไหน ? กระผม/อาตมภาพก็เลยหมดอารมณ์ที่จะใช้ นั่งนับมือดีกว่า

    ทางด้านธนาคารเอากระสอบมาให้ ใส่ถุงละ ๔,๐๐๐ เหรียญ ท่านต้องเข้าใจนะว่าเหรียญในหลวงรัชกาลที่ ๙ ปี ๒๕๐๕ เหรียญใหญ่แค่ไหน ? ถุงละ ๔,๐๐๐ เหรียญ รู้แค่ว่ารถขนเงินของธนาคารที่มารับไปในวันรุ่งขึ้นนั้น วิ่งหน้าลอยไปเลย บรรทุกเหรียญไปล้านกว่าเหรียญ..!
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,537
    ค่าพลัง:
    +26,373
    แล้วด้วยความที่ว่าท่านอาจารย์สมปอง (พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ - สมปอง สุธมฺมสนฺตจิตฺโต) บอกว่า "ผมต้องไปเข้าเวรหน้าตึกหลวงพ่อ" แล้วก็วางมือไปเลย ส่วนอีตาชาติชาย (พระชาติชาย สุธมฺมธนปาโล) ที่เป็นลูกมือ นับให้ ๒๐๐ เหรียญ แล้วก็เผ่นไปอีกเหมือนกัน กระผม/อาตมภาพต้องนับอยู่คนเดียว ตั้งแต่ประมาณ ๔ โมงเย็น ไปเสร็จเอาตี ๒..! ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา "ขึ้นชื่อว่าเงิน มึงอย่ามาให้กูเห็นอีก..!" กูไม่สนเลย..เข็ด..! ดังนั้น..การที่เราจะไม่สนใจเรื่องข้าวของเงินทองเป็นเรื่องยาก พระพุทธเจ้าถึงได้ทรงห้ามเอาไว้

    แต่คราวนี้สิ่งที่พระองค์ท่านห้าม แม้ว่าจะมีพระบรมพุทธานุญาตว่า สิกขาบทใดที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ให้สงฆ์ทั้งหลายสวดเพิกถอนสิกขาบทนั้นได้ แต่ด้วยความที่พระเถระซึ่งสังคายนาพระธรรมวินัยทั้งหมด ท่านเป็นพระอรหันต์ มีจิตละเอียดมาก
    เรื่องเล็กแค่ไหนในสายตาพระอรหันต์ ถ้าเกี่ยวข้องด้วยพระธรรมวินัย เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น ก็เลยคงเอาไว้ทั้งหมด ไม่ถอนแม้แต่สิกขาบทเดียว ทั้ง ๆ ที่สมัยนี้เรื่องของเงินเป็นเรื่องจำเป็น พระเราก็เลยต้องหน้าด้านรับเงินไป ถึงเวลาก็มาปลงอาบัติกัน..!

    ถึงได้บอกว่า
    ญาติโยมอยากจะทำบุญกับพระที่ศีลบริสุทธิ์ แล้วพระที่ใจท่านจะไม่เกาะเงินเกาะทองจนกลายเป็นอาบัติ จะมีสักกี่รูป ? ก็เลยกลายเป็นว่าพอพระใหม่บวชออกมา ศีลบริสุทธิ์ เดินไม่ทันจะพ้นธรณีโบสถ์เลย โยมก็เอาเงินหย่อนใส่ย่ามไปแล้ว ขอให้มีความสุขความเจริญ..! ไอ้ที่ปรารภว่าเป็นเรื่องขำ ๆ สิ่งที่ญาติโยมเขาทำ บางทีก็ย้อนแย้งกับความต้องการของตนเอง

    ส่วนพระใหม่ของเราจึงต้องพยายามศึกษาในเรื่องของศีลพระ โดยเฉพาะอาบัติหนัก ๑๗ ข้อ ก็คือ ปาราชิก ๔ กับ สังฆาทิเสส ๑๓ เว้นให้ได้เด็ดขาด ส่วนอื่นเราพลาดบ้างก็แสดงอาบัติคืนไป พยายามที่จะรักษาให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าอยู่ต่อไป จะได้เป็นกำลังหลักของพระพุทธศาสนา สึกหาลาเพศไป บุญกุศลนี้ก็จะช่วยให้ทางชีวิตของเรากว้างขวางขึ้น ทำอะไรได้สะดวกขึ้น

    ส่วนไอ้ที่หวังจะ
    บวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่นั้น อย่าไปหวังมาก การทดแทนที่แท้จริง คือเราต้องศึกษาธรรมจนเข้าใจ แล้วนำไปสอนท่าน ส่วนอื่นทดแทนยากมาก แต่ก็ถือว่ายังตั้งใจดีที่เข้ามาบวช ส่วนวัตถุประสงค์ในการบวชเป็นอย่างไร ไม่ขอกล่าวถึง ทำให้ดีก็แล้วกัน

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...