หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนบทที่ ๗ พุทธานุสสติกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 2 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนบทที่ ๗ พุทธานุสสติกรรมฐาน
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๗
    ในเรื่องที่กล่าวถึงว่าการจะหนีจากนรกกัน
    แต่การหนีนรกบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ในตอนต้นๆได้พูดถึงรายละเอียดมาแล้ว
    ต่อนี้ไปเพื่อไม่ให้เป็นการเปลืองเวลา

    ก็ขอพูดย้ำสั้นๆ ว่า
    คติของบุคคลที่จะหนีนรกได้มี ๓ อย่างด้วยกันคือ

    ๑. มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า
    การเกิดมาคราวนี้ในที่สุด เราก็ต้องตาย
    แต่ทว่าความตายมีเวลาที่แน่นอนไม่ได้ หาไม่ได้แน่นอน
    อย่าคิดว่าแก่แล้วตายมัน ก็ไม่แน่อาจจะตายเสียวันนี้เลยก็ได้
    ไม่ประมาทในการทำความดี
    ตั้งใจว่าตายคราวนี้ไม่ขอไปอบายภูมิทั้ง ๔ แน่
    จุดที่จะไปมีจุดเดียวคือ พระนิพพาน ตั้งตรงไว้เลย
    หลังจากนั้นก็ยึด พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
    คือ ยอมรับนับถือด้วยความจริงใจ

    แล้วหลังจากนั้นอีกที่หนึ่ง ก็ย้อนเข้ามาด้านความดี
    ก็ คือ มีศีล ๕ เป็นปกติ ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้
    สมเด็จพระมหามุนี คือพระพุทธเจ้า ตรัสว่าทุกคนหนีนรกได้แน่
    แต่ก็ต้องระมัดระวังอารมณ์ คำว่า "อารมณ์"
    อย่าปล่อยให้อารมณ์ที่ไม่ดีเข้ามาเกี่ยวข้อง
    และความกังวลนิดหน่อยในเรื่องของความไม่ดี อย่าให้มีในใจ
    อย่างตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว
    ท่านไม่ได้ปรามาสพระไตรสรณคมน์ ท่านไม่ได้ละเมิดศีล
    แต่ว่าต้องไปอบายภูมิ เพราะจิตมีอารมณ์กลุ้มและหลงผิด
    ข้อนี้ก็ไม่ขอพูดย้อน เพราะว่าจะเป็นที่เบื่อหน่าย
    ของบรรดาท่านพุทธบริษัท

    ต่อไปนี้ก็จะขอนำเอาพุทธานุสติกรรมฐานมาคุยกัน
    เพราะว่าความคิดถึงความตาย
    ถ้าคิดอย่างเดียวเราจะต้องตาย หมดที่หมายในการจะพึงไป
    อย่างนี้อารมณ์เศร้ามันจะเกิด
    คนเราถ้าออกจากทีบ้าน ต้องมีจุดมุ่งหมายปลายทางเป็นที่ไป
    และก็สถานที่ไปนั้น ต้องดีกว่าที่เดิม ไม่ใช่ให้มันเลวกว่าที่เดิม
    ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ตายจากความเป็นคน
    จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสูรกายก็ดี
    เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี ทั้ง ๔ ประการนี้ไม่ดีทั้งหมด
    ถือว่าเป็นการขาดทุน
    เพราะการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี หรือการเกิดเป็นคนก็ตาม
    ความจริงคนกับมนุษย์นี่ไม่เหมือนกัน
    รูปร่างอย่างเดียวกัน แต่ว่าความรู้สึกของจิตใจไม่เท่ากัน

    "คน" นี่แปลว่า "ยุ่ง" คือ ไม่ยอมรับนับถือใครจริงๆ
    ไม่ยอมปฏิบัติในด้านของความดีจริงจัง
    อย่างที่จะรักษาศีล ก็รักษาไม่จริง
    ทำเป็นศีลหัวเต่าผลุบเข้าผลุบออก รักษาบ้าง ไม่รักษาบ้าง
    สิกขาบทแค่ ๕ ประการ ก็ถือว่าอย่างนั้นจำเป็น
    อย่างนี้จำเป็นแก่สังคม ถ้าปฏิบัติตามศีลก็ขาดสังคม
    คนในสังคมนั้นไม่คบหาสมาคม อย่างนี้ เข้าเรียกว่า "คน"

    สำหรับ "มนุษย์" แปลว่า "ใจสูง"
    คนนี่แปลว่ายุ่ง ถ้าปฏิบัติในศีลในธรรมไม่ได้ ก็มีแต่ยุ่ง
    สำหรับมนุษย์ แปลว่าใจสูง
    คนที่มีใจสูงคือมีกรรมบท ๑๐ ประการครบถ้วน
    คือ "มีทั้งศีลทั้งธรรมครบถ้วน ทางกายไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์
    ไม่ประพฤติผิดในกาม ทางวาจาไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด
    และไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดจาเหลวไหลไร้ประโยชน์
    ทางใจไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นใด
    ไม่คิดจองล้างจองผลาญใคร มีความเห็นตรงตามความจริง
    ยอมรับนับถือความจริง
    ที่เป็นเหตุบันดาลให้มีความสุขอารมณ์อย่างนี้ท่านเรียกว่ามนุษย์"
    ขอประทานอภัยเถอะบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ที่ท่านทั้งหลายกำลังฟังอยู่นี่
    ท่านลองวัดกำลังใจของท่านดูซิว่า
    เวลานี้นะท่านเป็นมนุษย์หรือว่าท่านเป็นคน
    หากว่าท่านเป็นคน ก็รู้สึกว่าความสุขของท่านยังน้อยเกินไป
    เมื่อกำลังใจของท่านเป็นมนุษย์
    ความสุขของท่านจะมีมากมายเหลือเกิน
    เกือบจะหาอารมณ์ของความทุกข์ไม่ได้
    เรื่องนี้ยังไม่พูดกัน ไม่ช้าไม่กี่วันก็ได้พบกัน

    วันนี้มาพูดกันถึง พุทธานุสสติกรรมฐาน
    แต่ว่าสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการ เมื่อใช้มรณานุสสติกรรมฐาน
    คือ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์แล้ว
    ต่อไปก็มี พุทธานุสสติ ธัมมนุสสติ สังฆานุสสติ กรรมฐาน
    คือ ๓ประการ แล้วก็มีสีลานุสสติขั้นสุดท้าย
    นี่เป็นเรื่องคุยความจำเป็นจริงๆ

    วันนี้ขอพูดเรื่อง พุทธานุสสติกรรมฐาน
    แต่ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและท่านผู้ฟังทั้งหลาย
    ได้โปรดทราบว่า การตัดสังโยชน์
    พระพุทธเจ้าบอกว่า สังโยชน์ ๓ประการนั้น ไม่มีอะไรหนัก
    เป็นของเบาๆ ฉะนั้นการปฏิบัติส่วนนี้จึงปฏิบัติกันด้านเบาๆ
    สำหรับท่านที่นิยมของหนักได้โปรดทราบ
    ต้องขออภัยท่านด้วยบางทีท่านอาจจะคิดว่า
    พระวัดท่าซุงมีแต่ความเกียจคร้าน ปฏิบัติเบาๆ แบบขี้เกียจ
    อันนี้ก็ขอยอมรับ ถ้าคนขี้เกียจแล้วได้เงินมากๆ
    ทำงานเบาๆ ได้เงินมากๆ อย่างนี้ก็ดี
    ก็เหมือนกับการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแบบเบาๆ แต่ว่าได้ผลดี
    อย่างนี้ใช้ได้ ก็พอใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    "พระโสดาบัน กับพระสกิทาคามี
    เป็นผู้มีสมาธิเล็กน้อย แต่มีศีลบริสุทธิ์"

    ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ อาตมาเองบวชมาจากพระไตรปิฎก
    ในเมื่อทางพระไตรปิฎกท่านบอกเบาๆ ก็ปฏิบัติเบาๆ
    ไม่ยอมฝืนพระไตรปิฎก ท่านทั้งหลายจะหาว่าโง่เง่าเต่าตุ่นก็ช่าง
    เห็นว่าการบวช หรือการปฏิบัติตามพระไตรปิฎกเป็นคนโง่
    ก็ต้องถือว่าพระไตรปิฎกสอนให้โง่
    แต่ถ้าคนโง่ตามพระไตรปิฎกท่านไปนิพพานกันนับไม่ถ้วนแล้ว
    จึงขอยอมโง่ตามนี้

    มาว่าถึง พุทธานุสสติกรรมฐาน การยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
    ความจริงคำว่า "อนุสสติ" นี่แปลว่า "ตามนึกถึง" ไม่ต้องใช้กำลังมาก
    ถ้าบรรดาพุทธบริษัท สามารถทรงกำลังใจได้
    ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ
    ความจริงการยอมรับนับถือนี่ ต้องปฏิบัติตามนะ
    ข้อนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลายผู้รับฟัง จงอย่าลืม
    การใช้คำว่า เคารพนับถือ แต่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งกันและกัน
    เขาถือว่าโกหกกันอย่างนี้ฟังง่ายดี

    อย่างลูกบอกว่ายอมรับนับถือพ่อแม่เหลือเกิน
    ศิษย์ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์จริงๆ แต่ว่าพ่อแม่สอนอะไร
    ห้ามอะไรลูกก็ไม่เชื่อฟัง
    ครูบาอาจารย์สอนแบบไหน ลูกศิษย์ไม่ยอมเชื่อฟัง
    อย่างนี้เขาไม่ใช่เรียกคนนับถือกัน
    เขาเรียก "คนอกตัญญูไม่รู้คุณคน" อย่างนี้สบายใจไหม
    บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท

    ถ้าจะไปว่าใครให้นึกถึงใครก็ต้องนึกดูก่อน
    ว่าคนที่ไม่ยอมปฏิบัติตามพระธรรมวินัยคำว่า "วินัย"
    คือ ข้อห้ามที่ได้แก่ ศีล
    "พระธรรม" คือ การแนะนำให้ปฏิบัติในด้านของความดี
    ต้องดูว่าท่านผู้นั้นท่านอยู่ในสังกัดของพระพุทธศาสนาหรือปล่าว

    ถ้าท่านผู้นั้นไม่อยู๋ในสังกัดพระพุทธศาสนา
    ก็จะหาว่าท่านไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
    หรือว่าเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน อย่างนี้ไม่ได้
    เมื่อท่านไม่ใช่ลูกศิษย์ลูกหา
    ท่านไม่ได้อาศัยพระพุทธเจ้าในความเป็นอยู่
    เว้นไว้แต่นักบวชอย่างอาตมา
    นักบวชแบบอาตมานี่โกนหัว โกนคิ้ว ห่มผ้าเหลือง
    แล้วก็อยู่วัดอยู่วา ความเป็นอยู่ไม่มีอาชีพแน่นอนสำหรับตัวเอง
    ไม่สามารถประกอบอาชีพได้
    อาศัยความเป็นอยู่จากบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
    เลี้ยงข้าวปลาอาหารท่านก็เลี้ยง ที่อยู่ท่านก็ให้
    ยารักษาโรคท่านก็ซื้อให้ ผ้าผ่อนท่อนสไบญาติโยมก็ให้ทั้งหมด
    ที่เป็นอย่างนี้เพราะญาติโยมพุทธบริษัทคิดว่า
    อาตมาเป็นผู้ที่เคารพในองค์สมเด็จพระบรมสุคต คือ พระพุทธเจ้า
    ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านทุกอย่าง
    ถ้าบังเอิญอาตมาไปพลิกล๊อก ก็หมายความว่า ไปฝ่าฝืนคำสั่งสอน
    ของพระพุทธเจ้า และโกหกบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
    ว่าอาตมานี่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ท่านที่มีความเคารพพระพุทธเจ้า ก็เลยให้โน่นให้นี่ตามที่กล่าวมาแล้ว
    อย่างนี้ว่า เป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน
    คือ อกตัญญูไม่รู้คุณพระพุทธเจ้า
    เพราะได้กินอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ
    ถ้าไม่ได้อาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์
    ก็ไม่มีอะไรจะกิน จะใช้คนที่นับถือพระพุทธเจ้า เขาก็ไม่ให้กินไม่ให้ใช้

    อันดับแรกเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณพระพุทธเจ้าก่อน
    ทีนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายผู้ให้
    ก็ถือว่า ท่านเป็นผู้มีพระคุณตอนคนหลอกลวงทาน
    เป็นคนหลอกลวงประชาชน คือ พุทธศาสนิกชน
    เรียกว่า ประชาชนไม่ได้
    ประชาชนนี่ หมายถึงว่า คนจะนับถือศาสนาอะไรก็เป็นประชาชนทั้งหมด
    ต้องโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนคนที่นับถือพระพุทธศาสนา
    หลังจากนั้นมาก็อกตัญญูไม่รู้คุณท่าน
    ที่ท่านให้กินท่านเลี้ยงดูจนมีความสุขมีชีวิตอยู่
    กับอกตัญญูในตัวท่าน โดยบอกกับท่านว่า
    ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    แต่เนื้อแท้จริงๆ ไม่มีอะไรเหลือเลย ก็ต้องถือว่าเป็นคนเลว

    นี่เป็นการยอมรับนับถือ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ต้องนับถือกันด้วยความจริงใจเป็นส่วนตัวด้วย
    และก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านด้วย
    สิ่งใดที่ท่านห้ามว่าไม่ดีอย่าทำ
    สิ่งใดที่ท่านแนะนำว่าอย่างนี้ นี่เป็นจุดของความสุข จงทำ
    เราทำ อย่างนี้ถือว่านับถือพระพุทธเจ้าจริง
    แต่ว่าการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ทั้งในด้านศีลก็ดี ในด้านธรรมก็ดี
    คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่มีถึง ๘,๔๐๐๐ หัวข้อ
    ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาปฏิบัติทั้งหมด
    เลือกเอาเฉพาะว่าสิ่งไหนที่พอจะปฏิบัติได้ เราก็ทำอย่างนั้น
    อย่าปฏิบัติเกินกำลัง และตั้งใจปฏิบัติด้วย ความจริงจัง
    อย่างนี้ถือว่านับถือพระพุทธเจ้า
    ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ ถือว่าหนึ่งในพุทธานุสติกรรมฐาน
    ถือว่ามีความระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าจริง
    มีการยอมรับรับนับถือพระพุทธเจ้าจริง

    มีคำสั่งสอนตอนหนึ่งที่เรียกว่า เป็นตอนต้นเรื่องก็ได้
    ตามบาลีว่า "สัมพะปา ปัสสะ อะกะระณัง"
    พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ท่านทั้งหลายจงอย่าทำความชั่วทุกอย่าง
    "กุสลัสสูปสัมทา" จงทำแต่ความดี "สจิตตะปรโยทะปะนัง"
    จงทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส "เอตัง พุทธานะสาสะนัง"
    พระองค์ทรงยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด

    เราต้องจับจุดขั้นแรกว่า สิ่งใดที่พระองค์ทรงห้าม นั่นคือ การละเมิดศีล
    สิ่งใดที่ทรงแนะนำให้ทำ คือ ปฏิบัติตามศีล
    สิ่งใดที่ทำให้จิตผ่องใส คือ ทำให้จิตว่างจากนิวรณ์ อันดับแรกนะ
    แล้วก็เจริญสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา
    สำหรับสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี มีมากเหลือเกิน
    มีมากด้วยกันมาก แต่ก็จับจุดเฉพาะ
    วันนี้มาจับเอาเฉพาะพุทธานุสติกรรมฐาน

    คำว่า "พุทธานุสติกรรมฐาน" แปลว่า "ตามนึกถึงพระพุทธเจ้า
    และตามนึกถึงถึงความดีของพระพุทธเจ้า"
    การปฏิบัติให้จิตว่างจากนิวรณ์
    จิตมีสมาธิ มีอารมณ์สะอาด ก็ต้องไม่ทำอะไรมาก
    ไม่ต้องต้องทำอะไรหนัก
    เพราะการตัดสังโยชน์ ๓ ประการ ไม่มีอารมณ์หนัก

    แต่การว่าอารมณ์ของคนมี ๒ อย่าง
    บรรดาท่านพุทธบริษัทอย่างที่ ๑ ชอบคิด
    อย่างที่ ๒ จิตขอบทรงตัวคือเฉยๆ
    อาการ ๒ อย่างนี่มีกันทุกคน ในขณะใดภ้ากำลังใจเราชอบคิด
    และก็นั่งนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า
    อันนี้พระพุทธเจ้าท่านมีรูปร่างอย่างไง มีความดีดีอย่างไง
    ถ้าคิดถึงความดี บางทีท่านทั้งหลายจะนึกไม่ออกว่า
    โอ้โฮ ความดีของพระพุทธเจ้านี่เยอะแยะมาก
    จะเอาตรงไหนกันดี ก็บอกแล้วว่าการตัดสังโยชน์ ๓ ประการ นี่เบามาก
    ใช้อารมณ์เบาๆ สำหรับท่านที่ไม่ได้ทิพจักขุญาณ
    หรือไม่ได้มโนมยิทธิ คำว่าทิพจักขุญาณเป็นหลักสูตรวิชชสาม
    ถ้ามโนมยิทธิเป็นหลักสูตรของอภิญญา
    เวลานี้คนได้กันนับแสน อาตมาก็ปลื้มใจ ท่านที่ได้อย่างนี้แล้ว
    ก็ไม่ต้องนึกเฉยๆ ใช้กำลังความเป็นทิพย์ของจิต
    จะพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆเลย
    จะเอาพระรูปพระโฉมตอนที่พระพุทธเจ้าเป็นหนุ่ม
    สมัยที่ทรงพระชนม์อยู่หรือว่าสมัยกลางคน
    สมัยเป็นคนแก่ใกล้นิพพานไปแล้วก็ได้นะ
    ทำจิตให้เป็นสุข มีจิตใจรื่นเริงความทุกข์ความกังวลไม่มีอารมณ์ก็เบา

    แต่สำหรับท่านที่ไม่ได้ทิพจักขุญาณ และก็ไม่ได้มโนมยิทธิ
    ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอภิญญา ก็ใช้กำลังจิตคิด
    คือ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูป หรือว่าท่านจะหลับตาก็ได้
    หลับตานึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราชอบมากที่สุด
    จะเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่วัดไหนหรือสถานที่ใดก็ได้
    ไม่ห้ามทั้งหมด นึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้น
    ทำใจให้สบาย นึกวาดภาพตั้งใจ
    เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้นั่งแบบไหน สีอะไร
    หน้าตายิ้มแย้มแบบไหน ทรงอะไรก็ตาม
    ปางไหนอะไรก็ตามเอากันแค่แบบสบายๆ ใจ

    ถ้านึกถึงภาพอย่างนี้จิตเป็นสุข
    ภาพพระพุทธรูปที่อยู่ไกลนึกไม่ออก
    ก็นั่งดูพระพุทธรูปองค์ที่อยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องหลับตาก็ได้
    หรือลืมตาดู จำภาพพระพุทธรูป
    แล้วก็หลับตานึกถึงก็ได้ เอากันแค่สบายใจ

    สมมติถ้านั่งหลับตาอารมณ์จิตฟุ้ง
    แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้นนะ
    ถ้าจิตมันฟุ้งอยู่แล้ว ถ้าหลับตามันจะฟุ้งมาก
    ถ้าหลับตาไม่ฟุ้งก็หลับตา ลืมตาดูภาพพระพุทธรูป
    และก็หลับตานึกถึงพระพุทธรูป ว่าท่านนั่งท่าไหน ท่านสีอะไร
    ไอ้การที่เขาทำทำแบบไหน
    ถ้าแบบนี้อารมณ์ฟุ้งเกินไป ก็ลืมตา
    ลืมตามองดูพระพุทธรูปด้วยความเคารพ
    ดูหน้าตาท่านยิ้มแย้มแจ่มใสดี มีจิตใจสดชื่น
    ขณะที่จิตยังพอใจอยู่กับพระพุทธรูปเวลานั้น
    จิตว่างจากกิเลส และจิตว่างจากกิเลส และจิตก็ว่างจากนิวรณ์
    เมื่อจิตว่างจากกิเลส จิตว่างจากนิวรณ์ จิตก็มีอารมณ์เป็นสุข
    ท่านว่า "สมาธิ" เพราะคำว่า "สมาธิ" แปลว่า "ตั้งใจ"
    จิตตั้งใจดูพระพุทธรูป จะดูส่วนไหนก็ตาม ชอบส่วนไหนดูส่วนนั้น
    จิตใจคิดตามไปด้วยก็ได้ อย่างนี้เป็น พุทธนุสสติกรรมฐานแบบคิด

    ทีนี้ถ้ามีอาการแบบทรงตัว การทรงตัวนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ท่านให้ใช้คำว่าภาวนาและลมหายใจควบ
    คือ คำภาวนาส่วนใหญ่ที่นิยมกันใช้คำว่า "พุทโธ"
    แต่ความจริงคำภาวนา ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว
    จะภาวนาว่าอย่างไรก็ตามก็เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานหมือนกัน

    อันดับแรกใช้คำภาวนาควบกับลมหายใจ
    คือ เวลาหายใจเข้านึกตามว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกตามว่า "โธ"
    และการหายใจนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    อย่าบังคับลมหายใจ ปล่อยให้ร่างกายหายใจตามปกติ
    จะหายใจสั้น หายใจยาว หายใจหนัก หายใจเบา
    เป็นเรื่องของร่างกาย เพียงแต่เอาจิตเข้าไปรับทราบลมหายใจเท่านั้น
    การที่เอาจิตเข้าไปรับทราบลมหายใจเข้าลมหายใจออก
    อย่างนี้มีชื่อเรียกว่า มีสมาธิในอานาปานุสสติกรรมฐาน
    คือ มีสมาธิในเรื่องของลมหายใจ
    ถ้าจิตจะรู้ลมเข้าลมออกอยู่ เวลานั้นจิตจะว่างจากกิเลส
    จิตก็ว่างจากนิวรณ์ มีอารมณ์เป็นสมาธิ
    หรือต่อไปถ้าเรานึกถึงลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว
    คิดว่าอาจจะได้บุญน้อยไป การนึกถึงพระพุทธเจ้าน้อยไป
    อานิสงส์จะน้อยก็ใช้คำภาวนาควบคู่
    หรือเวลาหายใจเข้านึกตามว่า "พุท"
    เวลาหายใจออกนึกตามว่า "โธ"

    ทำไปเรื่อยๆ ทำแบบใจสบายๆ ทำแค่อารมณ์ใจเป็นสุข
    อย่าตั้งเวลาแน่นอน เพราะเวลานี้เป็นขั้นการฝึก
    ถ้าตั้งเวลาว่าต้องการ ๑๐ นาทีบ้าง ๒๐ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง
    อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นจะเอาดีไม่ได้
    ถ้าจิตเริ่มฟุ้งซ่าน ถือเวลาอยู่ก็จะมีอาการกลุ้ม
    แทนที่จะได้ผลดีกลับได้ผลร้าย
    ถ้าจะถามว่าการปฏิบัติเอาเวลาเท่าไร
    ก็ตอบว่าถ้าใหม่ๆ ไม่ควรจะใช้เวลามากเลย
    ใช้แค่อารมณ์เป็นสุข ขณะใดถ้ายังรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่
    รู้คำภาวนาอยู่ ไม่มีอารมณ์อื่นแทรก จิตเป็นสุขใช้ได้

    แต่ทว่าการภาวนาก็ดี รู้ลมหายใจเข้าออกก็ดี
    เราจะบังคับให้จิตรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก
    กับคำภาวนาตลอดเวลาที่เราต้องการนั้นไม่ได้
    ทั้งนี้เพราะอะไร ? เพราะจิตมีสภาพคิด
    จิตนี่ชอบคิดนอกเรื่องนอกราวมาตลอดกาลตลอดสมัย
    คิดมาอย่างนี้มาหลายอสงไขยกัป
    แล้วก็จะมานั่งบังคับว่าเวลานี้ จิตจงรู้เฉพาะลมหายใจเข้าลมหายใจออก
    จงรู้เฉพาะคำภาวนา อาจจะทรงตัวอยู่ได้สักนาทีสองนาทีอย่างมาก
    ประเดี๋ยวจิตก็คิดโน่นบ้างคิดนี้บ้าง ที่เรียกว่าอารมณ์ฟุ้ง
    ต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
    ถ้าเรารู้ตัวว่านี่ซ่านออกนอกลูกนอกทางไปแล้ว
    เราก็หวนกลับมาเริ่มต้นจับใหม่
    เอาใจเข้าไปรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วภาวนาตาม
    หายใจเข้านึก "พุท" หายใจออกนึก "โธ" อย่างนี้ใช้ได้ สลับกันไปสลับกันมา

    แต่ปรากฏว่า ถ้าอารมณ์เริ่มจะซ่านทนไม่ไหว
    เกิดมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ลมหายใจก็ไม่เอา คำภาวนาก็ไม่เอา อย่างนี้จะทำยังไง ?

    การแก้อารมณ์ฟุ้งซ่านของ พระพุทธโฆษาจารย์
    ในวิสุทธิมรรคมีอยู่ ๒ อย่าง

    ถ้าซ่านเกินไป บังคับไม่อยู่ ให้เลิกเสียเลย
    เลิกเลย ปล่อยใจตามสบาย
    จะไปดูหนัง ดูละคร ดูโทรทัศน์ นั่งโขกหมากรุก
    ชาวบ้านคงไม่เล่นหมากรุกหรอกมั้ง
    เอ้าไม่เล่นหมากรุกก็อย่าเพิ่งไปเล่นไพ่ก็แล้วกัน
    เล่นไพ่เพลินไปตำรวจจะจับจะเสียสตางค์
    จะร้องเพลงอย่างไงก็ช่าง
    จะมานั่งนึกว่า เอ... ใช้เวลานิดหน่อยทำความดี
    เราปล่อยความฟุ้งซ่านมากเกินไป
    เพราะอารมณ์ใจมันเป็นความชั่ว มันก็ไม่แน่นัก
    ถ้าความดีถ้าเราฝืนนะ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    มันจะกลายเป็นอารมณ์ร้าย ถ้าฟุ้งซ่านมากเกินไป บังคับไม่อยู่
    เราก็ต้องการบังคับมันไม่อยู่ตามที่เราต้องการ ความกลุ้มก็จะเกิด
    ในตอนนี้แหละ โรคประสาทจะเกิดแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ที่เขาบอกว่าทำสมาธิแล้วบ้า
    ทำสมาธิแล้วบ้าเพราะใช้อารมณ์แบบนี้

    บางท่านพออารมณ์ดีขึ้นมาบ้างถึงปีติไม่อยากพัก ไม่อยากผ่อน
    ไม่อยากนอน ไม่อยากกิน อย่างนี้ก็เป็นโรคเส้นประสาท
    ขัดคำสั่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    แต่ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
    จงละส่วนล่างสุด ๒ อย่าง คือ
    ๑. อัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายทรมานใจ
    ๒. กามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อนเกินไป หรืออยากได้เกินไป

    อารมณ์ฟุ้ง ต้องใช้ มัชฌิมาปฏิปทา
    คือ อารมณ์พอสบาย เราก็ทำแค่สบาย
    เมื่อมันไม่สบายเราก็เลิก เวลาใหม่ทำกันใหม่
    โดยเฉพาะเราทำแค่กำไร ไม่ใช่ทำขาดทุน
    ถ้าเราไม่ต้องการจะเลิก พระพุทธเจ้าแนะนำตามนี้
    อาตมาเคยปฏิบัติตาม ท่านบอกว่าให้คิดไป
    มันอยากจะคิดอะไรเชิญคิดไปเหมือนคนฝึกม้าพยศ
    ม้าพยศ ถ้าฝึกไม่ได้ มันวิ่งออกนอกทางก็กอดคอมันเลย
    มันจะวิ่งไปไหนปล่อยวิ่งไป
    พอหมดแรงเมื่อไหร่ เราลากเข้าเส้นทางบังคับมันจะตามใจเรา
    ข้อนี้ฉันใด ถ้ากำลังใจฟุ้งซ่าน บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ปล่อยเลยคิดตามสบาย อาตมาเคยพิสูจน์
    มันจะคิดไปอย่างนานไม่เกิน ๑๕ นาที
    พอกลับเข้ามาอีกทีมันหยุดคิด
    ตอนนี้จับ อานาปานุสติ คือ ลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนา
    มันจะทรงตัวแนบนิ่งดีมาก อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
    หรือว่าถ้าฉลาดในการทรงสมาธิมันก็ไม่หนักนัก

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    สัญญาณบอกหมดเวลาปรากฏแล้ว ก็จำเป็นต้องลาก่อน
    สำหรับวันนี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี
     

แชร์หน้านี้

Loading...