ศรัทธาที่สำคัญที่สุด คือ ตถาคตโพธิสัทธา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 5 มิถุนายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    IMG_0193.jpeg

    คราวนี้ศรัทธาความเชื่อสำหรับพวกเรานั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ตถาคตโพธิสัทธา ความเชื่อมั่นในการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากว่าเราศึกษาในพระไตรปิฎก แล้วปฏิบัติจนเข้าถึงธรรมในบางส่วน จะเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันของหลักธรรมทั้งหมด โดยที่ไม่มีส่วนแย้งกันเลย ตรงจุดนี้จะได้เห็นอัจฉริยภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ท่านตรัสรู้หลักธรรมจริง ๆ และในขณะเดียวกัน สิ่งที่นำมาสอนพวกเรา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นแค่ "ใบไม้กำมือเดียว" ด้วย แล้วใบไม้ทั้งป่าของพระองค์ท่านจะขนาดไหน ?

    แต่พระองค์ท่าน ไม่ได้สอนให้เราศรัทธาพระองค์ท่านโดยตรง พระองค์ท่านสอนว่ากัมมสัทธา ให้เราเชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

    วิปากสัทธา เชื่อการส่งผลของกรรม ก็คือถ้าคุณทำมาก็เจอแน่ ๆ ทำดีก็ได้ดีไป ทำไม่ดีก็ได้ชั่วไป

    กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อในความมีกรรมเป็นของตน ใครทำคนนั้นก็รับผลไป และท้ายที่สุดคือตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีบอกว่าให้เชื่อพระองค์ท่านเลย แม้กระทั่งบางพระสูตรอย่างเกสปุตตสูตร ยังบอกว่า อย่าเชื่อแม้สมณะนี้เป็นครูของเรา ก็คือมา สมโณ โน ครูติ

    แล้วเราจะเกิดศรัทธาขึ้นได้อย่างไร ? ศรัทธาเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ ประการแรก...มีประสบการณ์ตรง อย่างเช่นว่าปฏิบัติธรรมแล้วเกิดผล หรือใช้วัตถุมงคลแล้วมีประสบการณ์ขึ้น อย่างนี้ เป็นต้น ศรัทธาประการที่สองก็คือ เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง ถ้าประเภทนั้น ตีก็ไม่ไป ไล่ก็ไม่หนี เพราะว่าเกิดผลกับตนเองแล้ว

    คราวนี้อยู่ที่พวกเราว่า อันดับแรกเลยก็คือ ถ้าไปหวังผลของประสบการณ์ต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น..เราต้องตั้งเป้าเอาไว้ว่าการปฏิบัติธรรมของเราต้องทำให้เกิดผล ไม่เช่นนั้นแล้ว เราเองก็ได้แต่ "คิดว่า คาดว่า" ก็คือ คาดเดาเอาโดยตรรกะธรรมดา ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้ไม่ได้กับหลักธรรม

    เพราะว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เวลาเราปฏิบัติเข้าถึงแล้วเป็น "ปัจจัตตัง" เป็นเครื่องรู้เฉพาะตน ภาษาคนหรือภาษาหนังสือไม่สามารถที่จะสื่อถึงความละเอียดชัดเจนได้ เป็นการรู้อยู่แก่ใจ สิ่งที่เรารู้ แม้เพียงเล็กน้อย แต่บางทีถ้าอธิบายเป็นภาษามนุษย์ก็พูดจนคอแห้ง หรือว่าถ้าเขียนเป็นหนังสือ ก็อาจจะหลายหน้ากระดาษ แล้วก็ไม่ชัดเจนอีกด้วย

    อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบเทียบว่า แค่คำว่า "สุข" ในการปฏิบัติธรรม ที่ยังไม่ถึงปฐมฌานเลย กำลังของอุปจารสมาธิขั้นปลายสามารถกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงชั่วคราว ไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ที่เผาเราอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ก็ดับลงไป สบายอย่างไรบอกไม่ถูก มีความสุขอย่างไร พูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้

    ดังนั้น...ศรัทธาจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง อย่างน้อยเราต้องปฏิบัติธรรมให้เกิดผล โดยเฉพาะถ้าเกิดปีติแล้ว ตรงนี้ต้องระวัง เหมือนอย่างกับกำลังใจท่วมท้น ไหลมาเทมา บางทีเราก็ทำหามรุ่งหามค่ำ ไม่พักไม่ผ่อน ไม่กินไม่นอนไปเลย แล้วร่างกายทนไม่ไหวก็เจ๊ง..! เกิดอาการจิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก ยุ่งไปหมด

    ดังนั้น...ในส่วนที่ต้องระวังก็คือทางสายกลางที่เหมาะสมกับพวกเรา ซึ่งกระผม/อาตมภาพบอกไปหลายครั้งแล้วว่า ทางสายกลางไม่มีมาตรฐาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ความพอดีขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังบารมี ที่สั่งสมมามากน้อยต่างกัน ความพอดีของทางสายกลางจึงต่างกัน

    เราต้องหาทางสายกลางเฉพาะตนของเราให้ได้ แต่ว่าอย่างต่ำที่สุดต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าเป็นเพศภาวะของสามเณรก็คือศีล ๑๐ ถ้าเป็นพระภิกษุก็ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ ศีล ๒๒๗

    เมื่อประคับประคองศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ยังต้องทำความเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าหรือว่าลับหลัง เป็นความเคารพที่ออกจากใจมาจริง ๆ เพราะเห็นคุณเห็นประโยชน์ และท้ายที่สุด มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย กำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจนว่า ตายแล้วเราจะไปพระนิพพานที่เดียว

    ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรักษาอารมณ์ใจนี้เอาไว้ได้ โอกาสถอยหลังไม่มี ถ้าตราบใดที่ยังรักษาอารมณ์ใจเช่นนี้ไว้ไม่ได้ ยังไม่ถือว่าปฏิบัติจนเกิดผล มีบางท่านที่สามารถเห็นตรงจุดนี้แล้ว แต่ยังไม่มั่นคง

    การมองเห็นตรงจุดนี้ ถ้าเป็นภาษานักปฏิบัติ เขาเรียกว่ามรรค ก็คือเห็นทางชัดเจนแล้ว เหลือแต่ผล ก็คือจะไปถึงปลายทางเมื่อไร ถ้าหากอย่างที่อรรถกถาจารย์เปรียบเทียบไว้ ก็คือ เหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งก้าวข้ามลำธารเล็ก ๆ เท้าหนึ่งไปอยู่ฝั่งโน้น อีกเท้าหนึ่งยังเหยียบฝั่งนี้ รอแค่ชักเท้าหลังก้าวตามเท้าหน้าไปก็เป็นผลแล้ว

    ดังนั้น...ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตาเราเห็น หูเราได้ยิน จมูกเราได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิด ต้องให้เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวเป็นตนได้ ถ้าสามารถเห็นอย่างนี้ได้มากเท่าไร ความยึดมั่นถือมั่นจะน้อยเท่านั้น แล้วท้ายที่สุดก็ปล่อย วาง สลัด ตัด ละ หลุดออกจากวงจรการเวียนว่ายตายเกิดไปได้

    ดังนั้น...การที่ศรเพชร ศรสุพรรณ หรือว่าไวพจน์ เพชรสุพรรณเสียชีวิตลงก็ดี ถือว่าเป็นไปตามปกติของโลก ก็คือความไม่เที่ยง ไปสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ญาติพี่น้อง หรือผู้ที่เคารพนับถือ ตลอดจนกระทั่งมิตรรักแฟนเพลง

    แต่ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าไปยึดถือในตัวในตน ก็เห็นชัด ๆ อยู่แล้วว่ายึดไม่ได้ ท้ายสุดก็โดนเผา อย่างเก่งก็เหลืออัฐิอยู่กองหนึ่ง นาน ๆ ไป แม้กระทั่งอัฐิที่เก็บไว้ก็ผุพัง สลายตัวไป ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นได้เลย

    ถ้าเราสามารถมองเห็นในลักษณะอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ก็ตั้งเป้าไว้เลยว่าตายเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ถ้ารักษากำลังใจเช่นนี้เอาไว้ เช้าสัก ๑ รอบ เย็น ๑ รอบ ไม่ต้องมาก ๕ นาที ๑๐ นาทีก็พอ ตายจากชาตินี้ ท่านทั้งหลายก็สามารถไปพระนิพพานได้

    จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    ที่มา : www.watthakhanun.com

    #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #หลวงพ่อเล็ก
    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนา #watthakhanun
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...