บทความให้กำลังใจ(คนดีและความดี : ดีอย่างไรไม่เกิดโทษ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ฝึกจิตเพื่อชีวิตที่ผาสุก
    พระไพศาล วิสาโล
    มีนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจ ต้องผ่าตัด เมื่อเธอขึ้นไปบนเตียงผ่าตัดแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้สั่งเสียธุระเรื่องหนึ่งกับลูกน้อง เป็นเรื่องสำคัญเสียด้วย ต้องรีบสั่งเสีย เพราะไม่รู้ว่าการผ่าตัดครั้งนี้เธอจะรอดหรือไม่ ความวิตกกังวลทำให้เธอไม่ยอมสลบทั้ง ๆ ที่หมอวางยาสลบแล้ว ยาสลบทำอะไรเธอไม่ได้เลย หมอก็แปลกใจว่าทำไมไม่สลบ จนกระทั่งเธอขอยืมโทรศัพท์มือถือจากหมอ พอสั่งเสียลูกน้องจนเสร็จ เธอก็สลบไปเลย แล้วก็ผ่าตัดได้สำเร็จเรียบร้อย

    ถ้าจิตของคนเรามีความกังวล ไม่ปล่อย ไม่วาง บางครั้งยาก็เอาไม่อยู่ ร่างกายจะตื่นอยู่ตลอดเวลา แต่พอเสร็จธุระ ความกังวลหมดไป กายก็สลบ ชี้ให้เห็นว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

    ถ้าหากว่าเราไม่หมั่นฝึกจิต หรือดูแลใส่ใจจิตของเรา จิตก็สามารถที่จะอาละวาด หรือซ้ำเติมเราได้ เพราะมันมีพลัง อะไรก็ไม่สามารถต้านทานได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเราฝึกใจให้ดี ก็อาจทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้เหมือนกัน

    คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญโรคไตของศิริราช ท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ท่านเล่าว่ามีคนไข้อยู่คนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง(SLE) คือภูมิต้านทานมันทำอวัยวะตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่าร่างกายไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ตอนอายุสิบสองเคยถูกหมอคนหนึ่งฉีดยาที่ไขสันหลัง หมอคงมือหนัก และอาจจะไม่มีจิตวิทยา ทำให้เด็กเจ็บมาก เจ็บจนเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยา ถึงกับด่าหมอและร้องกรี๊ดจนชัก เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง บางครั้งก็หมดสติไปเลย ต่อมาแม่พาเธอไปรักษาที่ศิริราช ได้รู้จักกับคุณหมอสุมาลี คุณหมอพูดคุยกับเธอ จนเกิดความคุ้นเคย เช่น ไต่ถามเธอว่าร้องไห้เรื่องอะไร โกรธใคร มีเรื่องเครียดหรือไม่ เวลาเด็กตอบว่าฝันร้าย คุณหมอก็ให้เด็กวาดรูปให้ดู สิ่งที่คุณหมอทำคือช่วยให้เด็กกลับมาดูความรู้สึกของตัว และเข้าใจความกลัวของตัว

    พอเธอโตขึ้นคุณหมอก็สอนวิธีเดินจงกรม แล้วพาไปเข้าคอร์สเจริญสติ หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกดีขึ้น ไม่เครียด ความดันไม่ขึ้น และไม่กลัวเข็มฉีดยา เวลาฟอกไต ต้องใช้เข็มขนาดใหญ่กว่าตะปู เธอก็นิ่งมาก มองเข็มโดยไม่มีอาการอะไร แถมยังกำหนดลมหายใจจนหลับไป จากเด็กที่กลัวเข็มจนเป็นลม ตอนหลังก็สามารถดูเข็มฉีดยาแทงเข้าร่างกายตัวเองได้

    เมื่อถึงวันที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไต ปรากฏว่าเธอแพ้ยาระงับปวดอย่างหนักจนอาเจียน แผลระบม หมอไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่เธอบอกว่า ไม่เป็นไรหมอ ขอยาพาราหนึ่งเม็ด เธอกินพาราเสร็จก็กำหนดลมหายใจเข้าออกจนหลับไป ปรากฏว่าหมอสามารถผ่าตัดต่อไปได้จนสำเร็จ โดยไม่มีเสียงร้องเจ็บจากเธอเลย หมออัศจรรย์ใจมาก กลายเป็นกรณีศึกษาว่าอำนาจจิตมีพลังมาก ถ้าใช้ให้เป็น ก็สามารถช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บปวดได้ โดยไม่มีอาการทุกข์ทรมาน

    จิตนั้นมีพลังมาก อยู่ที่ว่าเราจะใช้ไปทางไหน ถ้าปล่อยจิตให้จมอยู่กับความกลัว ความตื่นตระหนก มันก็สามารถทำให้เราตายได้ง่าย ๆ เพราะว่าร่างกายแย่ลงจนไม่ทำงาน ถ้ามีความกังวล ยาก็เอาไม่อยู่ แต่ถ้ามีความสงบ มีสมาธิ มีสติ กายเจ็บแค่ไหน จิตก็เอาอยู่ จิตนั้นมีพลัง สามารถทำให้กายซึ่งท้อแท้หรือปวกเปียก กลับมามีพลังขึ้นมาได้

    เมื่อสักประมาณเจ็ดสิบปีก่อน มีนักบินชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ขับเครื่องบินตกแถวเทือกเขาแอนดิส แถวละตินอเมริกา เป็นภูเขาสูง มีหิมะปกคลุมตลอดเทือกเขา นักบินคนนี้รอดตาย แต่ต้องกระเสือกกระสนเดินฝ่าหิมะเป็นเวลาสามวันสามคืน แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววของผู้คนหรือชุมชน เขาเหนื่อยล้าเต็มที แต่ก็รู้ว่าถ้าหยุดเดินเมื่อไรจะต้องตายแน่ ๆ เขาจึงพยายามรวบรวมกำลัง เดินไปให้ได้ไกลที่สุด พอเดินไปได้พักใหญ่ก็หมดแรง คิดว่าตายแน่ เขาทำใจไว้แล้วว่าจะต้องตาย ในใจก็นึกอำลาลูกเมีย แล้วจู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าถ้าตายอยู่ตรงนี้คงหาศพได้ยาก จะเกิดปัญหาตามมากับครอบครัว เพราะตามกฎหมายของฝรั่งเศส ถ้าหาศพไม่เจอจะเรียกว่าตายแล้วไม่ได้ ต้องรออีกสี่ปี ศาลจึงประกาศให้เป็นบุคคลสูญหาย จากนั้นคนในครอบครัวถึงจะได้เงินประกันชีวิต
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    นักบินคนนั้นไม่อยากลูกเมียต้องรอถึงสี่ปีกว่าจะได้เงินประกันชีวิต เขาจึงคิดว่าทำอย่างไรให้มีคนหาศพตนเองได้ง่ายขึ้น มองไปข้างหน้าประมาณร้อยเมตร ก็เห็นหินก้อนใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง เขาคิดว่าถ้าไปนอนตายบนหินก้อนนั้น หากมีคนมาตามหาศพเขาก็คงจะเจอง่าย เขาจึงรวบรวมกำลังเป็นครั้งสุดท้าย กระเสือกกระสนไปให้ถึงหินก้อนนั้น แต่พอถึงหินก้อนนั้นแล้วว เขากลับมีกำลังเดินต่อไปได้อีกเก้าสิบ กิโลเมตร จนมีคนพบเขา และช่วยให้เขารอดตายในที่สุด

    จากเดิมที่คิดว่าแค่ร้อยเมตรไม่รู้จะเดินไหวหรือเปล่า ในที่สุดเขากลับมีเรี่ยวแรงเดินไปได้เกือบ ร้อย กิโลเมตร เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะใจล้วน ๆ ก็ว่าได้ ความรักลูก รักเมีย ไม่อยากให้คนเหล่านั้นลำบาก ทำให้เขามีเรี่ยวแรง เกิดกำลังใจ จนสามารถเดินไปได้อีกไกล อย่างที่ตัวเองและคนอื่น ๆ ก็ไม่คิดว่าจะทำได้

    ในทางตรงข้ามแม้ว่าร่างกายยังไหว แต่ถ้าใจไม่สู้ ร่างกายก็คงจะไม่ไหว เหมือนกับกรณีผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิปากขอ แต่หมดเรี่ยวแรง เรื่องเหล่านี้ชี้ว่าใจนั้นสำคัญมาก

    ด้วยเหตุนี้ คนเราไม่ว่าเจอเหตุเภทภัยอย่างไร ถ้าหากว่าใจเราเข้มแข็ง หรือได้รับการฝึกมาอย่างดี ก็สามารถประคองตนจนฟันฝ่าเหตุร้ายต่าง ๆ ไปได้ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอดตายทุกครั้งไป เพราะบางครั้งมันก็สุดวิสัย เช่น เป็นมะเร็ง บางครั้งแม้ใจจะสู้ หรือใจยังเป็นปกติอยู่ แต่ร่างกายมันไม่ไหว ก็อาจจะไม่รอด แต่ว่าในระหว่างที่ป่วย ใจก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน

    จิตที่ไม่ได้รับการดูแลหรือฝึกฝน จะเข้าไปซ้ำเติมตัวเราให้ทุกข์มากขึ้น แทนที่จะป่วยกายอย่างเดียว กลับต้องป่วยใจด้วย แทนที่จะเสียทรัพย์อย่างเดียว ก็ต้องเสียสุขภาพจิตด้วย ไม่เป็นอันทำงาน เสียงานเสียการ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียสุขภาพ อารมณ์ไม่ดี ใครมาหยอกมาล้อก็โกรธ ด่า ทะเลาะเบาะแว้งกัน เลยเสียเพื่อน แทนที่จะเสียแค่หนึ่งอย่างก็เสียสี่อย่าง อย่างนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง เวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้น เราจะเสียอะไรอีกหลายอย่างตามมา ถ้าไม่ฝึกจิตไว้ แต่ถ้าเราฝึกจิตเอาไว้เป็นอย่างดี เมื่อป่วยก็จะป่วยอย่างเดียว คือป่วยกาย ไม่ป่วยใจ เมื่อเสียก็เสียอย่างเดียว คือเสียทรัพย์ แต่อย่างอื่นไม่เสีย เมื่องานล้มเหลวก็ล้มเหลวเฉพาะงาน แต่ตัวเองไม่ล้มเหลว

    หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ท่านทำงานเยอะมาก นอกจากสอนกรรมฐานแล้วว ท่านยังทำงานพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านบ้าน เช่น ทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สร้างสหกรณ์ข้าวเพื่อช่วยชาวบ้านที่ยากจน ชักชวนชาวบ้านทำเกษตรแบบผสมผสาน ฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน นอกเหนือจากการสอนวิปัสสนากรรมฐาน ท่านทำงานเหล่านี้มาสิบกว่าปี หลายคนมาดูงานท่านแล้วถามว่างานของหลวงพ่อสำเร็จหรือไม่ ท่านตอบว่า “งานของหลวงพ่อล้มเหลว แต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว” หมายความว่าแม้งานจะล้มเหลว แต่ใจท่านไม่เป็นทุกข์

    คนส่วนใหญ่ ถ้างานล้มเหลว ก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวด้วย คือเป็นทุกข์ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เรียกว่าล้มเหลวทั้งงาน ล้มเหลวทั้งตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะจิตมันไปซ้ำเติมตัวเอง

    คนที่ฝึกจิตไว้เป็นอย่างดี เมื่องานล้มเหลว ตัวเองก็ยังมีความสุขได้ ยังกินได้ นอนหลับ ยังมีกำลังใจทำงานต่อ นี้คือสิ่งที่เราทำได้ หากเรียนรู้เรื่องจิตใจของเรา และพยายามพัฒนาจิตใจ โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ อาทิ สติ สมาธิ ขันติ วิริยะ เหล่านี้เป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในจิตใจของเรา ถ้าเราพัฒนาจิต จิตก็จะมีคุณภาพ และช่วยให้เรามีความสุข เจอทุกข์ก็ไม่แพ้พ่าย
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256105.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ทำบุญแต่ห่างธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    เคยเข้าใจกันว่าการทำบุญเป็นเรื่องของคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อคนเหล่านี้แก่ตัวหรือล้มหายตายจากไป การทำบุญก็จะลดน้อยถอยลง แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้การทำบุญไม่ได้ลดน้อยลงเลย หรือถึงลดน้อยลงก็ไม่มากนัก คนรุ่นลูกซึ่งบัดนี้กลายเป็นพ่อคนแม่คนก็ยังนิยมทำบุญกันอยู่ สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งก็คือปัจจุบันเครื่องสังฆทานหาได้ง่ายตามห้างใหญ่ ๆ ไม่ได้กระจุกอยู่ในร้านสังฆทานหรือเสาชิงช้าดังแต่ก่อน

    การนิยมทำบุญตามวัดวาอารามนั้นเป็นเรื่องดี หากเป็นการต่อยอดจากความดีที่เคยทำกันเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว แต่หากการทำบุญดังกล่าวกลับทำให้ความดีที่เคยทำหรือพึงกระทำลดน้อยถอยลง ก็คงจะถือว่าเป็นเรื่องดีไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นี้คือแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น

    ครอบครัวหนึ่งมีแม่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ การดูแลแม่ตกเป็นหน้าที่ของลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งทิ้งอาชีพการงานมาพยาบาลแม่นานนับสิบปี โดยที่พี่ ๆ แทบจะไม่ได้มาช่วยเหลือเลยนอกจากให้เงินค่าดูแล วันหนึ่งน้องสาวมีธุระนอกบ้าน จึงขอให้พี่สาวมาช่วยดูแลแม่แทนเธอสักวัน คำตอบที่ได้รับจากพี่สาวคือ ไม่ว่างเพราะจะไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งชานเมือง

    การที่พี่สาวอยากทำบุญที่วัดนั้นเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ไม่ถูกต้องแน่หากเข้าใจว่าการทำบุญต้องทำที่วัดหรือทำกับพระเท่านั้น การดูแลแม่ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน คำตอบดังกล่าวของพี่สาวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับบุญที่คับแคบและคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก จะว่าไปแล้วก่อนที่จะทำบุญกับพระที่วัด สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการทำบุญกับพ่อแม่ที่บ้าน การไปทำบุญกับพระ โดยไม่สนใจพ่อแม่ที่เจ็บป่วยนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้ใฝ่ธรรม

    บางรายพ่อแม่ไม่ถึงกับเจ็บป่วย แต่ก็ชรามาก แม้กระนั้นลูกก็ปล่อยให้พ่อแม่ทำงานบ้านตามลำพัง ทั้งกวาดบ้าน ทำครัว ล้างจาน ซักผ้า ส่วนลูกแค่ไปทำงานหาเงิน กลับมาบ้านก็ขลุกอยู่ในห้องของตัว เสาร์อาทิตย์ก็เข้าวัดทำบุญหรือไปปฏิบัติธรรม ไม่สนใจช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่บ้านเลย จนบางคราวพ่อแม่เหนื่อยถึงกับเป็นลม เพื่อนบ้านอดสงสัยไม่ได้ว่าความใฝ่บุญกับความกตัญญูนั้นเป็นคนละเรื่องกันหรือ

    มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้อยู่ว่าการดูแลพ่อแม่นั้นเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังนิยมทำบุญกับพระมากกว่าที่จะทำบุญกับพ่อแม่ เหตุผลก็เพราะว่า การทำบุญกับพระนั้น ทำได้ง่ายกว่า กล่าวคือเพียงแต่ถวายเงินเท่านั้น และใช้เวลาไม่นาน ขณะที่การทำบุญกับพ่อแม่ นั้น ต้องใช้ทั้งแรงและเวลา เช่น ช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน ทำอาหารให้กิน หากท่านเจ็บป่วย ก็ต้องเช็ดตัว ป้อนข้าว บางครั้งก็ต้องอุ้มขึ้นและลงเตียง คนทุกวันนี้ชอบอะไรที่สะดวก ง่าย และเร็ว การทำบุญกับพระจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการทำบุญกับพ่อแม่
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ที่สำคัญคือความเชื่อว่าถ้าทำบุญกับพระ โดยเฉพาะพระที่มีคุณวิเศษหรือเกจิอาจารย์ ก็จะทำให้เกิดอานิสงส์มาก เช่น มั่งมี ประสบโชค ซึ่งบางสำนักสรุปเป็นคำขวัญว่า “รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง” ขณะที่มีความเข้าใจกันว่าการดูแลพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนธรรมดานั้นไม่ทำให้เกิดอานิสงส์ดังกล่าว พูดอีกอย่างคือ การทำบุญกับพระนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่า (ไม่ต่างจากการซื้อหุ้นตัวสวย ๆ ) อีกทั้งยังสามารถถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊คให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญได้ ขณะที่การดูแลพ่อแม่นั้นไม่ใช่โอกาสที่จะทำอย่างนั้นได้ง่าย ๆ หรือบ่อย ๆ

    มีหลายคนให้เหตุผลว่า การไปทำบุญที่วัด หรือการไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการช่วยพ่อแม่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ส่งบุญไปให้ท่าน บางรายพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเจ็บป่วย แทนที่จะช่วยพยาบาลท่าน กลับเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน แล้วใช้วิธีแผ่เมตตาหรือส่งบุญมาให้ท่านเพื่อให้หายป่วยไว ๆ เขาคงลืมไปว่า พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง “การทำจิต”เท่านั้น แต่ยังสอนเรื่อง “การทำกิจ” ด้วย กล่าวคือ นอกจากน้อมจิตแผ่เมตตาตามหลักพรหมวิหาร ๔ แล้ว ควรบำเพ็ญธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ด้วย ซึ่งข้อหนึ่งได้แก่ อัตถจริยา นั่นคือ การลงมือช่วยเหลือ เช่น ดูแลหรือพยาบาลท่าน แม้จะดูแลทางกายได้ไม่ดีเท่าหมอหรือพยาบาล แต่ก็สามารถให้ความช่วยเหลือทางจิตใจได้ ยิ่งมีประสบการณ์ทางธรรมมามาก ก็ยิ่งอยู่ในวิสัยที่จะให้คำแนะนำทางจิตใจแก่ผู้ป่วยได้ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งช่วยให้ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย หรือรักษาใจให้เป็นปกติได้ นี้เป็นการกระทำที่ให้ประโยชน์หรืออานิสงส์มากกว่าการส่งบุญมาให้หลายเท่า

    อันที่จริงจริยวัตรของพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างให้แก่เราได้ในเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบว่ามีผู้ประสบทุกข์ เช่น เจ็บป่วย ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะส่งบุญไปให้เขาเหล่านั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทำคือ เสด็จไปช่วยเหลือเขาเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เช่น พยาบาล (ดังกรณีพระติสสะ) หรือให้คำแนะนำทางธรรม (ดังกรณีนกุลบิดาและทีฆาวุอุบาสก) พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำเช่นเดียวกัน

    การทำบุญนั้นมีความหมายกว้างขวางกว่าการให้ทาน และการช่วยเหลือผู้คนนั้นเราสามารถทำได้มากกว่าการส่งบุญไปให้เขา แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากกำลังใช้การทำบุญเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการทำความดีขั้นพื้นฐาน มิใช่แค่ละเลยการทำดีต่อผู้ประสบทุกข์ที่เป็นคนแปลกหน้าเท่านั้น หากยังละเลยที่จะกตัญญูต่อบุพการีหรือผู้มีพระคุณ

    ใช่หรือไม่ว่าการทำบุญของผู้คนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ แรงผลักดันสำคัญคือ ประโยชน์ส่วนตน เช่น หวังความมั่งมี ร่ำรวย โชคลาภ หาใช่ความมีน้ำใจ หรือความตั้งใจที่จะลดละกิเลสไม่ เมื่อมีความเห็นแก่ตัวเป็นแรงจูงใจในการทำบุญ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงละเลยได้แม้กระทั่งการช่วยเหลือบุพาการี

    เป็นเพราะไม่รู้เท่าทันแรงจูงใจดังกล่าว ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ การทำบุญของคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นการเดินห่างจากธรรม สวนทางกับบุญที่แท้จริง และสร้างปัญหาให้แก่สังคม

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255904.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ไม่มีคำว่าสายเกินไป
    พระไพศาล วิสาโล
    กานดาวศรี มีอาชีพพยาบาล คราวหนึ่งป่วยหนักถึงขั้นโคม่าเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ เธอเล่าว่าในขณะที่หมดสติอยู่นั้น เธอได้ยินเสียงผู้คนรอบตัว และรู้ว่าหมอและพยาบาล พูดอะไรกันบ้างขณะที่อยู่ข้างเตียงเธอ

    ประสบการณ์เกือบ ๓๐ ปีในการเป็นพยาบาล ทำให้เธอรู้ว่ามีผู้ป่วยขั้นโคม่าหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายเธอ บางคนเล่าว่าได้ยินเสียงพระสวดมนต์จากเครื่องอัดเสียงที่ลูกเปิดไว้ข้างศีรษะขณะที่หมดสติ บางคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของญาติมิตร เช่น น้ำตาไหล หรือถึงกับพนมมือ

    ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ผู้ที่หมดสติหรือเข้าสู่ภาวะโคม่า ย่อมไม่สามารถรับรู้อะไรได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรกับเขา ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หรือมีทีท่าตอบสนอง แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่างน้อยก็มิได้เป็นเช่นนั้นในทุกกรณี การที่เขาไม่สามารถตอบสนองออกมาได้ มิได้หมายความว่า เขาไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เป็นแต่ร่างกายของเขาไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างคนทั่วไปเท่านั้น

    มีผู้ป่วยบางคนที่ล้มป่วยเนื่องจากสมองขาดเลือด จนเข้าสู่ภาวะโคม่า มีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” และมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมาได้น้อยมาก แต่ในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมาได้ เขาเล่าว่าในช่วงที่หมดสติอยู่นั้น เคยถูกหมอทดสอบด้วยการบิดและบีบนิ้วหัวแม่เท้าของเขา เขารู้สึกเจ็บปวดมากจนร้องขึ้นมาว่า “หยุดได้แล้ว ๆ” แต่เขาก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงอาการเจ็บปวดออกมาได้ ผลคือหมอยังคงบิดและบีบต่อไป ก่อนจะเลิกบีบเขายังได้ยินหมอพูดว่า “ผู้ป่วยคนนี้เป็นผักแบบยืดเยื้อ”

    มิเพียงแต่ได้ยินหรือรู้สึกทางกายเท่านั้น ผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถ “เห็น”ได้ด้วย คริสเติล เป็นเด็กชาวอเมริกันอายุ ๗ ขวบ มีคนพบเธอหลังจากจมอยู่ใต้สระน้ำเป็นเวลา ๒๐ นาที อาการของเธอเพียบหนัก นอกจากจะอยู่ในภาวะโคม่าแล้ว การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนพบว่าสมองของเธอบวมมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกทั้งเลือดของเธอก็มีความเป็นกรดสูงมาก บ่งชี้ว่าเธอใกล้จะเสียชีวิตแล้ว หมอยอมรับว่ามาถึงจุดนี้แล้วก็ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว

    แต่แล้วเธอก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากโคม่าได้ ๓ วัน ทันทีที่เห็นหมอเข้ามาในห้อง เธอก็ทักหมอผู้นั้นทันที เพราะเธอ “เห็น” หมอคนนี้ในขณะที่ยังหมดสติอยู่ เธอยังพูดถึงลักษณะของหมออีกคนที่รักษาเธอได้อย่างถูกต้อง แม้ว่ายังไม่ได้พบกันเลยก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังพรรณนาลักษณะของห้องฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งอุปกรณ์และผู้คนที่อยู่ในห้องนั้น

    เมื่อปี ๒๕๔๔ วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวถึงผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน หมอทำการช่วยเหลือด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ แต่ก่อนที่จะใส่ท่อช่วยหายใจพยาบาลได้ถอดฟันปลอมของเขาออก ในที่สุดหัวใจเขาก็เต้นเป็นปกติ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เมื่อผู้ป่วยรายนี้เห็นหน้าพยาบาลคนที่ถอดฟันปลอมให้ เขาก็จำเธอได้ทันที และถามว่า “คุณเป็นคนถอดฟันปลอมให้ผมใช่ไหมครับ” ใช่แต่เท่านั้นเขายังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้อย่างถูกต้อง

    ทั้งสองกรณีข้างต้น ผู้ป่วยล้วนหมดสติไร้สัมปฤดี สมองอยู่ในสภาพไม่ปกติเพราะขาดอากาศ แต่เขา “เห็น” ผู้คนและสถานที่รอบตัวได้อย่างไร เขาไม่ได้เห็นด้วยตาอย่างแน่นอน อีกทั้งไม่ได้รับรู้ด้วยระบบประสาทหรือสมองอย่างในภาวะปกติด้วย ทั้งสองกรณีเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเขาจะเห็นด้วย “ใจ”
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ทั้งสองกรณีมิใช่กรณีพิเศษหรือยกเว้น มีรายงานการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถรับรู้ได้ เช่น รายงานของนายแพทย์พิมฟอน ลอมเมล ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย ๓๔๓ รายที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ข้อสรุปที่ออกมาก็คือ ผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะไร้ความรู้สึกตัวได้อย่างแม่นยำ รายงานอีกชิ้นหนึ่งของนักวิจัยชาวอังกฤษพบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๑๑ สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะหมดสติได้

    ตัวอย่างที่กล่าวมาบ่งชี้ว่าการรับรู้โลกภายนอกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่สมองเท่านั้น เราสามารถได้ยิน รู้สึก หรือเห็นได้แม้ในภาวะที่สมองไม่อาจทำงานอย่างปกติได้ หากการรับรู้รวมทั้งความจำได้หมายรู้เป็นเรื่องของจิต นั่นก็หมายความว่าจิตไม่ได้ผูกติดกับสมอง หากเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกต่างหากจากสมอง แต่ทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จิตอาจรับรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยผ่านสมอง แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในภาวะที่สมองหยุดทำงานหรือมิอาจทำงานได้อย่างปกติ จิตก็ยังสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ แต่อาจไม่ชัดเจนเท่าในยามปกติ อีกทั้งไม่อาจบัญชาให้ร่างกายมีปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ แม้จิตปรารถนาจะทำเช่นนั้นก็ตาม กระนั้นก็ตามมีบางกรณีที่ผู้ป่วยสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ หากจิตถูกกระตุ้นเร้าเพียงพอดังกรณีที่จะกล่าวต่อไป

    จิตกับสมองสัมพันธ์กันอย่างไร จิตเกิดจากสมอง หรือเป็นอีกส่วนที่แยกจากสมอง เหล่านี้เป็นประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอีกนาน แต่นั่นก็ไม่สำคัญสำหรับคนเท่าไปเท่ากับความจริงที่ว่า ผู้ที่หมดสติหรืออยู่ในภาวะโคม่านั้น ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ได้ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยยังสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ คำพูดหรือการกระทำของหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วย อาจส่งผลในทางบวกหรือลบต่อผู้ป่วยก็ได้ ดังนั้นหากปรารถนาดีต่อผู้ป่วย จึงควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หมดสติประหนึ่งคนปกติ แม้เขาจะอยู่ในภาวะอย่าง “ผัก” ก็ตาม

    มีหลายกรณีที่คำพูดของญาติมิตรสามารถส่งผลในทางบวกต่อผู้ป่วยที่หมดสติ จนเขาสามารถแสดงอาการรับรู้ออกมาได้ หรือถึงกับรู้สึกตัวขึ้นมาได้ มีเรื่องเล่าว่าติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม เคยไปเยี่ยมอัลเฟรด แฮสเลอร์ มิตรชาวอเมริกันที่อยู่ในภาวะโคม่าและใกล้จะหมดลม ท่านนัทฮันห์ได้นั่งข้างเตียงอัลเฟรด และพูดถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทั้งสองได้ผ่านมาร่วมกันเมื่อครั้งเรียกร้องสันติภาพในเวียดนาม ท่านพูดอยู่ประมาณ ๔๐ นาที เมื่อพูดจบ อัลเฟรดก็ลืมตาขึ้นแล้วพูดว่า “วิเศษ ๆ” จากนั้นก็หลับตา สองชั่วโมงหลังจากนั้นเขาก็จากไปอย่างสงบ

    สารคดีของบีบีซีเรื่อง “Human Body” ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้พูดถึง ไวโอล่า หญิงวัย ๕๘ ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จนถึงกับหมดสติ หมอไม่สามารถช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ จนในที่สุดลูกชายก็พูดกับแม่ว่า “แม่ต้องฟื้นนะ เพราะพ่อกำลังจะพาผู้หญิงอีกคนไปเที่ยว” พอพูดจบ ไวโอล่าก็เปิดตาและรู้สึกตัวขึ้นมาทันที เธอเล่าว่าเธอยอมไม่ได้ที่สามีจะควงผู้หญิงอื่นไปเที่ยว

    อีกกรณีหนึ่งซึ่ง “วีรกร ตรีเศศ” นักเขียนประจำมติชนสุดสัปดาห์ ได้อ้างดร.สมศักดิ์ ชูโต อีกทีว่า หญิงฝรั่งผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนหมดสติ อาการหนักมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครคิดว่าจะรอด ขณะที่หมอและบุรุษพยาบาลกำลังช่วยชีวิตเธออยู่นั้น มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อีนี่ไม่น่าตายเลย นมมันสวย” ปรากฏว่าเธอได้ยินและมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาว่า ฉันต้องไม่ตาย ในที่สุดก็กลับฟื้นขึ้นมาได้

    ผู้ป่วยขั้นโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มี แต่ที่ไม่ฟื้นเลยก็มาก เพราะสังขารไม่อำนวยแล้ว แต่ไม่ว่าผลในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขายังหมดสติอยู่นั่น อย่าลืมว่าเขายังสามารถรับรู้อะไรได้ ดังนั้นญาติมิตรจึงยังสามารถช่วยเขาได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ เช่น ช่วยให้เขาคลายความวิตกกังวลหรือความหวาดกลัว ด้วยการพูดให้เขาเบาใจ รำลึกถึงบุญกุศลหรือความดีที่เขาเคยบำเพ็ญ หรือน้อมใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ และคลายความกังวลเกี่ยวกับลูกหลานหรือคนรัก การพูดถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาประทับใจหรือภูมิใจ ก็ช่วยเขาได้เช่นกัน

    ในอีกด้านหนึ่งก็ควรระมัดระวังคำพูดหรือการกระทำที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน หรือร่ำไห้คร่ำครวญข้างเตียง หรือพูดถึงความเจ็บป่วยของเขาในทางที่ไม่สร้างสรรค์

    ตราบใดที่ผู้ป่วยยังมีลมหายใจอยู่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะทำสิ่งดี ๆ ให้เขา ไม่ว่าการช่วยเขาทำบุญถวายสังฆทาน ขออโหสิกรรมจากเขา หรือเอ่ยปากให้อภัยเขา (หากคิดว่าความรู้สึกผิดยังค้างคาใจเขาอยู่) หรือแม้แต่การบอกความในใจบางอย่างให้เขารับรู้

    หญิงชราผู้หนึ่งนั่งเศร้าซึมข้างเตียงสามีซึ่งอยู่ใกล้ตายและอยู่ในภาวะโคม่า เธอเสียใจที่ไม่เคยบอกสามีว่าเธอรักเขาเพียงใด มาได้คิดก็สายเสียแล้วเพราะเขาหมดสติไม่ตอบสนองใด ๆ แต่พยาบาลแนะให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูดเพราะเขายังอาจได้ยินคำพูดของเธอได้ เธอจึงขออยู่กับเขาอย่างเงียบ ๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา หลังจากนั้นเธอก็กล่าวคำอำลาว่า “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป ฉะนั้นหากเธอจะจากไป ก็ขอให้จากไปเถิด” พูดจบ สามีของเธอก็หายใจเฮือกยาวออกมาและสิ้นชีวิตอย่างสงบ

    สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ความดีงามที่สื่อตรงจากใจถึงใจนั้นมีอานุภาพเหลือประมาณ สามารถเยียวยาความทุกข์และเป็นกำลังใจให้เขาก้าวสู่ความตายได้อย่างสงบ ชนิดที่เงินจำนวนมหาศาลและเทคโนโลอันล้ำเลิศมิอาจทำได้

    :- https://visalo.org/article/jitvivat254909.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    สองด้านของเหรียญ
    พระไพศาล วิสาโล
    แม่กลุ้มใจที่ลูกชายวัย ๑๑ ขวบทำตัวเหินห่าง มีปัญหาอะไรก็ไม่เคยบอกแม่ จนแม่รู้จากปากของคนอื่นว่าลูกถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนแกล้งเป็นประจำ กลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่สุงสิงกับใคร ซ้ำยังมีปัญหากับครูที่ชอบดุด่า จนลูกไม่อยากไปโรงเรียน บางวันถึงกับแกล้งป่วย ครั้นแม่พยายามคะยั้นคะยอให้เปิดใจคุยกับแม่เรื่องเหล่านี้ ลูกก็มีอาการหงุดหงิด และถึงกับหัวเสียเมื่อแม่ให้คำแนะนำลูก

    แม่เสียใจจนร่ำไห้ที่ลูกไม่เห็นตัวเองอยู่ในสายตา แถมมีอาการต่อต้านแม่ด้วย แต่วันหนึ่งเธอได้ร่วมกิจกรรมไตร่ตรองชีวิตและได้สนทนากับกัลยาณมิตรที่มีประสบการณ์ เธอก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่า ตอนเธอเป็นเด็กนั้น เธอก็ทำกับพ่ออย่างเดียวกับที่ลูกทำกับเธอทุกวันนี้ แม้อยู่บ้านเดียวกันแต่เธอแทบไม่คุยกับพ่อเลย รู้สึกว่าห่างได้เป็นดี เจอหน้าทีไรก็รู้สึกมึนตึง ในใจนั้นรู้สึกเกลียดพ่อด้วยซ้ำ

    เธอไม่ชอบพ่อก็เพราะพ่อชอบจู้จี้ขี้บ่น ต่อว่าเธอเป็นประจำ และไม่เคยฟังเธอเลย มีหลายครั้งที่พ่อระบายอารมณ์ใส่เธออย่างรุนแรง ยิ่งนึกถึงพ่อก็ยิ่งโกรธ แต่ชั่วขณะหนึ่งเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่พ่อทำกับเธอนั้น เธอก็เอาไปทำกับลูกเช่นกัน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม เธอชอบจู้จี้กับลูกและต่อว่าเขาเป็นประจำ และไม่ค่อยฟังเขาเลย เธออดแปลกใจไม่ได้ว่า ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ชอบนิสัยของพ่อ แต่เธอกลับรับเอานิสัยของพ่อมาใช้กับลูกของเธอ

    เธอได้พบว่าลูกคือภาพสะท้อนของเธอตอนเป็นเด็ก ส่วนเธอก็เป็นภาพสะท้อนของพ่อในอดีต ตอนเป็นเด็กเธอรู้สึกว่าตนถูกกระทำจากพ่อ แต่ตอนนี้เธอกำลังเป็นฝ่ายกระทำต่อลูก มาถึงตอนนี้เธอเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ตัวเธอเองต่างหาก นับแต่วันนั้นเธอพยายามระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ขณะเดียวกันก็เปิดใจฟังลูก ไม่คิดแต่จะให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างเดียว ไม่นานเธอก็พบว่าลูกเปิดใจให้เธอมากขึ้น นอกจากฟังเธอแล้ว ยังพร้อมจะเล่าความในใจให้เธอฟังเพราะรู้ว่าเธอจะฟังเขาอย่างจริงจังโดยไม่ด่วนตัดสิน

    เราต่างเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว แม่รู้สึกว่าลูกปฏิบัติไม่ดีกับแม่ แต่เมื่อสืบสาวก็จะพบว่า นั่นเป็นเพราะแม่ปฏิบัติไม่ดีกับลูกก่อน ที่ลูกไม่ฟังแม่ ก็เพราะแม่ไม่ฟังลูกหรือเอาแต่จู้จี้ขี้บ่น อย่างไรก็ตามหากสืบสาวไปให้ไกลอีกหน่อยก็จะพบว่า ที่แม่ทำตัวเช่นนั้นก็เพราะเคยถูกกระทำอย่างเดียวกันกับพ่อ(หรือแม่)ของตน

    จากเรื่องราวข้างบน ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูแปลกก็คือ ลูกสาวไม่ชอบสิ่งที่พ่อทำกับตน แต่พอเป็นแม่ก็ทำอย่างเดียวกันนั้นกับลูกของตน ราวกับว่าซึมซับรับเอาการกระทำของพ่อมาไว้กับตัว คงไม่ผิดหากจะพูดว่าความรุนแรงนั้นถ่ายทอดกันได้ ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงมักลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงนั้นเสียเอง

    ในสังคมวงกว้างเรามักพบเช่นกันว่า คนที่ก่อความรุนแรงกับผู้อื่นนั้น ในอดีตก็เคยเป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำมาก่อน โดยอาจจะเริ่มจากครอบครัว เยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ก่ออาชญากรรมทางเพศหรือยกพวกตีกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย ล้วนเป็นคนที่มีบาดแผลในวัยเด็ก เช่น ถูกพ่อแม่ละทิ้งหรือทำร้ายร่างกาย ถูกเหยียดหยามจากคนรอบข้าง หรือถูกยัดเยียดให้รู้สึกว่าเป็นคนไร้ค่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้ย่อมซึมซับความรุนแรงรวมทั้งความเกลียดชังไว้ในใจ และพร้อมจะระบายใส่คนอื่นเมื่อมีโอกาส ยิ่งถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อถูกจับเข้าสถานพินิจ ฯหรือเรือนจำ ก็ยิ่งสะสมความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อคนรอบตัว
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้รับทำให้คนเหล่านี้เกลียดชังคนทั้งโลก ยกเว้นพวกเดียวกัน เพราะคนกลุ่มหลังนี้เป็นพวกเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือมี “ตัวตน” อยู่ในโลกนี้ ดังนั้นเขาจึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ แม้นั่นจะหมายถึงการทำร้ายคู่อริหรือรุมโทรมหญิงก็ตาม

    เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะยอมรับว่า คนที่มีพฤติกรรมเลวร้ายนั้น แท้จริงเขาคือ “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ หาได้แยกจากกันไม่ ทำนองเดียวกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน

    ความจริงดังกล่าว ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ถ่ายทอดเป็นบทกวีอย่างงดงามและสะเทือนใจ

    “ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ
    และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
    ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข
    และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
    ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก
    ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่
    และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา
    ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย
    โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
    และฉันคือโจรสลัด
    หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก”
    (จากบทกวี “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” แปลโดย ร.จันเสน)

    ผู้ที่ก่อความรุนแรงนั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่เคยเป็นเหยื่อมาก่อน การรุมประณามหยามเหยียดหรือใช้ความรุนแรงกับเขา จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การทำเช่นนั้นเป็นความยุติธรรมจริงหรือ ประสบการณ์ของทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติด้วยความรักความเคารพและให้เกียรติแก่เยาวชนที่ต้องโทษเพราะก่ออาชญากรรมนั้น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เพราะจิตใจได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเกิดความเคารพในตนเอง จนไม่อยากทำชั่วอีกต่อไป พูดอีกอย่างคือ ความใฝ่ดีในจิตใจของเขาถูกกระตุ้นให้กลับมีพลังจนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ เมื่อบาดแผลในใจที่เกิดจากการเป็น “เหยื่อ” ในอดีตได้รับการเยียวยา ความโกรธเกลียดที่เคยผลักดันให้เป็นผู้ก่อความรุนแรงก็เจือจางไป สามารถอยู่อย่างมีสันติกับตนเองและผู้อื่นได้ (อ่านเรื่องราวของเธอได้จากหนังสือเรื่อง “เด็กน้อยโตเข้าหาแสง” โดย “มิลินทร์” สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

    คนที่แสดงแต่ด้านมืดออกมา มักเป็นเพราะมีเงามืดของคนอื่นมาทาบทับชีวิตของเขานานเกินไป การเปิดโอกาสให้เขาได้รับแสงสว่างในชีวิต ย่อมช่วยขยายด้านสว่างและลดทอนด้านมืดในใจเขา จนสามารถส่องสว่างให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255512.html
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    สร้างพลังใจในยามวิกฤต
    พระไพศาล วิสาโล

    เมื่อ 25 ปีก่อน สงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาเพิ่งยุติ มีพระชาวญี่ปุ่นคณะหนึ่งเดินทางไปที่นั่น เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัย คราวหนึ่งท่านได้ไปเยือนโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท โรงเรียนนี้ขัดสนไปเกือบทุกอย่าง มีเพียงอาคารหลังเก่า ๆ และบรรยากาศดูเศร้าสร้อย ท่านถามครูใหญ่ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ทีแรกท่านคิดว่าครูใหญ่คงอยากได้โต๊ะ เก้าอี้ กระดาน และเครื่องเขียน แต่คำตอบที่ได้คือ “เมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ดอก”

    พระญี่ปุ่นนึกไม่ถึงว่าจะได้คำตอบนี้ จึงขอทราบเหตุผล ครูใหญ่อธิบายว่า เด็กโรงเรียนนี้พบเห็นสงคราม การฆ่าฟันและการทำลายล้าง มาตั้งแต่เล็กจนโต แทบไม่เคยเห็นอะไรดี ๆ ในชีวิตเลย จิตใจจึงหดหู่แห้งแล้ง ครูใหญ่เห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างแรกที่เด็ก ๆ ต้องการก็คือ ความสดใสงดงามและความชื่นบาน ดังนั้นถ้ามีดอกไม้เบ่งบานไปทั่วโรงเรียน ก็จะช่วยให้เด็กกลับมามีความหวังและความเบิกบานขึ้นใหม่

    ความคิดของครูใหญ่น่าสนใจ สำหรับคนที่เติบโตมากับสงคราม แม้ว่าจะมีความอัตคัดขาดแคลน แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัย ๔ ก็คือ ความสดชื่นเบิกบาน เพราะเป็นสิ่งที่ชุบชูจิตใจให้มีกำลัง สามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตได้ดีขึ้น รวมทั้งการเรียน และการดำเนินชีวิต ครูใหญ่เป็นผู้ที่มองการณ์ไกล เห็นว่านอกจากวิชาความรู้แล้ว ใจที่มีความเบิกบาน จะช่วยเติมความหวังให้แก่นักเรียน ทำให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุภาพ

    เรื่องนี้ชี้ว่าคนเราไม่ได้ต้องการเพียงแค่อาหารกายหรือข้าวของเครื่องใช้ อาหารใจหรือสิ่งบำรุงใจก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน นี้คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่โรงเรียนควรจะมอบให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตมากับสงคราม

    มีเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กัน แต่หนักหนาสาหัสกว่ามาก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันซึ่งมีฮิตเลอร์เป็นผู้นำได้ส่งกองทัพไปยึดเมืองต่าง ๆ ในรัสเซีย รวมทั้งเมืองเลนินกราด แต่ถูกต้านทานอย่างเหนียวแน่น เลนินกราดถูกปิดล้อมนานถึง 2 ปี 4 เดือน หรือ ๙๐๐ วัน นับว่าเป็นการปิดล้อมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว อีกทั้งเป็นการปิดล้อมที่ก่อความเสียหายอย่างมหาศาลเป็นประวัติการณ์ มีคนตายไป 1.5 ล้านคน จำนวนมากตายเพราะระเบิดและกระสุนปืน แต่ที่ตายเพราะความหิวโหยไม่น้อย

    ช่วงที่ถูกปิดล้อม อาหารขาดแคลนมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ซึ่งหนาวเหน็บมาก ขนมปังต้องผสมขี้เลื่อยถึง 50% แต่ตอนหลังไม่มีอะไรกิน ผู้คนก็ต้องกินแม้กระทั่งรองเท้าหรือเข็มขัด เปลือกไม้ก็ต้องขูดเอาใส่ท้อง หนู แมว หมา กลายเป็นอาหารอันโอชะของคนที่นั่น ตอนหลังแม้แต่หนูก็ขาดแคลน หลายคนจึงหันไปกินศพคน ศพจำนวนมากไม่มีขา ไม่มีแขน เพราะถูกตัดเอาไปกินเป็นอาหาร มีแม่คนหนึ่งจำต้องฆ่าลูกน้อยเพื่อให้ลูกอีกคนมีอาหารกิน

    แต่ว่ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่น่าทึ่งมาก ขณะที่ผู้คนอดอยากหิวโหยและล้มตายกันมากมาย อีกทั้งยังต้องคอยหลบหลีกอันตรายจากกระสุนและระเบิดที่สาดใส่ทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนต้องการคือเสียงเพลงเพื่อช่วยชุบชูใจ ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้จัดแสดงคอนเสิร์ตครั้งใหญ่กลางกรุงเลนินกราด ทั้ง ๆ ที่เป็นการแสดงที่เสี่ยงอันตรายมาก และจัดทำได้ยากมากเพราะทุกอย่างขาดแคลนไปหมด ไม่ว่านักดนตรีและเครื่องดนตรี

    ในสถานการณ์ที่ยากเข็ญแร้นแค้นและเสี่ยงภัย แทนที่จะมองว่าการแสดงคอนเสิร์ตกลางสนามรบเป็นเรื่องฟุ่มเฟื้อยไร้สาระ ผู้นำรัสเซียกลับเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บัญชาการกองทัพเลนนินกราดต้องระดมนักดนตรีและวาทยากเพื่อแสดงคอนเสิร์ตนี้ให้ได้ ปรากฏว่านักดนตรีแต่ละคนที่ระดมมาได้ทุกคนล้วนผอมโซ แค่ยกเครื่องดนตรีก็ไม่มีแรงแล้ว ดังนั้นจึงต้องนำอาหารมาปันส่วนให้นักดนตรี มีการซ้อมอยู่หลายวัน เมื่อถึงวันแสดงสด ผู้คนต่างรอฟังอย่างใจจดใจจ่อ มีการนำลำโพงไปติดทั่วเมือง

     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)

    เพื่อให้มั่นใจว่าการแสดงคอนเสิร์ตนี้จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น ก่อนการแสดงจะเริ่มต้น ทหารรัสเซียได้เอาปืนใหญ่ยิงถล่มเยอรมันก่อน เพื่อให้ทหารเยอรมันหยุดยิงและทิ้งระเบิดขณะมีการแสดง เพลงที่นำมาบรรเลงในวันนั้นเป็นเพลงที่แต่งเป็นพิเศษในโอกาสนี้ โดยคีตกวีที่มีชื่อ ภายหลังเพลงนี้มีชื่อว่า “เลนินกราด” เป็นเพลงที่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้

    ปรากฏว่าชาวเลนินกราดที่ได้ฟังคอนเสิร์ตนี้มีความสุขและซาบซึ้งใจมาก แม้กระทั่งทหารเยอรมันซึ่งพลอยได้ฟังด้วย ก็รู้สึกประทับใจในเพลงนี้มาก หลายคนรู้สึกเกรงขามคนรัสเซียว่า ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ ก็ยังปรารถนาฟังเสียงเพลง แสดงว่าจิตใจแข็งแกร่งมาก
    การแสดงคอนเสิร์ตครั้งนั้นมีส่วนสร้างพลังใจให้แก่ชาวเลนินกราด ทำให้มีจิตใจฮึกเหิม และพร้อมจะกัดฟันเผชิญความทุกข์ยากแสนเข็ญต่อไป ผ่านไปปีครึ่ง กองทัพเยอรมันก็ยังยึดเลนนินกราดไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องล่าถอยกลับไปหลังจากปิดล้อมนานเกือบ ๙๐๐ วัน

    กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในยามวิกฤต ทั้ง ๆ ที่กำลังอดตาย แต่คนเราไม่ได้โหยหาข้าวปลาอาหารเพื่อประทังกายให้มีชีวิตรอดเท่านั้น หากยังต้องการอาหารบำรุงใจ ให้มีกำลัง พร้อมที่จะต่อสู้อุปสรรค สำหรับชาวเลนินกราด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยบำรุงใจก็คือ เสียงเพลง แรงบันดาลใจที่ได้จากเสียงเพลงทำให้ชาวเลนินกราดมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป แม้กายจะเหนื่อยล้าและหิวโหย จนผ่านพ้นความทุกข์ยากไปได้ในที่สุด
    คนเรานั้นไม่ได้อยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่ได้อยู่ได้ด้วยข้าวหรือขนมปังเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งบำรุงใจ สิ่งบำรุงใจนั้นมีมากมาย นอกจากดอกไม้ เสียงเพลง หรือสิ่งดีงามที่ผู้อื่นมอบให้เราแล้ว สิ่งบำรุงใจยังเกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำของเราเอง เช่น การนึกคิดในสิ่งที่ดี การทำความดี รวมทั้งการเจริญสติ การทำสมาธิ สิ่งเหล่านี้ช่วยเติมความสุขและพลังบวกให้แก่จิตใจ หล่อเลี้ยงบำรุงใจให้มีกำลัง

    หลายคนเวลาจิตใจห่อเหี่ยว เซ็ง เบื่อ ก็ดูหนังฟังเพลง แต่ดูทั้งวันก็เบื่อ จิตใจก็กลับมาเหี่ยวแห้งเหมือนเดิม แต่ถ้าเรารู้จักน้อมใจของเราให้สงบ ให้อยู่กับปัจจุบัน ทำความรู้สึกตัว ให้เกิดขึ้น ให้ใจเกิดความรู้สึกตื่นรู้อยู่เสมอ ความโปร่งโล่งเบาสบายก็จะช่วยทำให้ใจมีกำลังได้
    นอกจากการหาเงินทองหรือหาความสุขสบายให้กายแล้ว เราควรให้เวลากับการแสวงหาหรือสร้างสิ่งบำรุงใจด้วย แม้ในยามที่เงินทองร่อยหรอ ความสบายกายลดลง ก็อย่าทิ้งสิ่งบำรุงใจ เพราะใจที่เบิกบาน แจ่มใส ย่อมมีกำลังและความหวังที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความทุกข์ยากได้ต่อไป

    ในยามวิกฤต ชีวิตมีความทุกข์ อย่าลืมกลับมาที่ใจของตน รักษาใจอย่าให้ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง หมั่นเติมพลังบวกให้ใจอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าด้วยการคิดดี ทำสิ่งดีงาม ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว รวมทั้งน้อมใจให้สงบ เป็นสมาธิ แม้เพียงชั่วขณะ ก็จะทำให้จิตมีพลังที่จะฟันฝ่าอุปสรรคจนก้าวข้ามไปได้ในที่สุด
    :- https://visalo.org/article/jitvivat25630711.html


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 ธันวาคม 2024
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ความคับแคบสุดโต่งในยุคข้อมูลข่าวสาร
    พระไพศาล วิสาโล
    ในยุคที่ใคร ๆ เรียกว่ายุคข้อมูลข่าวสาร ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้มีความรู้กว้างขวาง และเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองที่คับแคบลง และมีความเห็นที่สุดโต่งมากขึ้น

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกวันนี้ข้อมูลมีมากมายท่วมท้น จนผู้คนจัดการกับมันได้ยากขึ้น จึงเกิดมีเทคโนโลยีคัดกรองข้อมูลข่าวสาร ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตัวคัดกรองหรือ filter ดังกล่าว มีทั้งที่ผู้บริโภคเลือกเอง และที่ถูกเลือกมาให้ผู้บริโภค โดยผู้ให้บริการ เช่น Google , Amazon และ Facebook เป็นต้น ทั้งนี้โดยประมวลจากข้อมูลการใช้งานของเรา เช่น เมื่อเราต้องการให้ Google ค้นหาข้อมูลเรื่องใด Google จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรา เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ เพื่อให้ได้ผลที่สอดคล้องกับความต้องการของเรามากที่สุด ส่วน Amazon ก็สามารถคาดการณ์ได้จากพฤติกรรมของเราว่า เรามีรสนิยมแบบใด ดังนั้นจึงน่าจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อแนะนำสินค้าที่ตรงกับรสนิยมของเรา ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่เราติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่เราติดต่อน้อยที่สุดออกไป เป็นต้น

    เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเหมือนดี ช่วยทุ่นเวลาให้แก่เรา เพราะคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เราไม่สนใจออกไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรารับรู้แต่ข้อมูลที่ถูกใจเรา รวมทั้งรับรู้ประเด็นที่หลากหลายน้อยลง มิหนำซ้ำยังรับรู้แต่แง่มุมที่แคบลงด้วย

    ใช่แต่เท่านั้น สื่อออนไลน์หรือเว็บข่าวที่เกิดขึ้นมากมายยังหนุนเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพราะสื่อดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นเนื้อหาจึงขาดความหลากหลาย ผิดกับสื่อดั้งเดิมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมวลชนซึ่งมีความหลากหลายสูง (เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า สื่อมวลชน) จึงมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่หลากหลายน้อยลงเท่านั้น แม้แต่มุมมองก็แคบลง เจาะจงเฉพาะแนวใดแนวหนึ่ง สุดแท้แต่กลุ่มผู้อ่าน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้อ่านรับรู้แต่มุมเดียว รวมทั้งได้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมอยู่แล้ว

    ขณะเดียวกันความจำเป็นในทางธุรกิจยังกระตุ้นให้สื่อออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการฟรี พยายามลงข่าวที่ถูกใจผู้อ่าน มากกว่าคำนึงถึงความถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากมีผู้เข้าชมมาก ก็จะได้ค่าโฆษณามากขึ้น แน่นอนว่าการลงข่าวให้ถูกใจผู้อ่าน มักหนีไม่พ้นที่จะเติมสีสัน เขียนให้หวือหวา รวมทั้งสนองอคติของผู้อ่าน ผลก็คือหากผู้อ่านมีอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ก็จะมีอคติเพิ่มขึ้น นี้คือแรงจูงใจเดียวกันกับที่กระตุ้นให้โซเชียลมีเดียทั้งหลายพยายามนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็น เพื่อค่าโฆษณาจะได้เข้ามา

    ธรรมดาคนเราก็อยากคบหาและแวดล้อมด้วยคนที่คิดเหมือนกัน มีรสนิยมคล้ายกัน จุดยืนเดียวกันอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะเสริมอัตตาของกันและกัน แต่ในชีวิตจริง เราต้องเจอคนที่หลากหลาย แม้ในหมู่บ้านเดียวกัน ผู้คนก็ยังนานาจิตตัง ยิ่งในเมืองด้วยแล้ว การพบคนที่ต่างความเห็น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ไม่ชอบ แต่ก็มีข้อดีคือทำให้เรามีมุมมองที่กว้าง ยอมรับความหลากหลาย เข้าใจคนที่เห็นต่าง แต่ในยุคปัจจุบันเราสามารถสนทนาพูดคุยกับคนที่คิดแบบเดียวกันได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องเจอคนที่เห็นต่างเลย เพียงแต่อยู่บ้านและนั่งหน้าคอม ฯ หรือก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์ ผ่านโปรแกรมอย่าง Facebook , Line , Twitter ซึ่งเปิดโอกาสให้เราเลือกคนที่คอเดียวกัน และปฏิเสธคนที่คิดต่างกัน
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    เทคโนโลยีดังกล่าวสนองความต้องการของอัตตาเป็นอย่างดี เพราะช่วยให้ความคิดความเชื่อที่มันฝังตัวอยู่นั้นเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น และถูกท้าทายน้อยลง หากความคิดความเชื่อดังกล่าวแฝงไปด้วยอคติ หรือเป็นการรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยิ่งทำให้อคติรุนแรงขึ้น รับรู้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากขึ้น นำไปสู่ทัศนะที่สุดโต่งในที่สุด ในอดีต แม้คนที่มีความคิดสุดโต่งจะมีอยู่ แต่ไม่ง่ายที่คนเหล่านี้จะได้มาพบปะกัน เพราะมีจำนวนน้อยและอยู่กระจัดกระจายกันมาก แต่ปัจจุบันคนที่มีความคิดสุดโต่ง สามารถพบปะสนทนากัน และตอกย้ำความเชื่อของกันและกันได้ง่ายมาก เพราะสามารถเข้าถึงทางอินเทอร์เน็ต แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็สามารถพบปะพูดคุยกันได้ทุกวันและทุกเวลา เพียงแต่ใช้Line , Facebook, Skype หรือโปรแกรมอื่น ๆ อีกมากมาย

    สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายในยุคข้อมูลข่าวสาร ก็คือ ความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการตอกย้ำอคติของตนเอง ซึ่งบางคนเรียกว่า auto propaganda หรือการโฆษณาฝังหัวตัวเอง แม้จะเจอคนมากมาย แต่ผู้คนก็เลือกที่จะได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตนเอง ผ่านคำพูดของคนพวกเดียวกัน อย่างที่บางคนเรียกว่า echo chamber ลำพังอุบายของอัตตาที่ใช้ในการปกป้องความคิดความเชื่อที่มันผูกติดฝังตัว เราก็รู้ทันได้ยากอยู่แล้ว ทุกวันนี้ยังมีเครื่องมือมากมายรอบตัวที่อัตตาสามารถฉวยใช้เพื่อปกป้องความคิดความเชื่อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

    จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแม้มีศักยภาพในการเปิดมุมมองของเราให้กว้าง แต่ก็สามารถจำกัดความคิดเห็นของเราให้แคบลง มีอคติมากขึ้น รวมทั้งสามารถเผยแพร่ความเท็จได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้พึงตระหนักด้วยว่าโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ทั้งหลาย พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เรา “ติด”มัน และใช้เวลาอยู่กับมันให้นานที่สุด ด้วยการสนองและปรนเปรออัตตาของเรา ( อาทิ การมีปุ่ม like ให้กด มี newsfeed ที่ถูกใจเรา และได้แสดงภาพ selfie)

    การที่ผู้คนในสังคมมีความเห็นแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละขั้ว และมีความเกลียดชังกันอย่างรุนแรง รวมทั้งมีกลุ่มสุดโต่งมากมายไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ มีส่วนอย่างมากในการตอกย้ำอคติและความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งล้วนเป็นผลแห่งการยึดติดถือมั่นในความคิด ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนคือฝ่ายที่ถูกต้อง ดีงาม ส่วนอีกฝ่ายคือพวกที่หลงผิด ชั่วร้าย ผลก็คือผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันพลัดตกในกับดักแห่งความรุนแรง ซึ่งแต่ละคนกระทำแก่กันในนามของการปกป้องความดีและความถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วเป็นการปกป้องอัตตาของตนต่างหาก

    เราจะออกจากกับดักดังกล่าว ไม่พลัดเข้าไปสู่กระแสแห่งความสุดโต่งและความรุนแรงได้อย่างไร ในด้านหนึ่งก็ต้องมีความหนักแน่น ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะมีคนบอก แม้จะเป็นเพื่อน คำสอนของพระพุทธองค์ที่เรียกว่าหลักกาลามสูตรนั้น มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะข้อความที่ “อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา หรือเพราะเข้าได้กับความเชื่อความเห็นของตน หรือเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้” แต่ควรเชื่อต่อเมื่อได้ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและด้วยสติปัญญาของตน

    อีกด้านหนึ่งก็ควรเปิดใจ พร้อมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และแตกต่างจากเรา ยอมที่จะรับคนที่คิดไม่เหมือนเรา มาเป็นเพื่อน ไม่ว่าในโลกจริงหรือในโลกไซเบอร์ แม้อัตตาจะไม่ชอบ แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กทันที หากเราถือว่าความดี ความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญกว่าอัตตา
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256009.html
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้
    พระไพศาล วิสาโล
    ร่างกายคนเราถ้าไม่เคยเจอเชื้อโรคเลย หากเจอครั้งแรกก็อาจจะตายได้ อย่างเช่นสมัยก่อนใครที่ไม่เคยเจอไข้ทรพิษ ไม่เคยเจอไข้ฝีดาษ ไข้รากสาด พอเจอก็ตายเลย แต่ทำไมบางคนไม่ตาย ก็เพราะว่าเขาเคยเจอมาก่อน คนสมัยก่อนถ้าเจอโรคฝีดาษ ไข้รากสาด หรือไข้ทรพิษแล้วไม่ตาย ต่อไปถ้าเจออีกก็ไม่ตาย เพราะอะไร เพราะว่าภูมิคุ้มกันร่างกายของเราจำเชื้อเหล่านี้ได้ มันเคยเจอมาแล้ว จึงเข้าไปจัดการกับเชื้อเหล่านั้น แต่ตอนที่ยังไม่เจอ ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่รู้ว่าเชื้อโรคเหล่านี้เป็นอันตราย จึงพลาดท่าเสียที ปล่อยให้มันเข้ามาเล่นงานร่างกาย จนหลายคนถึงกับตาย แต่บางคนก็รอดตาย ครั้นรอดตาย ร่างกายก็มีประสบการณ์ ได้บทเรียน รู้แล้วว่าเชื้อพวกนี้เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น พอมันเข้ามาในร่างกายอีก ภูมิคุ้มกันก็จะกินเชื้อเหล่านี้ ทำลายเชื้อเหล่านี้จนหมดสิ้น

    เด็กที่อยู่กับดินกับทราย อาบน้ำคลอง หรืออาบน้ำธรรมชาติ พวกนี้จะป่วยยาก ทีแรกอาจจะป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะว่าได้รับเชื้อเข้าไป แต่หลังจากนั้นแล้วเขาจะมีภูมิคุ้มกัน จะป่วยยากมาก ไม่เหมือนคนกรุงที่สมัยนี้ป่วยด้วยโรคนั้นโรคนี้ เช่น โรคมือเท้าปาก เดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะ โรคภูมิแพ้ หอบหืด ก็เป็นกันมาก ทำไมถึงเป็นเช่นั้น ก็เพราะว่าตั้งแต่เล็ก ๆ เขาไม่ค่อยสัมผัสกับเชื้อโรค เนื่องจากพ่อแม่ดูแลแบบประคบประหงมมาก ดินไม่ให้แตะ ทรายไม่ให้สัมผัส จะเล่นกับโคลนก็ไม่ยอมให้เล่น แถมมีน้ำยา สบู่ ครีม ไว้ทาฆ่าเชื้อ พอไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโรค ร่างกายก็เลยไม่รู้ว่าเชื้อตัวไหนที่ไว้ใจได้ เชื้อตัวไหนไว้ใจไม่ได้ จึงพลาดท่าให้กับเชื้อโรคที่อันตราย

    การได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ทำให้เกิดความฉลาด เวลาที่สัตว์เจอคน มันไม่เพียงรู้ว่าคนน่ากลัว มันยังรู้นิสัยใจคอของคน รวมทั้งรู้ทันพฤติกรรมของเราด้วย เช่น ลิงทันทีที่เห็นเราหยิบหนังสติ๊กขึ้นมา มันก็หนีแล้ว ทั้งที่หนังสติ๊กไม่มีหินหรือกระสุนเลย แต่ว่าประสบการณ์สอนมันว่าหนังสติ๊กสามารถทำร้ายมันได้ มันเคยเจอคนเอาหนังสติ๊กยิงมัน ฉะนั้นต่อไปพอแค่เห็นคนจับหนังสติ๊กมันก็หนีแล้ว มันรู้เพราะอะไร เพราะมันเจอบ่อย ๆ

    การเจอบ่อย ๆ ทำให้เกิดประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้ และทำให้ฉลาด แต่ก็แปลก จิตใจของเรา เจอความโกรธ เจอความเศร้า เจอความคับแค้น เจอความเครียด เจอความเบื่อนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ค่อยได้เรียนรู้เลย กลับพลาดท่าเสียทีให้กับอารมณ์เหล่านี้ง่ายขึ้น คนที่หงุดหงิดง่าย หรือหงุดหงิดบ่อย ๆ ตั้งแต่เล็ก พออายุมากจะยิ่งหงุดหงิดง่ายขึ้น คนที่โกรธ เจ้าอารมณ์มาตลอด พอแก่ตัวก็ยิ่งโกรธง่าย ยิ่งอารมณ์เสียง่าย ยิ่งตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ความหงุดหงิดได้ง่าย เป็นเพราะอะไร มันเป็นเรื่องที่แปลก

    ถ้าลองมาคิดดู ทำไมจิตใจเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา หรือเรียนรู้จากการเจอะเจอกับอารมณ์เหล่านี้อยู่บ่อย ๆ กลับถูกมันหลอก ถูกมันครอบงำง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรียนสูงแค่ไหน ก็โดนอารมณ์เหล่านี้หลอก ครอบงำได้ง่าย ถ้าปล่อยให้มันครองจิตครองใจบ่อย ๆ
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    คนเราเวลามีใครมาหลอก ก็จะถูกหลอกได้อย่างมากแค่ครั้งสองครั้ง เช่น ทีแรกเขามาขอยืมเงิน อ้างว่าลูกไม่สบาย เราก็ให้ยืมเงินไปเพราะสงสาร ไม่กี่วันต่อมาเขาก็มาขอยืมอีก คราวนี้บอกว่าพ่อป่วย เราก็ให้ยืมเงินอีก อาทิตย์ต่อมาเขาก็มาหาอีก บอกว่าเมียประสบอุบัติเหตุ ขอยืมเงินหน่อย คราวนี้เราเริ่มไม่เชื่อแล้ว เพราะว่าเราจับทางได้ เราเริ่มผิดสังเกตกับพฤติกรรมของคน ๆ นี้ พอเราเจอแบบนี้มา ๒-๓ ครั้งเราก็รู้แล้วว่าคน ๆ นี้นิสัยอย่างไร ไม่ยอมให้หลอกอีก เพราะจับทางได้

    แต่ทำไมอารมณ์ร้าย ๆ ทั้งหลายเช่น ความโกรธ เกลียด อิจฉา เศร้า คับแค้น หลอกเราได้ทุกครั้งเลย แต่ละครั้งก็สรรหาเหตุผลให้เราเชื่อมัน เช่น เวลาโกรธมันก็จะหาเหตุผลมาหว่านล้อมเราว่าสมควรที่เราจะโกรธคนนี้ เพราะว่าเขาทำไม่ถูกต้อง เขาไม่ยุติธรรม บางทีไม่ใช่แค่สรรหาเหตุผลมาให้เราโกรธ แต่ยังสรรหาเหตุผลมาเพื่อให้เราทำยิ่งกว่านั้น เช่น สั่งให้เราด่ามัน ทำร้ายมัน ทั้งที่การทำอย่างนั้นจะก่อผลเสียกับเรา แต่เราก็หลงเชื่อ เพราะมันให้เหตุผลที่ดูดีว่า เพื่อสั่งสอน เพื่อความถูกต้อง ปล่อยไว้ไม่ได้ ทำไมใจเราเจออารมณ์เหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งชีวิต ก็ยังถูกมันหลอกอยู่นั่นเอง

    คนที่อายุ ๗๐- ๘๐ ปี คงโดนอารมณ์เหล่านี้หลอกนับหมื่น ๆ ครั้งแล้ว น่าคิดว่า มันมาทีไร เราก็ถูกมันหลอกได้ทุกครั้ง อย่างนี้เรียกว่าหลงก็ได้ พอหลงแล้วเราก็ไม่เรียนรู้ เจอมันทีไร เราก็โดนหลอกทุกที แต่ถ้าเปลี่ยนจากหลงมาเป็นเห็น เราจะฉลาดขึ้น อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทีไร เราเห็นมัน เราไม่หลงเชื่อมัน เจอบ่อย ๆ เราจะฉลาดขึ้น

    ตอนเจอใหม่ ๆ เราอาจจะพลาดท่าเสียที โดนมันเล่นงาน โดนมันหลอก จนร้อนรุ่ม กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เมื่อหลุดออกมาได้ และเห็นมัน เราก็จะจดจำได้ว่าอารมณ์แบบนี้ อาการแบบนี้ ไม่น่าไว้ใจ พอมันโผล่ครั้งหน้าเราจะเริ่มรู้ทาง ไม่ยอมหลงเชื่อมันอีกต่อไป หรือถ้าหลงเชื่อมันก็แค่ประเดี๋ยวเดียว

    จิตของเราควรจะเป็นอย่างนี้ คือหลังจากพลาดท่าเสียทีให้กับอารมณ์อกุศลมาหลายครั้ง จิตเราก็ฉลาดขึ้น รู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นโทษ ในขณะเดียวกัน การที่เจอมันบ่อย ๆ จึงรู้ว่าอารมณ์แบบนี้ อาการแบบนี้ ไว้ใจไม่ได้ ไม่หลงเชื่อมัน ไม่ควรปล่อยให้มันครอบงำจิตใจอีกต่อไป ถ้าเราฝึกใจของเราให้หมั่นเห็นอารมณ์เหล่านี้ การเจอะเจออารมณ์เหล่านี้บ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดี มันจะทำให้เราฉลาดมากขึ้น ฉลาดในการรู้ทางและรู้ทันอารมณ์อกุศลเหล่านี้

    เรารู้ทางและรู้ทันมัน ไม่หลงเชื่อมัน ก็เพราะจำได้ว่ามันเคยหลอกเรา รวมทั้งจำลักษณะอาการของมันได้ พอเห็นอารมณ์ที่มีลักษณะอาการแบบนี้เข้ามา ก็ไม่หลงเชื่อมันอีกต่อไป แต่ก่อนนี้จำไม่ได้ พลาดท่าเสียทีมันทุกที ที่จำไม่ได้ก็เพราะไม่เห็นมัน มันมาทีไรก็หลงไปกับมันทุกที เรียกอีกอย่างว่า เข้าไปเป็นกับมัน ถ้าเราไม่ยอมพลาดท่าเสียทีหรือหมดเนื้อหมดตัวไปกับมันตั้งแต่เรายังหนุ่มยังสาว เมื่อเราอายุมาก แก่ตัวลง เราก็จะยังคงมีจิตใจสดใส เบิกบาน อารมณ์ดี ไม่ใช่เป็นคนที่หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ หรือขี้โกรธ เราต้องเรียนรู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ขณะที่ยังมีเวลา ฝึกจิตให้เห็น รู้ทันและรู้ทางอารมณ์เหล่านี้ เงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้ทัน หรือรู้ หรือฉลาดในการเกี่ยวข้องกับอารมณ์เหล่านี้ ก็คือการเจอมันบ่อย ๆ

    เด็ก ๆ ถ้าเจอเชื้อโรค เจอจุลินทรีย์ เจอแบคทีเรียตั้งแต่เด็ก ๆ ต่อไปเชื้อโรคเหล่านี้ก็จะทำอะไรร่างกายเด็กไม่ได้ จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราหมั่นรู้ทันหรือรู้ทางอารมณ์เหล่านี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อแก่ตัวเราก็จะไม่เป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้โมโห เป็นคนเจ้าอารมณ์ อย่างที่เราเห็นคนแก่เดี๋ยวนี้จำนวนไม่น้อยเป็นกัน บางคนไม่ทันแก่ก็เป็นคนขี้หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ หัวเสียแล้ว

    เราควรหมั่นเห็น และหมั่นเรียนรู้จากอารมณ์เหล่านี้ เริ่มจากวางใจเสียใหม่ ว่าอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นของเลวอย่างเดียว มันมีประโยชน์ที่ช่วยให้เราเรียนรู้ ทีแรกก็รู้ว่ามันมีอาการหรือลักษณะอย่างนี้ ความโกรธเป็นอย่างนี้ ความเกลียดเป็นอย่างนี้ ความฟุ้งซ่านเป็นอย่างนี้ ต่อไปมันจะแสดงสัจธรรมให้เราเห็นลึกไปกว่านั้นด้วย

    เราจะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเห็นไตรลักษณ์ได้จากอารมณ์เหล่านี้ มันมาเพื่อสอนเราให้เห็นสัจธรรม เพื่อทำให้เราฉลาดมากขึ้น คนที่เจออะไรต่ออะไรมากมาย แต่ไม่ฉลาดเลย แสดงว่าเขาไม่ได้เรียนรู้ เรียกว่าไม่มีประสบการณ์ก็ได้ แต่ถ้าเรามีประสบการณ์เมื่อไหร่ ประสบการณ์จะสอนให้เราฉลาดและมีปัญญา
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256210.html
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    คุณธรรมแต่กำเนิด
    พระไพศาล วิสาโล
    “ทำอย่างไรจึงจะปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็กได้ ?” เป็นคำถามที่อยู่ในใจของพ่อแม่และครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อย คำถามนี้มีนัยยะว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่เด็กไม่มีอยู่แต่เดิม ดังนั้นจึงต้องสร้างขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงคุณธรรมบางอย่างมีอยู่ในตัวเด็กตั้งแต่แบเบาะ หนึ่งในนั้นคือความเอื้ออาทรหรือเมตตากรุณา

    เมื่อทารกแรกเกิดเห็นหรือได้ยินทารกอีกคนร้องไห้ เขาจะร้องไห้ตามเหมือนกับว่ารู้สึกเป็นทุกข์ไปด้วย (แต่มักจะไม่ร้องหากได้ยินเสียงร้องของตนเอง) ส่วนเด็กที่อายุ ๑๔ เดือนขึ้นไป จะไม่เพียงร้องไห้เมื่อได้ยินอีกคนร้องเท่านั้น แต่จะพยายามเข้าไปช่วยเด็กคนนั้น เด็กยิ่งโต ก็จะร้องไห้น้อยลง แต่จะพยายามช่วยมากขึ้น

    เคยมีการทดลองให้เด็กอายุหกเดือนกับสิบเดือนดูภาพเคลื่อนไหวของวงกลมวงหนึ่งซึ่งพยายามไต่เขา บางครั้งก็มีสามเหลี่ยมช่วยดันวงกลมขึ้นไปจนถึงยอด แต่บางครั้งก็มีสี่เหลี่ยมผลักวงกลมลงมาจนถึงพื้น ตัวการ์ตูนทั้งสามล้วนมีนัยน์ตาสองข้างเสมือนคน เด็กดูภาพเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเบื่อ หลังจากนั้นผู้ทดลองก็เอาถาดมาให้เด็กเลือก ด้านหนึ่งของถาดเป็นของเล่นคล้ายตัวสามเหลี่ยมที่ชอบช่วย อีกด้านเป็นของเล่นคล้ายตัวสี่เหลี่ยมที่ชอบแกล้ง ปรากฏว่า เด็กสิบเดือน ๑๔ ใน ๑๖ คนเลือกตัวสามเหลี่ยม เช่นเดียวกับเด็กหกเดือนทั้ง ๑๒ คน การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เด็กนั้นเห็นว่าการช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นจึงชอบตัวที่ช่วยเหลือผู้อื่น

    พฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ไม่มีใครสอน แต่ล้วนแสดงออกในทิศทางเดียวกัน คืออยากช่วยเหลือ และชื่นชอบการช่วยเหลือ นั้นหมายความว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นติดตัวเด็กมาตั้งแต่แรกเกิดก็ว่าได้ อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่สัตว์ก็มีคุณธรรมดังกล่าวเช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาสอน

    หนูตัวหนึ่งถูกแขวนห้อยโตงเตง มันทั้งร้องและดิ้น ทันทีที่หนูอีกตัวเห็นภาพดังกล่าว มันเริ่มวิ่งพล่านและหาทางช่วยหนูตัวนั้น จนพบว่าการกดคันโยกในกรงช่วยให้หนูเคราะห์ร้ายถูกหย่อนลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย

    ในห้องทดลองอีกแห่งหนึ่ง ลิงหกตัวถูกฝึกให้รู้จักดึงโซ่เมื่อต้องการอาหาร จู่ ๆ มันก็พบว่าถ้ามันดึงโซ่เมื่อใด ลิงอีกตัวหนึ่งจะถูกไฟฟ้าช็อตและร้องด้วยความเจ็บปวด ปรากฏว่าลิงสี่ตัวเปลี่ยนไปดึงโซ่เส้นใหม่ ซึ่งแม้จะให้อาหารน้อยกว่า แต่ไม่ทำให้ลิงตัวนั้นเจ็บปวด ส่วนตัวที่ห้าหยุดดึงโซ่นาน ๕ วัน ขณะที่ตัวที่หกไม่แตะโซ่นานถึง ๑๒ วัน นั่นหมายความว่ามันยอมหิวเพื่อไม่ให้เพื่อนทุกข์ทรมาน

    ตัวอย่างดังกล่าวชี้ว่าความเอื้ออาทรหรือความมีน้ำใจ มิใช่สิ่งที่ต้องปลูกฝังในตัวเด็ก แต่เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เจริญงอกงาม หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรบั่นทอนให้ลดน้อยถอยลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือการเลี้ยงดูในครอบครัว รวมทั้งการหล่อหลอมของสังคมนั้น บ่อยครั้งกลับทำตรงข้าม เช่น ส่งเสริมให้เด็กเห็นแก่ตัว ตำหนิลูกหากพบว่าลูกเอาปากกาให้เพื่อน หรือหยิบยื่นเงินให้เพื่อนที่ทำเงินหาย คำพูดว่า “ช่วยเขาแล้วเราได้อะไร” เป็นคำพูดที่กัดกร่อนคุณธรรมในตัวเด็กลงไปเรื่อย ๆ ยังไม่ต้องพูดถึงการแก่งแย่งแข่งขันในโรงเรียนหรือบนท้องถนน รวมทั้งพฤติกรรมเอาแต่ได้ที่เห็นจากสื่อต่าง ๆ

    การส่งเสริมและหล่อเลี้ยงคุณธรรมในตัวเด็ก (หรือผู้ใหญ่) ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเทศนาสั่งสอน เพียงแค่เปิดโอกาสให้เขาเห็นความดีของผู้อื่น คุณธรรมในใจเขาก็ถูกปลุกเร้าขึ้นมาทันที หลายคนรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่าเกิดแรงบันดาลใจอยากทำความดีเมื่อเห็นคนอื่นช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเห็นกับตาหรือเห็นจากวีดีโอคลิป อันที่จริงแม้เพียงแค่ได้อ่านหรือได้ยินเรื่องราวแห่งความเสียสละหรือมีน้ำใจของผู้คน เราก็รู้สึกปลาบปลื้ม ประทับใจ และเป็นสุข ซึ่งล้วนแต่กระตุ้นให้เราอยากทำความดีอย่างเขา

    การได้เห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ทั้งต่อหน้าต่อตาหรือผ่านสื่อ สามารถกระตุ้นคุณธรรมในใจเราจนเราไม่อาจนิ่งเฉยได้ ทั้งนี้เพราะมีบางอย่างในจิตใจของเราที่ทำให้เรารู้สึกถึงความทุกข์ของเขา (ศาสนาเรียกสิ่งนั้นว่าเมตตากรุณา หรือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ส่วนวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเป็นเพราะเซลล์กระจกหรือ mirror nuron ในสมองของเรา ทำให้มีความรู้สึกร่วมกับเขา) การรับรู้ถึงความทุกข์ของเขาทำให้เราปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (แต่บางครั้งหัวสมองกับหัวใจของเราก็ไม่ได้ไปด้วยกัน ขณะที่หัวใจรู้สึกเป็นทุกข์ที่เห็นคนเป็นลมข้างถนน หัวสมองกลับบอกว่าถ้าช่วยเขาเราก็เสียเวลาหรืออาจไปทำงานช้า ถ้าหัวสมองมีพลังมากกว่า ก็หาทางบ่ายเบี่ยงด้วยการมองไปทางอื่น หรือแกล้งมองไม่เห็น หรืออ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น “เดินต่อไปเถอะ ใคร ๆ ก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น”)

    วิธีหนึ่งที่มีพลังมากในการเสริมสร้างคุณธรรมก็คือ การได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่มีคนทำดีกับเรา เช่น ช่วยเหลือเรา ให้อาหารหรือของขวัญแก่เรา อดทนต่ออารมณ์ของเรา เราจะมีความรู้สึกอยากทำดีกับเขา รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีกับผู้อื่น อย่างเดียวกับที่เราเคยได้รับ พ่อแม่ที่ฟังลูก อดกลั้นต่อลูก ย่อมส่งเสริมให้ลูกรู้จักฟังพ่อแม่และผู้อื่น รวมทั้งอดกลั้นต่ออารมณ์ของคนอื่นด้วย คนที่เห็นแก่ตัว หากได้รับความเจือจานจากผู้อื่น คุณธรรมในใจของเขาจะได้รับการเสริมแรงจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นในที่สุด
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    คนเรายังอยากทำความดีเมื่อได้รับคำชม คำชมที่จริงใจนั้นเป็นพลังบวก ที่สามารถดึงพลังบวกหรือความใฝ่ดีในจิตใจของอีกฝ่ายได้ เด็กเกเรหากได้รับคำชมเมื่อเขาทำดีแม้เพียงเล็กน้อย เขาจะมีกำลังใจในการทำความดีมากขึ้น คำชมนั้นสามารถกระตุ้นความใฝ่ดีในใจของเขาจนเอาชนะความก้าวร้าวหยาบกระด้างได้ แต่บางครั้งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาทำความดี เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม อันที่จริงแค่ได้ทำความดี ความรู้สึกปีติปราโมทย์หรือภาคภูมิใจก็เกิดขึ้นทันที ความรู้สึกเหล่านี้เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้เราอยากทำความดีต่อไป

    มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ว่าการทำความดี โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ หลายคนหายจากโรคหัวใจเมื่อได้เป็นจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง จำนวนไม่น้อยคลายจากโรคซึมเศร้าเมื่อได้ช่วยเหลือส่วนรวม หรือดูแลสัตว์ที่เจ็บป่วย (อย่าว่าแต่คนเลย ลิงที่มีความเป็นมิตร ชอบสางขนหาเห็บให้แก่ลิงตัวอื่น มีแนวโน้มที่จะอายุยืน เมื่อนำเลือดไปตรวจก็พบว่ามีฮอร์โมนเครียดที่ต่ำมากและมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงกว่า)

    ความดีและความสุขนั้นอยู่ใกล้กันมาก ถ้าอยากให้ลูกมีความสุข ก็ควรสนับสนุนให้เขาทำดี ด้วยการส่งเสริมคุณธรรมที่มีอยู่แล้วในใจเขา แต่จะเกิดผลดีอย่างแท้จริง พ่อแม่ก็ต้องส่งเสริมคุณธรรมในใจตนก่อน เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลให้แก่เขา
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255905.html
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    หนึ่งนาทีก่อนเที่ยงคืน
    พระไพศาล วิสาโล
    ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแทบจะแยกไม่ออกจากการทำสงครามประหัตประหารกัน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้น เพียงแค่ถอยหลังไป ๑๐๐ ปีคือระหว่างปีค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๘๙ อันเป็นปีที่สงครามเย็นยุติ คาดกันว่ามีคนตายไปเพราะสงครามถึง ๘๖ ล้านคน ถ้านับจำเพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๑๙๔๕) มาจนถึงปี ๑๙๙๐ มีคนตายเพราะสงครามถึง ๒๒ ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคนที่ตายเพราะน้ำมือของรัฐบาลตนเองอีก ๔๘ ล้านคน (ดังที่เกิดในรัสเซียสมัย
    สตาลิน จีนสมัยเหมา และเขมรสมัยพอลพต)

    แม้ขึ้นศตวรรษใหม่แล้ว สงครามก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะน้อยลง ปัจจุบันมีประมาณ ๑ ใน ๘ ของประเทศทั่วโลกที่พัวพันกับสงคราม โดยส่วนใหญ่เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้อยละ ๙๐ ของเหยื่อสงครามในปัจจุบันเป็นพลเรือน ขณะที่ผู้บาดเจ็บล้มตายใน สงครามเมื่อศตวรรษที่แล้วร้อยละ ๙๐เป็นทหาร

    ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นหลักฐานชี้ชัดว่ามนุษย์นั้นนิยมความรุนแรงและใฝ่สงคราม อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนหลังไปนับหมื่น ๆ ปี กลับพบหลักฐานน้อยมากที่ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว ในช่วงเวลา ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนหน้านี้ขึ้นไป นักโบราณคดีแทบไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับสงครามหรือการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ในหนังสือเรื่อง Troubled Times: Violence and Warfare in the Past (๑๙๙๖) ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างละเอียด สิ่งที่ค้นพบก็คือ ความรุนแรงเกือบทั้งหมดของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในช่วง ๘,๐๐๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง ในบทปิดท้าย ไบรอัน เฟอร์กูสัน ได้สรุปว่า “ดูเหมือนว่าการฆ่ากันระหว่างบุคคลมีน้อยมาก และแทบจะไม่มีการฆ่าอย่างเป็นระบบเลยตลอดอดีตการใช้ชีวิตทั้งหมดของเรา”

    ข้อสรุปดังกล่าวส่วนหนึ่งได้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่เคยพบอาวุธสำหรับทำสงครามชิ้นใดที่เก่าแก่ไปกว่ากริชและคทาอายุ ๘,๐๐๐ ปีที่เมืองคาทาลฮูยุคในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันป้อมปราการเก่าแก่ที่สุดที่พบก็คือกำแพงเจอริโค อายุ ๑๐,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมมากกว่าเพื่อป้องกันการรุกราน

    จริงอยู่มนุษย์ยุคหินรู้จักทำอาวุธมานานแล้ว แต่อาวุธเหล่านั้นใช้ในการล่าสัตว์มากกว่าที่จะทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน ภาพวาดตามผนังถ้ำก่อนยุคประวัติศาสตร์อย่างมากก็เป็นเรื่องราวการล่าสัตว์ด้วยธนูและหอก แต่แทบไม่มีภาพเกี่ยวกับการต่อสู้กันด้วยอาวุธเลย ตรงกันข้ามกับภาพวาดบนกำแพงและรูปปั้นของชาวสุเมเรียนและอียิปต์เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้และทำสงครามกัน

    มนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นมาในโลกไม่น้อยกว่า ๒ ล้านปีมาแล้ว แต่มีเพียง ๑๐,๐๐๐ ปีสุดท้ายเท่านั้นที่พบหลักฐานการทำสงครามหรือการสู้รบกันเป็นกลุ่มและอย่างเป็นระบบ และเมื่อศึกษาให้ละเอียด จะพบว่าการสู้รบกันอย่างนองเลือดและฆ่ากันเป็นเบือนั้นกระจุกตัวอยู่ในช่วง ๒,๐๐๐ ปีสุดท้าย ด้วยเหตุนี้จึงชวนให้คิดว่าประวัติศาสตร์อันนองเลือดของมนุษย์นั้นกินเวลาเพียง ๐.๑% ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด พูดอีกอย่างหนึ่ง ๙๙.๙ % ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นช่วงเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

    น่าสังเกตว่ามนุษย์เมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า วิถีชีวิตดังกล่าวมีส่วนไม่น้อยในการทำให้มนุษย์ห่างไกลจากสงคราม เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ ที่ดินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะต้องแย่งชิงกัน ขณะเดียวกันประชากรยังมีจำนวนน้อย พื้นที่ว่างมีมาก ประชากรเฉลี่ย ๑ คนต่อพื้นที่ ๑ ตารางไมล์ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลหรือระหว่างเผ่าจึงมีน้อย

    เราพบว่าในหมู่ชนดั้งเดิมที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่าแม้กระทั่งทุกวันนี้ การใช้ความรุนแรงมีน้อยมาก อัตราการฆ่าตกรรมในกลุ่มชาวคุงซึ่งยังชีพแบบดั้งเดิมในอาฟริกามีน้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสังคมสมัยใหม่ เมื่อมีการทะเลาะกัน ชาวบุชเมนจะรีบขอให้คนอื่นมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เมื่อมีคนจากกลุ่มหนึ่งเข้ามาล่าสัตว์ในเขตของอีกกลุ่มโดยไม่ได้ขออนุญาต ฝ่ายที่เป็น “เจ้าของ” เขตแดนจะขอให้เพื่อนบ้านไปเป็นพยาน และเข้าไปพูดคุยกับผู้บุกรุก พร้อมกับตักเตือนไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก เมื่อมีผู้นำภาพสงครามจากนิตยสารไทม์ไปให้ชาวบุชเมนดู พวกเขากลับแสดงความพิศวง มีทั้งความไม่เชื่อและเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมต้องใช้วิธีที่โหดร้ายเช่นนั้น
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    จริงอยู่ชนเผ่าพื้นเมืองที่ดุร้ายก็มีอยู่ อาทิ เผ่ายาโนมามีในบราซิล หรือวาโอรานีในเอกวาดอร์ แต่กรณีชนเผ่าบุชเมนและอีกหลายชนเผ่าทั่วโลก รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อหมื่นกว่าปีขึ้นไปได้ชี้ว่า มนุษย์นั้นไม่ได้มีสัญชาตญาณใฝ่ความรุนแรงไปเสียหมด หรือไม่ได้มีสัญชาตญาณเช่นนั้นอย่างเดียว มนุษย์ยังมีสัญชาตญาณใฝ่สันติอยู่ด้วย สัญชาตญาณดังกล่าวได้รับการหนุนเสริมจากการเรียนรู้ว่า เมื่อใช้ความรุนแรง ย่อมถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง เคยมีคนถามชนเผ่าเซไมในมาเลเซียว่า “ทำไมคุณไม่ไปตีคนอื่น” คำตอบที่ได้ก็คือ “แล้วถ้าเขาตีตอบล่ะ?” ใช่แต่เท่านั้นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่อำนวย ย่อมทำให้ผู้คนตระหนักว่าการร่วมมือกันและการหันหน้าเข้าหากันเป็นวิธีการอยู่รอดที่ดีที่สุด

    ที่น่าสนใจก็คือการร่วมมือและคืนดีกันนั้นเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่ในสัตว์นานาชนิดด้วย โลมานั้นหลังจากวิวาทกันไม่นานคู่กรณีทั้ง ๒ ฝ่ายก็มักจะเอาตัวเข้ามาถูกันอย่างนุ่มนวลหรือไม่ก็ดุนตัวกัน หมาป่าไฮยีนาซึ่งได้ชื่อว่าดุร้ายและทะเลาะ แต่ไม่ถึง ๕ นาทีหลังจากสู้กันมันก็จะกลับมาหยอกล้อกัน เลียตัวกัน หรือถูกตัวให้กัน ยิ่งลิงด้วยแล้ว การทะเลาะกันมักจะลงเอยด้วยการคืนดีกันเสมอ ถ้าเป็นชิมแปนซี ตัวที่แพ้จะเป็นฝ่ายเข้าไปคืนดี แต่ถ้าเป็นโบโนโบ ตัวที่ชนะมักจะเข้าไปง้อก่อน

    พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลรองรับ สัตว์เหล่านี้รู้ดีว่าหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของกลุ่มทั้งหมด หากมีสมาชิกหนีออกไปเรื่อย ๆ เพราะมีเรื่องมีราวกัน กลุ่มก็จะมีขนาดเล็กลง ทำให้หาอาหารได้น้อยลง และมีกำลังน้อยลงในการต่อสู้กับผู้รุกราน และถึงแม้จะไม่มีการหนีจากกลุ่ม แต่ถ้ายังมีความบาดหมางกันอยู่ ทั้งสองฝ่ายก็จะเกิดความกังวลและต้องคอยระแวดระวังเพราะกลัวจะถูกทำร้าย ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งมีผลต่อภูมิต้านทานในร่างกาย เคยมีการตรวจสอบร่างกายของสัตว์เหล่านี้ พบว่าการคืนดีนั้นช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เครียดน้อยลง

    นักสัตววิทยาพบว่ายิ่งสัตว์มีการพึ่งพากันมากเท่าไร การปล่อยให้ความบาดหมางยืดยาวออกไปย่อมก่อผลเสียต่อตัวเองมากเท่านั้น การศึกษาลิงบางชนิดพบว่าการคืนดีหลังการต่อสู้กันมักจะเกิดกับคู่ที่มักจะช่วยกันหาอาหารมากกว่ากับคู่อื่น ๆ จะว่าไปแล้วนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ชนเผ่าดั้งเดิมพยายามหันหน้าเข้าหากันเมื่อเกิดความขัดแย้ง พวกเขารู้ดีว่าทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันถึงจะอยู่รอดได้ ถ้ามีความร้าวฉานเกิดขึ้น กลุ่มก็จะอ่อนแอและทุกคนก็อยู่ในความเสี่ยง

    ระบบเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีในสังคมสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนสำคัญผิดว่าตนเองสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เพียงมีเงินในกระเป๋าก็เอาตัวรอดได้ จะทำอะไรก็อาคัยเทคโนโลยีโดยไม่จำต้องงอนง้อใคร แต่นั่นเป็นภาพลวงตา เพราะถึงที่สุดแล้วความผาสุกของแต่ละคนไม่อาจแยกจากของส่วนรวมได้ ยิ่งโลกาภิวัตน์ทำให้คนทั้งโลกมาใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อกันมากขึ้น แต่ละคนอยู่ได้ด้วยตนเองก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในระยะยาวแล้วย่อมไม่อาจแยกขาดจากส่วนรวมได้

    สันติภาพและการคืนดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตระหนักว่าเราทุกคนล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ความผาสุกของผู้อื่นคือความผาสุกของเราด้วย และที่จะลืมไม่ได้ก็คือการตระหนักว่า ความรุนแรงไม่ใช่สัญชาตญาณของมนุษย์เท่านั้น ความรักสันติก็เป็นสัญชาตญาณของเราด้วยเช่นกัน แม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันเราก็คือ “เผ่าพันธุ์นักไกล่เกลี่ยคืนดี” การเห็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างรอบด้านจะช่วยให้สัญชาตญาณใฝ่สันติของมนุษย์มีโอกาสที่จะเติบโตทัดเทียมหรือยิ่งกว่าสัญชาตญาณใฝ่ความรุนแรง และสามารถนำพามนุษยชาติสู่สันติภาพอันยั่งยืนได้

    หากเราย่อวิวัฒนาการของมนุษยชาติที่ยาวนานกว่า ๒ ล้านปีให้เหลือเพียง ๒๔ ชั่วโมง มนุษย์เราได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความขัดแย้งมาตั้งแต่เช้ามืด ตลอดบ่าย เย็น และค่ำจนกระทั่งเกือบเที่ยงคืน ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงและนองเลือดจึงเกิดขึ้น ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นคือ ๑ นาทีก่อนเที่ยงคืนเท่านั้นเอง คำถามก็คือเราจะปล่อยให้ ๑ นาทีสุดท้ายนั้นพามนุษยชาติไปสู่จุดจบหรือเคลื่อนสู่วันใหม่ที่ดีกว่าเดิม ?
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254808.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    มองเป็น เห็นประโยชน์จากทุกสิ่ง
    พระไพศาล วิสาโล
    ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักมอง ถ้าเราวางใจเป็นเราสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่ง แม้ว่ามันจะเป็นความเจ็บปวด ความสูญเสีย ตอนที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๔ มีผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัวเป็นจำนวนมาก บางคนก็กลุ้มอกกลุ้มใจจนเป็นบ้า ฆ่าตัวตาย ซึ่งจัดว่าเป็นการซ้ำเติมตัวเอง เพราะว่าน้ำท่วมทำได้แค่พัดพาและทำลายทรัพย์สมบัติของเรา ไม่ได้ทำมากไปกว่านั้น แต่เมื่อวางใจไม่เป็นก็เลยกลุ้มอกกลุ้มใจจนเสียสติ จนเป็นบ้า หรือทำร้ายตัวเอง

    แต่มีอยู่คนหนึ่งไม่ทุกข์เท่าไร เธอบอกว่าน้ำท่วมคราวนี้ทำให้เห็นเลยว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทุกอย่างมาอยู่กับเราแค่ชั่วคราวเท่านั้น อันนี้ถือว่าเธอได้ประโยชน์จากน้ำท่วม เพราะทำให้เห็นสัจธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่ทุกข์จากน้ำท่วมครั้งนั้น ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์เพราะความสูญเสียครั้งต่อ ๆ ไปด้วย

    เราสามารถได้ประโยชน์จากความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมาสอนเราว่า สังขารไม่เที่ยง มาเตือนให้เราไม่ประมาทกับเวลาที่เหลืออยู่ ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” คือมีปัญญาเห็นสัจธรรมของสังขารร่างกาย หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาตมา ป่วยด้วยโรคมะเร็งครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ ตอนที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ท่านบอกว่า “มันแสนสบายหนอ เพราะมีคนทำให้ทุกอย่าง” ท่านยังกล่าวอีกว่า “ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไรหรอก เห็นไตรลักษณ์อย่างเดียวพอแล้ว มันแสดงให้เราเอง” เวลาเราป่วยก็ลองทำอย่างนี้ดูบ้าง คือพิจารณาไตรลักษณ์ จากร่างกายนี้ ไม่ใช่เอาแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ว่าทำไมต้องเป็นฉัน

    การสูญเสียคนรักก็สอนให้เราเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร และเห็นโทษของความติดยึด อย่างนางกีสาโคตมี พอเห็นตรงนี้ได้ ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันทันที ก่อนหน้านั้นนางสูญเสียลูกน้อย ซึ่งอายุแค่ ๒-๓ ขวบ นางยอมรับไม่ได้ที่ลูกตาย อุ้มศพลูกเพื่อขอให้ใครต่อใครช่วยปลุกให้ฟื้น แต่สุดท้าย พอได้เจออุบายธรรมจากพระพุทธเจ้า ซึ่งรับปากว่าจะช่วยนางได้หากหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายมาให้พระองค์ หลังจากที่ไปหาอยู่นาน ก็ไม่พบเมล็ดผักกาดที่ว่า เพราะทุกบ้านล้วนมีคนตายแล้วทั้งนั้น ในที่สุดนางก็เห็นชัดว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกครอบครัวและทุกคนก็ล้วนสูญเสียทั้งนั้น เมื่อกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมสั้น ๆ ว่า “มฤตยูย่อมพาเอาผู้คนที่มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ย่อมพัดพาเอาผู้คนที่หลับใหลไป ฉะนั้น” นางกีสาโคตมีพิจารณาตาม ปัญญาเกิด ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที นับว่าได้ประโยชน์จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น หากนางไม่สูญเสียลูก อาจไม่มีโอกาสบรรลุธรรมเลยก็ได้

    คำด่าก็มีประโยชน์หลายอย่างได้เช่นกัน เล็ก วิริยะพันธ์ อดีตเจ้าของเมืองโบราณ เคยพูดไว้ว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล”
    มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่หลวงปู่ขาว อนาลโย สมัยยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งท่านมอบหมายให้พระลูกศิษย์ ๒ รูปไปดุด่าแม่ชีคนหนึ่งในวัด คือ แม่ชีสา ซึ่งเป็นคนอุปัฏฐากพระเณรดีมาก อีกทั้งยังใส่ใจในการปฏิบัติธรรมด้วย เมื่อพระทั้งสองรูปได้รับคำสั่งเช่นนั้น ก็ไปที่กุฏิแม่ชีสา แล้วทำตามที่หลวงปู่ขาวสั่ง คือเรียกแม่ชีสามาด่า ทีแรกแม่ชีสาก็งง แต่ว่าตั้งสติได้ นั่งพนมมือฟังคำดุด่าด้วยอาการสงบ

    พระอาจารย์ทั้งสองดุด่าอยู่นานจนไม่รู้จะด่าอย่างไรแล้ว ก็หยุด แม่ชีสาแทนที่จะโกรธหรือน้อยใจว่าทำไมทำดีกลับถูกครูบาอาจารย์ด่า กลับพูดขึ้นมาว่า “ท่านอาจารย์ดุด่าดิฉันหมดหรือยัง หรือมีคำด่าว่าอยู่อีก ดิฉันได้ยินได้ฟังแล้วมันซาบซึ้งเหลือเกิน เสียงดุด่าเป็นเสียงธรรมทั้งหมดเลยเจ้าข้า” แม่ชีสายังบอกอีกว่า “ขอให้อาจารย์ทั้งสองมาด่าดิฉันให้บ่อย ๆ ด้วย มันจะได้หมดกิเลสสักที”
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,044
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    แม่ชีสาถูกด่า แต่ใจไม่ทุกข์เลย เพราะแทนที่จะมองว่าการถูกด่าเป็นเรื่องเลวร้าย กลับมองว่าคำดุด่าว่ากล่าวเป็นของดี ช่วยขูดกิเลสและลดละอัตตา
    เมื่อเจอสิ่งที่เป็นลบหรือร้าย อย่ามัวแต่เสียใจหรือขุ่นเคือง เราควรมองหาประโยชน์จากมัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม เงินหาย ของหายก็สอนธรรมให้เราได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เห็นต้นไม้ล้ม ใบไม้ร่วง ก็เป็นธรรม แม้กระทั่งเห็นหญิงสาวยิ้มให้เป็นธรรมได้ ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระนาคสมาล ขณะที่ท่านกำลังเดินบิณฑบาตในเมือง บังเอิญมีขบวนแห่ผ่านมา ท่านเห็นหญิงฟ้อนรำคนหนึ่งแต่งตัวสวยงาม มีเครื่องประดับแวววาว ทัดทรงดอกไม้ แทนที่จะเกิดกามราคะ ท่านกลับมองว่า นี่แหละคือบ่วงแห่งมัจจุราชที่มาดักรอ พอเห็นโทษของรูปที่เห็น ก็เกิดความเบื่อหน่าย จิตหลุดพ้นจากกิเลสตรงนั้นทันที

    เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าทุกอย่างสามารถเป็นประโยชน์ในทางธรรมได้ทั้งนั้น พูดอีกอย่างคือเราสามารถเห็นธรรมได้จากทุกอย่าง ไม่ว่าบวกหรือลบ ดีหรือร้าย สวยงามหรือน่าเกลียด
    คนที่ทำได้เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นบัณฑิต ดังพุทธภาษิตอีกตอนหนึ่งที่พระนันทิยะได้ถ่ายทอดให้แก่พระองคุลิมาลฟังว่า “ผู้รู้จักถือเอาประโยชน์ทั้งจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์...... พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต”

    การที่เราจะเห็นหรือหาประโยชน์จากทุกสิ่งได้ โดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ หรือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีคือสติ หาไม่แล้วความรู้สึกยินร้าย ขัดเคืองใจ ก็จะครอบงำจิต จนคิดแต่จะผลักไส ทำลายสิ่งนั้น ๆ หรืออย่างน้อย ๆ ก็บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ก่นด่าชะตากรรม กลายเป็นการซ้ำเติมตนเอง แต่ถ้ามีสติ นอกจากใจจะไม่ทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถใช้ปัญญาใคร่ครวญจนเห็นประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ อันนี้รวมถึงอิฏฐารมณ์ หรือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่พึงปรารถนาด้วย หากไม่มีสติ ใจก็จะยินดี หลงใหลเพลิดเพลิน จนเกิดกิเลสตัณหา กลายเป็นโทษ แต่ถ้ามีสติ ก็จะรู้จักคิด และเห็นข้อเสียของมันว่าสามารถทำให้เกิดความยึดติดถือมั่น อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือไม่ก็ทำให้เกิดความประมาท ซึ่งเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวต่อไป
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256001.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...