ธรรมบรรยาย "วิชากรรมฐาน สำหรับนิสิตบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท"

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 พฤศจิกายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ธรรมบรรยายวิชากรรมฐาน (ปริญญาโท) สำหรับนิสิตบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท



    วันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน
    เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรีแห่งที่ ๒๓ (วัดท่าขนุน)
    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี
    พระวิปัสสนาจารย์ประจำกองวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย
    คณะกรรมการบริหารกองวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย
    บรรยายวิชากรรมฐานแก่นิสิตบัณฑิตศึกษา (ระดับปริญญาโท) สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ รุ่นที่ ๑๕ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    ณ ศาลา ๑๐๐ ปีหลวงปู่สาย วัดท่าขนุน หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ขอโอกาสพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. อาจารย์ประจำวิชา แล้วก็นิสิตฝ่ายบรรพชิตทุกท่าน ตลอดจนกระทั่งเจริญพรนิสิตฝ่ายคฤหัสถ์ทุกท่านเช่นกัน

    กระผม/อาตมภาพ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. ตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีอีกตำแหน่งหนึ่งที่พยายามลาออกแต่ว่ายังคาอยู่ รอการอนุมัติ ก็คือรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ ต้องบอกว่าอยู่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเรามาตั้งแต่ต้น

    คราวนี้ในวิชาที่ท่านทั้งหลายมาศึกษากันอยู่ ที่กระผม/อาตมภาพได้กล่าวไปตอนที่ยังไม่ได้เข้าห้องเรียนแล้วว่า พวกเรามาพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะได้สามารถเผยแผ่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ส่วนใหญ่แล้วที่พวกเราต้องมาศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรม เกิดจากหลักสูตรบังคับ ไม่ว่าจะเป็นวิชาธรรมภาคปฏิบัติ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗ ของระดับปริญญาตรีก็ดี หรือว่าวิชากรรมฐานของระดับปริญญาโทและปริญญาเอกก็ตาม เป็นวิชาบังคับนะครับ ถ้าวิชาเหล่านี้ท่านตก ก็แปลว่าตกหมดทุกวิชาเลย..! แล้วก็เป็นเรื่องแปลกครับ เป็นวิชาบังคับ แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับไม่คิดหน่วยกิตให้ มักจะเอาแค่ผ่านเฉย ๆ
    กระผม/อาตมภาพก็ยังงงอยู่เหมือนกันว่าท่านคิดอะไรกันอยู่ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งเลยครับ ที่ท่านทั้งหลายได้เข้ามาศึกษากัน

    วันนี้กระผม/อาตมภาพได้รับนิมนต์จากพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ แต่เนื่องจากว่าท่านแจ้งมาค่อนข้างจะเร่งด่วน
    กระผม/อาตมภาพก็เลยไม่มีพาวเวอร์พ้อยท์หรือว่าคลิปวิดีโอ มาประกอบการสอนอย่างสมัยที่ยังทำการสอนอยู่

    ตรงจุดนี้ต้องรบกวนท่านทั้งหลายใช้วิธีโบราณครับ ก็คือจด สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กะถัง โส ปัณฑิโต ภะเว การฟัง คิด ถาม เขียน เป็นหนทางแห่งนักปราชญ์ หรือว่าท่านที่ทันสมัยหน่อยก็กดเครื่องบันทึกเสียง เผื่อเอาไว้ฟังซ้ำได้

    วิชากรรมฐาน ภาษาอังกฤษว่า Buddhist Meditation ที่จำเป็นต้องใช้คำว่า Buddhist เข้าไปด้วย เพราะว่ากรรมฐานนั้นมีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว แต่ว่าส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะของมิจฉาสมาธิ ก็คือมักจะใช้ไปในทางที่ไม่ถูก บางท่านก็ถึงขนาดกลายเป็นพ่อมดหมอผีไปเลยก็มาก..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    คราวนี้เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ท่านศึกษาศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเป็นราชกุมารอยู่ แล้วจบศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการตอนพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ถ้าอยากจะรู้ว่าศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการนี้มีวิชาอะไรบ้าง ลองไปค้นคว้าหาดูนะครับ

    กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า พระพุทธเจ้าของเราจบปริญญาเอก ๑๘ ใบ ตั้งแต่อายุ ๑๖..! เพราะว่าวิชาทุกอย่างที่เรียนลึกซึ้งมากครับ อย่างเช่นว่าเรื่องของดาราศาสตร์ เรื่องของการปกครอง ท้ายสุด แม้กระทั่งการต่อสู้ การรบ ตำราพิชัยสงคราม ถ้าหากว่าเป็นทางประเทศอินเดียเขานิยมเน้นวิชายิงธนูกัน ภาษาบาลีเขาว่าธนุพเพธา

    ลองไปค้นดู จะเห็นอัจฉริยภาพว่าทำไมคนเขาถึงเชื่อมั่นว่า เจ้าชายสิทธัตถะถ้าหากว่านั่งราชบัลลังก์เมื่อไร จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก ก็ท่านเล่นจบด็อกเตอร์ ๑๘ ใบตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีเท่านั้น

    แต่ด้วยความที่พระองค์ท่านมีปัญญามาก เมื่อเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ก็คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวชแล้ว ก็มีจิตน้อมไปในการบรรพชาอุปสมบท จึงออกมหาภิเนษกรมณ์ อธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เอาดี ๆ นะครับ ส่วนใหญ่พวกเรามักจะสับสนกัน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราที่เราเคยชินหูกัน เป็นแม่น้ำที่พระองค์ท่านลอยถาดและนั่งสมาธิใต้โพธิบัลลังก์ใกล้แม่น้ำแห่งนั้น

    พวกร่องรอยต่าง ๆ ในสมัยนี้ที่ประเทศอินเดียซึ่งท่านทั้งหลายไปแสวงบุญกัน เราเอาแค่อนุสติ คือการระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าองค์พระอริยสงฆ์ในสมัยนั้น น้อยที่ครับจะตรงกับสถานที่จริง บางแห่งนี่ห่างกันเป็นกิโลเมตรเลย แต่ว่าเรื่องพวกนั้นไม่ต้องไปพูดถึงครับ เพราะว่าเกินกว่าคนทั่ว ๆ ไปเขาจะรู้เห็นกัน


    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว หลายท่านที่สามารถสวดธรรมนิยามได้ จะเห็นว่าพระองค์ท่านยืนยันไว้ชัดเจนว่า

    อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจักอุบัติขึ้นก็ดี

    อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง หรือว่าพระตถาคตเจ้าทั้งหลายจักไม่อุบัติขึ้นก็ดี

    ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา ธรรมทั้งหลายก็ตั้งมั่น คือมีอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ธัมมะนิยามะตา คำจำกัดความของคำทั้งหลายเหล่านั้นคือ

    สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คือเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลางและสลายไปในที่สุด

    สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ก็คืออยู่เมื่อไรก็ต้องทน ไม่ทนทางกาย ก็ต้องทนทางใจ

    สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ธรรมทั้งหลายไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนได้ ท้ายที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไปหมด

    ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุขึ้นแล้ว ท่านใช้คำว่าพระตถาคตเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

    อาจิกขะติ เทเสติ นำมาบอกกล่าว นำมาแสดง

    ปัญญะเปติ ปัฏฐะเปติ นำมาบัญญัติ นำมาก่อตั้ง

    วิวะระติ วิภะชะติ เอามาจำแนก เอามาแยกแยะ

    อุตตานีกะโรติ ทำของลึกให้ตื้น คือทำของยากให้ง่ายขึ้น

    ในเมื่อพระองค์ท่านจัดเป็นหมวดหมู่แยกแยะออกมาแล้ว กรรมฐานจึงมี ๒ อย่าง เรียกว่าสมถกรรมฐาน ๑ กับ วิปัสสนากรรมฐาน ๑

    สมถกรรมฐานเป็นเครื่องระงับจิตใจของเราให้สงบลง ควรแก่การใช้งาน แต่ว่าอันตรายมาก..! เพราะว่าถ้าใช้ผิดแม้แต่นิดเดียวจะกลายเป็นมิจฉาสมาธิ ก่อให้เกิดโทษได้มากกว่าประโยชน์ วิปัสสนากรรมฐานเป็นเครื่องช่วยให้เราเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงของโลกนี้ ทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    คราวนี้ในส่วนของสมถกรรมฐาน ที่กระผม/อาตมภาพบอกเอาไว้ว่า ถ้าใช้ผิดจะเป็นมิจฉาสมาธิ ก่อให้เกิดโทษ แบ่งออกง่าย ๆ เป็น ๔๐ กอง ประกอบไปด้วย
    อนุสติ คือการตามระลึกถึงคุณงามความดีของสิ่งต่าง ๆ ๑๐ ประการด้วยกัน มีพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นต้น ก็คือการระลึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปจนถึงท้ายสุด อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสงบระงับ ปราศจากกิเลสของพระนิพพาน
    หมวดต่อไปก็คือกสิณ ๑๐ กสิณประกอบไปด้วยกองกรรมฐาน ๑๐ ประการที่ต้องมีเครื่องช่วยในการฝึก ที่เรียกว่า "องค์กสิณ" ประกอบไปด้วยกสิณดิน น้ำ ลม ไฟ ไปจนกระทั่งถึงกสิณอากาศในท้ายสุด สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยวัตถุภายนอกเป็นเครื่องกำหนดใจ ที่เราเรียกว่า "เพ่ง" ส่วนใหญ่แล้วนักปฏิบัติมักเข้าใจคำว่าเพ่งผิดไป จึงไปนั่งจ้องจนกระทั่งบางทีน้ำตาไหลก็มี..!
    คำว่า "เพ่ง" ในที่นี้คือกำหนดจดจำเอาไว้ให้มั่นคงแล้วนึกถึง พอความรู้สึกนั้นเลือนหายไป เราก็ลืมตาขึ้นมองวัตถุนั้นใหม่ แล้วตั้งใจจำ หลับตาลงนึกถึง พร้อมกับคำภาวนาใหม่
    แต่เรามักจะไปแปลตามบาลี กสิณะ ในความเพ่ง แล้วไปจ้องกันจนน้ำตาไหลไปหลายราย แม้แต่กระผม/อาตมภาพเอง สมัยที่ฝึกใหม่ ๆ ก็จ้องมาแล้วเหมือนกัน กว่าจะที่รู้ทิศรู้ทางก็เสียเวลาไปนานทีเดียว
    หมวดที่ ๓ มีอีก ๑๐ กอง เรียกว่า อสุภกรรมฐาน ๑๐ ก็คือการที่บุคคลซึ่งมีราคจริต หรือว่าเป็นผู้ที่มีพุทธิจริต คำว่าราคจริตนั้นคือประเภทรักสวยรักงาม แต่ว่าเน้นในเรื่องของกาม ยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    ส่วนในเรื่องของพุทธิจริตนั้น เป็นผู้ที่มีปัญญามาก ถ้าหากว่ามาฝึกกรรมฐานทั้งหลายเหล่านี้ จะสามารถดึงเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานได้เร็วมาก เริ่มตั้งแต่อุทธุมาตกอสุภ คือซากศพที่ขึ้นพอง จนกระทั่งไปลงท้ายที่อัฏฐิกอสุภ คือซากศพที่เหลือแต่โครงกระดูกแล้ว
    คราวนี้ในส่วนของสมถกรรมฐาน ที่กระผม/อาตมภาพบอกเอาไว้ว่า ถ้าใช้ผิดจะเป็นมิจฉาสมาธิ ก่อให้เกิดโทษ แบ่งออกง่าย ๆ เป็น ๔๐ กอง ประกอบไปด้วย

    อนุสติ คือการตามระลึกถึงคุณงามความดีของสิ่งต่าง ๆ ๑๐ ประการด้วยกัน มีพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นต้น ก็คือการระลึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปจนถึงท้ายสุด อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสงบระงับ ปราศจากกิเลสของพระนิพพาน

    หมวดต่อไปก็คือกสิณ ๑๐ กสิณประกอบไปด้วยกองกรรมฐาน ๑๐ ประการที่ต้องมีเครื่องช่วยในการฝึก ที่เรียกว่า "องค์กสิณ" ประกอบไปด้วยกสิณดิน น้ำ ลม ไฟ ไปจนกระทั่งถึงกสิณอากาศในท้ายสุด สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยวัตถุภายนอกเป็นเครื่องกำหนดใจ ที่เราเรียกว่า "เพ่ง" ส่วนใหญ่แล้วนักปฏิบัติมักเข้าใจคำว่าเพ่งผิดไป จึงไปนั่งจ้องจนกระทั่งบางทีน้ำตาไหลก็มี..!

    คำว่า "เพ่ง" ในที่นี้คือกำหนดจดจำเอาไว้ให้มั่นคงแล้วนึกถึง พอความรู้สึกนั้นเลือนหายไป เราก็ลืมตาขึ้นมองวัตถุนั้นใหม่ แล้วตั้งใจจำ หลับตาลงนึกถึง พร้อมกับคำภาวนาใหม่

    แต่เรามักจะไปแปลตามบาลี กสิณะ ในความเพ่ง แล้วไปจ้องกันจนน้ำตาไหลไปหลายราย แม้แต่กระผม/อาตมภาพเอง สมัยที่ฝึกใหม่ ๆ ก็จ้องมาแล้วเหมือนกัน กว่าจะที่รู้ทิศรู้ทางก็เสียเวลาไปนานทีเดียว

    หมวดที่ ๓ มีอีก ๑๐ กอง เรียกว่า อสุภกรรมฐาน ๑๐ ก็คือการที่บุคคลซึ่งมีราคจริต หรือว่าเป็นผู้ที่มีพุทธิจริต คำว่าราคจริตนั้นคือประเภทรักสวยรักงาม แต่ว่าเน้นในเรื่องของกาม ยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ

    ส่วนในเรื่องของพุทธิจริตนั้น เป็นผู้ที่มีปัญญามาก ถ้าหากว่ามาฝึกกรรมฐานทั้งหลายเหล่านี้ จะสามารถดึงเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานได้เร็วมาก เริ่มตั้งแต่อุทธุมาตกอสุภ คือซากศพที่ขึ้นพอง จนกระทั่งไปลงท้ายที่อัฏฐิกอสุภ คือซากศพที่เหลือแต่โครงกระดูกแล้ว
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ๓๐ หัวข้อแล้วนะครับ อนุสติ การตามระลึกถึง เป็นกองกรรมฐานที่ฝึกง่ายที่สุด ๑๐ กองด้วยกัน นับเป็น ๑๐ หัวข้อ

    กสิณ ๑๐ เป็นกองกรรมฐานที่ฝึกค่อนข้างยาก ต้องเอาสติคอยประคับประคององค์กสิณอยู่ตลอดเวลา ทั้งหลับ ทั้งตื่น ทั้งยืน ทั้งนั่ง ห้ามเผลอ เผลอเมื่อไรภาพหายหมด ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

    อสุภกรรมฐาน ๑๐ การเพ่งพิจารณาซากศพ ๑๐ ประเภทด้วยกัน สมัยนี้หาดูยากครับ ท่านทั้งหลายที่ไปโหลดภาพจากอินเตอร์เน็ตมา กระผม/อาตมภาพขอบอกว่าไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะว่ามีแต่ภาพครับ สี กลิ่น รสต่าง ๆ มีไม่ครบถ้วน ต้องเจอของจริงครับ แล้วจะรู้ว่าอ้วกแตกเป็นอย่างไร นี่ว่าไป ๓๐ ข้อแล้วนะครับ

    ถัดไปเป็นกรรมฐานที่หมวดหนึ่งมี ๔ ข้อ คือพรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรารู้จักกันนี่แหละครับ แต่ว่าเป็นกองกรรมฐานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ๔ กองด้วยกัน

    เมตตา ต้องตั้งอารมณ์ไว้ที่ รักคนอื่นเสมอด้วยตัวเรา เราไม่ชอบอะไรก็อย่าทำสิ่งนั้นกับคนอื่น

    กรุณา อยากให้คนอื่นที่ทุกข์อยู่พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น บางท่านก็กรุณาเกินประมาณ ช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ ตัวเองกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มี..!

    มุทิตา มีจิตพลอยยินดีกับคนอื่น อีกไม่กี่วันพวกเราจะรับปริญญาบัตรกันแล้ว ถึงเวลานั้นก็จะมีคนมาแสดงความยินดีด้วย

    ท้ายที่สุด อุเบกขา สุดยอดกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ ป้องกันไม่ให้ท่านทั้งหลายบ้าครับ..!
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ที่ใช้คำนี้ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายบางท่านไม่มีความพอเหมาะพอดีในการรักษากำลังใจตนเอง ถึงเวลาช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ก็เครียด ซึมเศร้า น้อยใจ ถ้าไม่มีกองกรรมฐานข้ออุเบกขา ท่านทั้งหลายไปไม่รอดครับ ส่วนใหญ่ก็ไปอาศัยจิตแพทย์ช่วยกันกล่อมเกลา โดยเฉพาะท่านที่เป็นพระ คงจะลืมไปว่าตัวเองนี่แหละเป็นจิตแพทย์..! เพราะชาวบ้านมักจะมาปรึกษาหารืออยู่เสมอ แต่ท่านทั้งหลายต้องวางตัวเป็นผู้ดูนะครับ อย่าไปเป็นผู้เล่นเป็นอันขาด ลงไปเป็นผู้เล่นเมื่อไรก็เจ๊งเมื่อนั้น..!

    กระผม/อาตมภาพเจอพระเปรียญธรรม ๙ ประโยค สึกไปช่วยเลี้ยงลูกให้ชาวบ้าน เพราะว่าขาดอุเบกขาครับ เนื่องจากว่าชาวบ้านมาบ่น สามีก็ตาย ลูกก็กำลังเรียนหนังสือ ทำมาหากินลำบากเหลือเกิน อุตส่าห์สึกหาลาเพศออกไปเพื่อที่จะไปช่วยเขาเลี้ยงลูกครับ แล้วกำลังใจท่านดีจริง ๆ ไปทำหน้าที่เลี้ยงลูกอย่างเดียว ส่งจนจบปริญญาตรีแล้วกลับมาบวชใหม่ครับ..!

    กำลังใจแบบนี้
    กระผม/อาตมภาพถือว่าขาดอุเบกขายังไม่พอ ยังขาดปัญญาอีกด้วย จะช่วยเขาเลี้ยงลูก ตนเองประเภทออกกิจนิมนต์มีเงินอะไรก็แบ่งให้เด็กไปเรียนหนังสือก็ได้ครับ ให้ทุนการศึกษาก็ได้ แต่ว่าชื่นชมกำลังใจท่านนะครับ ไปช่วยเขาเลี้ยงลูกอย่างเดียว แปลว่าขาดกองกรรมฐานข้ออุเบกขา ท่านจะเห็นว่ากรรมฐานหมวดนี้ ๔ กองด้วยกัน อารมณ์ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลยครับ

    ถัดไปอีก ๔ กองเรียกว่าอรูปฌาน ๔ ตั้งแต่อากาสานัญจายตนฌานขึ้นไป จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน กรรมฐานกองนี้มีกฎเกณฑ์กติกาสำคัญอยู่ครับ ก็คือท่านต้องได้กสิณกองใดกองหนึ่งมาก่อน ไม่อย่างนั้นไม่สามารถที่จะทำเป็นอรูปฌานได้ เพราะว่าไม่มีรูปที่จะตั้งขึ้นมาก่อน แล้วค่อยสละรูปเป็นอรูป คือความไม่มีรูปครับ

    ใครจะเล่นอรูปฌานต้องไปเล่นกสิณให้ได้อย่างน้อย ๑ กอง ซึ่งกสิณทั้งหมด ๑๐ กองนั้น มีอยู่กองหนึ่งที่ไม่เหมาะกับอรูปฌานเลย ก็คืออากาสกสิณ เนื่องเพราะว่ามีอารมณ์ใกล้เคียงกันมาก ใกล้เคียงตรงไหนครับ ?
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    อากาสกสิณกำหนดช่องว่างเป็นอารมณ์ อากาสานัญจายตนฌานกำหนดความกว้างขวาง ไม่มีขอบเขตของอากาศเป็นอารมณ์ ก็คืออยู่ในลักษณะของมหภาคกับจุลภาคครับ อากาสกสิณเป็นแค่จุลภาค คือส่วนเล็ก ต้องการแค่ช่องว่างจุดใดจุดหนึ่งแล้วเอามากำหนดเป็นกองกสิณเท่านั้น แต่อากาสานัญจายตนฌานนี่ ต้องการความว่างไม่มีขอบเขตเลยครับ ครอบคลุมทั้งโลกทั้งจักรวาลได้ก็เอา ดังนั้น..กรรมฐาน ๒ กองนี้ใกล้เคียงกัน จึงกำหนดเป็นองค์กสิณที่มาใช้สำหรับเพิกรูปไปทิ้งยากมากครับ

    อีกประการหนึ่งก็คือ กฎเกณฑ์กติกาของอรูปฌานนั้น ก็คือท่านต้องได้สมาธิระดับแนบแน่นที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ถึงระดับฌาน ๔ คล่องตัวด้วยครับ ไม่เช่นนั้นแล้วท่านก็ไม่สามารถที่จะมาแตะกองกรรมฐาน ๔ กองนี้ ในเมื่อยุ่งยากมาก พวกเราก็ปล่อยให้กองไว้ตรงนั้นแหละครับ

    เราได้ทั้งหมด ๓๘ กองแล้วนะครับ กองต่อไปเรียกว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา การพิจารณาอาหารว่ามีพื้นฐานมาจากความปฏิกูล คือสกปรกโสโครก ถ้าเคยไปเมืองจีนจะเห็นชัดเจนครับ เขาเล่นตักของในส้วมมา ผสมน้ำถังใหญ่ ๆ กวนให้เข้ากันแล้วก็รดผักของเขา งามมากครับ ผักเขียวปี๋เลย เขียวจนดำครับ แต่เราก็รู้นะครับว่าเราเพิ่งจะถ่ายลงไปแท้ ๆ เขาเอามารดผักให้เรากิน ถามท่านอาจารย์พระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. ดูครับ ไปนั่งฉันมาด้วยกันแล้ว..!

    เราจะเห็นว่าอาหารทั้งหมดพื้นฐานมาจากความสกปรกจริง ๆ เพราะไม่ว่าจะปุ๋ย ซึ่งเป็นความสกปรกที่เราเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นที่เกิด ก็คือเกิดมาจากพื้นที่เต็มไปด้วยความสกปรก ไม่ว่าจะเนื้อหาในตัวของอาหารเอง ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ก็จะปรากฏว่ามีเลือด มีคาว มีทุกสิ่งทุกอย่างที่น่ารังเกียจ แต่พอทำสุก เรากลับรู้สึกว่าอร่อย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าอวิชชามาบังปัญญาไปครับ เราจึงไม่สามารถที่จะเห็นชัดเจนได้ จึงต้องพิจารณาบ่อย ๆ

    หลวงตาปรีชา อกิญฺจโน พระลูกวัดของผม ตอนนี้ก็ ๒๐ กว่าพรรษาแล้วครับ ท่านถามว่า "อาจารย์ครับ อย่างอื่นก็พอจะพิจารณาได้ว่าสกปรก แต่ผลไม้สุกงอมหอมหวาน เหลืองอร่ามมาแต่ไกลเลย ผมจะพิจารณาอย่างไรว่าสกปรกครับ ? มองไม่ออกเลยครับ"

    กระผม/อาตมภาพก็เรียนถวายหลวงตาไปว่า "หลวงตาต้องคิดใหม่ ที่หลวงตาว่าสุกงอมหอมหวาน ความจริงผลไม้นั้นกำลังเน่าครับ แต่คนเราฉลาดมาก พอเน่ากำลังได้ที่เราก็เอามากินก่อน" เพราะฉะนั้น..ในหัวข้อนี้เราต้องมีปัญญาเพียงพอนะครับ ถ้าหากว่าปัญญาของเราไม่พอจะมองไม่เห็นชัดเจน
     
  9. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ข้อสุดท้ายของสมถกรรมฐาน ๔๐ กอง คือกองที่ ๔๐ มี ๔ หัวข้อ แต่จัดอยู่ในหมวดเดียว คือจตุธาตุววัฏฐาน การพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ สักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัยเท่านั้น คือร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี ของวัตถุธาตุสิ่งของใดก็ตาม มีส่วนประกอบคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือน ๆ กันครับ

    ส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ต้องได้ อย่างเช่น เนื้อ หนัง กระดูก เส้นเอ็น อวัยวะภายใน ภายนอก อย่างเช่นพวก ตับ ไต ไส้ ปอด แขน ขา หัว หู หน้าตาของเรา จัดเป็นส่วนของธาตุดิน

    ส่วนที่เป็นความชุ่มชื้นเอิบอาบอยู่ในร่างกายของเรา เรียกว่าธาตุน้ำ มีเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ

    ในส่วนที่เป็นช่องว่างในร่างกายหรือว่าเป็นส่วนที่พัดไปมาได้ เรียกว่าธาตุลม อย่างเช่นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก บาลีแยกออกเป็น ๒ อย่างนะครับ ก็คือ อานะ หายใจเข้า กับอาปานะ หายใจออก เมื่อมารวมกันเลยกลายเป็นอานาปานะ ลมหายใจเข้าออก ที่เราจัดเป็นอนุสติกองหนึ่งที่สำคัญสุด ๆ ก็คืออานาปานุสติ มาจากศัพท์ที่ว่า อานะ+อาปานะ เท่านั้นเอง ก็คือหายใจเข้ากับหายใจออกนี่แหละครับ บาลีก็เลยกำหนดไว้ว่า ลมหายใจเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ลมหายใจออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง

    ลมที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ ที่เรียกว่าแก๊สครับ ลมที่ค้างอยู่ในช่องว่างของร่างกาย เช่น ช่องหู ช่องจมูก เป็นอากาศธาตุแท้ ๆ แล้วก็ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกายที่เราเรียกว่าความดันโลหิต สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธาตุลมครับ
     
  10. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    อีกส่วนหนึ่งมีลักษณะชัดเจนก็คืออบอุ่น เรียกว่าธาตุไฟ มีไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายนี้ให้เจริญเติบโตขึ้น ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายนี้ให้ทรุดโทรมลง ทั้ง ๒ อย่างนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนะครับ

    พระพุทธเจ้าของเราสุดยอดมาก กว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะตามทันก็ ๒,๐๐๐ กว่าปีครับ เขาถึงได้รู้ว่าออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป นอกจากก่อให้เกิดพลังช่วยในการเผาผลาญสันดาปแล้ว ยังเผาทำลายเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายไปในตัวอีกด้วย..!

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ไฟธาตุจึงมีทั้งส่วนที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต และเผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง นอกจากนั้นยังมีไฟธาตุที่ทำให้เรากระวนกระวายยามป่วยไข้ ไฟธาตุที่ช่วยสันดาป เผาย่อยอาหารของเรา

    ส่วนใหญ่เด็กสมัยนี้มักจะป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษครับ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าไปกินข้าวคำน้ำคำ ทันทีที่อาหารลงไปสู่กระเพาะ ร่างกายจะส่งไฟธาตุมาเผาย่อยอาหาร สมัยนี้เขาไม่เรียกไฟธาตุ เขาเรียกน้ำย่อย ในเมื่อไฟกำลังเผา ทำหน้าที่ของตัวอยู่ แล้วเราก็กลืนน้ำลงไปดับ ถ้าหากเป็นสมัยเก่า ก็คือในเมื่อน้ำไปดับไฟ ไฟก็ไม่สามารถเผาย่อยอาหารได้ หมอสมัยใหม่บอกว่า น้ำลงไปทำให้น้ำย่อยเจือจาง ย่อยอาหารไม่ได้ครับ ก็เลยเกิดอาการอาหารเป็นพิษ หามส่งโรงพยาบาลมาเยอะต่อเยอะแล้ว
    โรคนี้แค่เลิกนิสัยกินข้าวคำน้ำคำก็หายแล้วครับ

    เราจะเห็นแล้วนะครับว่า ถ้าเราแยกออกมาเป็น ๔ อย่าง ก็คือส่วนที่แข็งเป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้นเป็นอัน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น เหล่านั้น เป็นต้น

    ส่วนที่เหลว ไหลเอิบอาบอยู่ในร่างกาย คือเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เป็นต้น

    ส่วนที่พัดไปมาในร่างกาย พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ค้างอยู่ในท้องในไส้ ตลอดจนกระทั่งลมหายใจเข้าออก เป็นต้น

    และท้ายที่สุด ส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกาย มีทั้งกระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโต มีทั้งเผาผลาญให้ร่างกายทรุดโทรมลง เป็นต้น

    แยกออกมาแล้วหมดเกลี้ยง ไม่เหลืออะไรให้เรายึดถือมั่นหมายได้เลยครับ
     
  11. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    กรรมฐานทั้ง ๔๐ กองนี้ พระพุทธเจ้าท่านแบ่งแยกออกมาเพื่อให้เหมาะกับแต่ละจริต คำว่า จริต คือพื้นฐานความชอบของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งประกอบไปด้วยพุทธิจริต มีความฉลาดมาก ประเภทฟังหัวข้อก็รู้แจ้งแทงตลอดแล้วครับ ท่านทั้งหลายเหล่านี้ท่านบอกว่า ควรที่จะฝึกกรรมฐานกองยาก ๆ อย่างเช่นว่ากายคตาสติ การเห็นร่างกายอย่างชัดเจนว่าไม่มีอะไรเป็นแท่งทึบ ประกอบไปด้วยเครื่องจักรกล คือ ตับ ไต ไส้ ปอด ต่าง ๆ เต็มไปหมด

    ไอ้ที่เห็นสวยเช้งกระเด๊ะ เดินผ่านหน้าเราไป บางทีท่านเปรียบไว้ว่าเป็นถุงห่อขี้เท่านั้นครับ หรือถ้าหากว่าในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านบอกว่าเหมือนถุงไถ้ที่บรรจุไว้ด้วยเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ ถึงเวลาเราเทออกมาก็จะแยกแยะได้ว่า สาลิ นี่คือข้าว วีหิ นี่คือถั่ว ตัณฑุลา นี่คืองา เป็นต้น

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็โดนสิ่งทั้งหลายเหล่านี้บดบังตาอยู่ เมื่อธาตุทั้ง ๔ ประกอบกันเข้าไป เรามาอยู่อาศัยตามเวรตามกรรมที่ได้ทำมา เราก็มักจะไปยึดถือว่านี่ตัวกูของกู เท่านั้นยังไม่พอนะครับ ยังโน่น ทรัพย์สมบัติของกู ลูกกู เมียกู สารพัด ยิ่งยึดมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นเครื่องถ่วง ทำให้เราไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปได้

    บุคคลที่หวังความหลุดพ้น พระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำกองกรรมฐานเพิ่มเติมให้ จะว่าไปแล้วโบราณาจารย์ท่านเก่งมากนะครับ กรรมฐาน ๔๐ กองใดกองหนึ่งท่านก็สามารถทำไปจนบรรลุมรรคผลได้ เพียงแต่ว่าบางทีท่านสอนวิปัสสนาแทรกเอาไว้โดยที่เราไม่รู้

    ทุกวันนี้ที่ท่านบอกว่าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไปพิจารณาพองหนอยุบหนอ "รู้หนอ เห็นหนอ รู้หนอ" กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่าเป็น "วิปัสสนาปลอม" ครับ เพราะว่าแค่รู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้ช่วยอะไรเลยครับ การที่เรารู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วตัดละ ปล่อยวางได้ จึงเป็นวิปัสสนาอย่างแท้จริง

    วิ เป็นคำอุปสรรค คือคำนำหน้า แปลใน ๓ ความหมายคือ วิเศษ แจ่มแจ้ง แตกต่าง ปัสสนา คือการรู้เห็น วิปัสสนาคือการรู้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง การรู้เห็นอย่างแตกต่าง คือต่างไปจากที่ชาวโลกเขาเห็นกัน ก็คือต้องรู้เห็นด้วยดวงปัญญา แล้วไม่ใช่รู้เฉย ๆ นะครับ ถ้ารู้เฉย ๆ วิปัสสนากรรมฐานก็ช่วยอะไรไม่ได้ รู้แล้วต้องตัด ละ วางลงได้ ไม่เช่นนั้นแล้วท่านทำไปก็เหนื่อยฟรีอีกแหละครับ
     
  12. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้ ประกอบไปด้วยอริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ฟังแล้วบ้าไปเลย..ใช่ไหมครับ ? ฟังเอาไว้แค่ตอบเวลาอาจารย์ถามก็พอครับ เรื่องพวกนี้ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติมาเป็นสิบ ๆ ปีนี่ โอกาสที่จะเข้าถึงและอธิบายได้ถูกต้อง ยากมากนะครับ

    แต่ขอให้รู้ว่า แม้จะเป็นกรรมฐาน ๒ หมวด คือสมถกรรมฐานที่ช่วยให้ใจสงบระงับ ควรแก่งาน และวิปัสสนากรรมฐานที่ช่วยให้เรารู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพความเป็นจริง แต่ทั้ง ๒ อย่างควรที่จะทำร่วมกันครับ ไม่ใช่ว่าเราไปทำเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

    สมถกรรมฐานเหมือนกับการเพาะสร้างให้ตนเองมีกำลังเข้มแข็งมาก วิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับอาวุธที่มีความแหลมคมมาก ถ้าไม่มีกำลัง เราก็ยกอาวุธไม่ขึ้น จะไปตัดไปฟันอะไรก็ไม่ได้ ถ้ามีแต่อาวุธ เราไปตัดฟันอะไรได้ไหมครับ ? ไม่ได้อยู่แล้ว แล้วถ้ามีแต่กำลังละครับ ? ค่อย ๆ ทุบไปก็น่าจะพังสักวันหนึ่ง แต่ก็ช้ามาก จึงควรที่จะทำ ๒ อย่างร่วมกันครับ เพราะว่าสภาพจิตที่สงบระงับ บาลีท่านใช้คำว่า มุทุ คืออ่อนลงแล้ว ควรแก่การใช้งานแล้ว ก็คือควรแก่การพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานแล้ว

    กระผม/อาตมภาพขอถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และขอบอกกล่าวแก่ญาติโยมที่ฟังอยู่ว่า กรุณาเน้นในส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วหยิบอีกส่วนหนึ่งมาใช้งานด้วย เพราะว่ากรรมฐานทั้ง ๒ นี้เหมือนกับคนที่ผูกขาติดกัน ต้องผลัดกันก้าวเดินถึงจะขึ้นหน้าได้ ไม่เช่นนั้นท่านก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งอยู่ข้างเดียว พอสุดสายเชือกหรือสายโซ่ที่ผูกไว้ ก็จะโดนดึงกลับโดยอัตโนมัติครับ ไปไหนไม่รอดทั้งปีทั้งชาติ..!

    โดยเฉพาะท่านที่ฝึกในสมถกรรมฐานมา เมื่อไม่ได้ใช้กำลังไปในการพิจารณา กิเลสรัก โลภ โกรธ หลง จะเอาไปใช้แทนครับ ทำให้เรา รัก โลภ โกรธ หลง หนักยิ่งขึ้น เนื่องจากมีกำลังจากสมาธิที่เราฝึกได้ไปช่วยเหลืออยู่ กลายเป็นเลี้ยงโจรไว้ปล้นเราเอง..!

    ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน ท่านใดท่านหนึ่งจะพินิจพิจารณา ลองไปอ่านในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรดูนะครับ พระภิกษุรูปหนึ่งพยายามพิจารณาวิปัสสนา ก็อยู่ในลักษณะพองหนอยุบหนอนั่นแหละครับ เป็นเวลา ๖๐ ปี สามารถบรรลุอรหัตผลได้ ไปได้นะครับ แต่ท่านทั้งหลายมีเวลา ๖๐ ปีไหมครับ ? ถ้าหากว่าท่านบวชอายุ ๒๐ แล้วพิจารณาเลย อายุ ๘๐ ปี ถึงจะบรรลุนะครับ กลายเป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยาก
     
  13. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ดังนั้น..ทุกวันนี้เวลาท่านทั้งหลายไปเข้าคอร์สตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยของเรา กระผม/อาตมภาพสงสารมากเลยครับ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะไปกันไม่เป็น พอถึงเวลาก็เครียด กว่าจะเอาอยู่ก็ ๓ วัน ๔ วันไปแล้ว ยิ่งท่านใดกำลังใจต่อต้านขึ้นมา ก็ยิ่งเอาอยู่ยากขึ้น บางคน ๑๕ วันผ่านไปตามระดับปริญญาโท ไม่ได้อะไรเลยนะครับ นอกจากแช่งชักหักกระดูกท่านที่เอาเรามาฝึก เรื่องพวกนี้กระผม/อาตมภาพเจอมาเองแล้วทั้งนั้นครับ สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำเลย

    ดังนั้น..ในส่วนนี้ที่เรียนถวายท่านทั้งหลายไว้ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าของเราก็ดี โบราณาจารย์ก็ตาม ท่านไม่ได้แยกกรรมฐาน ๒ ออกจากกันนะครับ ท่านให้ปฏิบัติร่วมกัน เหมือนกับเราใส่เกราะด้วยสมถกรรมฐาน แล้วลงสนามไปรบด้วยวิปัสสนากรรมฐาน โอกาสที่จะบาดเจ็บล้มตายจึงมีน้อยครับ แต่ถ้าท่านทั้งหลายประเภทถอดเกราะ ขึ้นเวทีไปต่อยกับไมค์ ไทสัน มือเปล่า ก็มีสิทธิ์ตายคาสนามเลยครับ..!

    ในส่วนนี้ที่มาบอกมากล่าว ก็เพราะว่าในส่วนของสมถกรรมฐานมีประโยชน์มาก ถ้าเราทำได้ กำลังใจจะแน่วแน่มั่นคง สงบระงับ สามารถกดกิเลสให้สงบลงได้ชั่วคราว แต่ถ้าพลาดเมื่อไรก็โดนงัดหงายท้องเมื่อนั้นครับ

    วิปัสสนากรรมฐาน ช่วยให้เรารู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่ถ้าขาดกำลังสมาธิของสมถกรรมฐานมาช่วย การรู้เห็นของเราก็ไม่สามารถที่จะตัดละได้อย่างเด็ดขาด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใช้ทั้ง ๒ อย่างร่วมกัน ถึงจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

    ท่านใดท่านหนึ่งที่ยืนยันว่า "ต้องวิปัสสนาเท่านั้น ต้องสายนี้เท่านั้น" ก็ปล่อยไปตามทางของท่านเถอะครับ ถึงเวลาเราจะปฏิบัติอย่างไรก็ช่าง เริ่มต้นด้วยสิ่งที่ท่านสอนเพื่อที่จะเอาไปส่งอารมณ์ได้สักหน่อยหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็โกยตามที่เราทำได้นั่นแหละครับ เอาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วท่านทั้งหลายจะปฏิบัติธรรมประจำปีด้วยความสะดวกสบายมากขึ้น

    กระผม/อาตมภาพใช้เวลามาเกือบ ๔๕ นาทีแล้ว เหลือเวลาประมาณ ๑๕ นาที ท่านใดมีข้อสงสัยจะสอบถาม สามารถที่จะเปิดไมค์ถามได้เลยครับ มีไหมครับ ?
     
  14. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ถ้าไม่มีขอฝากสิ่งที่สำคัญและจำเป็น สำหรับท่านทั้งหลายที่หวังความดีความงามในการปฏิบัติธรรมจริง ๆ ว่า ทุกวันนี้ที่เราทำแล้วไปไหนไม่รอด อย่างแรกเลยก็คือภาวนาแล้วพิจารณาไม่เป็น การพิจารณาเราไม่ต้องดูไกลครับ ดูในร่างกายเรานี่แหละ โอปะนะยิโก น้อมนำเข้ามาในร่างกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี่เอง

    ดูอย่างไรให้ไม่เที่ยงครับ ? เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ก็ได้ คลอดออกมานอนหงายตะกายอากาศอยู่ พยายามหัดพลิก หัดคว่ำ หัดคืบ หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน หัดวิ่ง เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กโต เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ แล้วก็ตาย

    ทำอย่างไรเราจะมองเห็นให้ชัดเจนครับ ? พระภิกษุสามเณรของเราออกไปเดินบิณฑบาต ญาติโยมที่ใส่บาตรก็มีสารพัดวัยเลยครับ ทำอย่างไรที่เราจะพิจารณาให้เห็นชัดว่า ท่านทั้งหลายเหล่านี้กำลังแสดงความไม่เที่ยงเป็นปกติ

    ต่อไปก็คือความทุกข์ครับ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มีอยู่ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลงนะครับ หลับไปแล้วก็ยังทุกข์อยู่ แต่ว่าเราขาดสติ ไม่รับรู้เท่านั้นเอง

    ข้อสุดท้ายก็คือ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราครับ พอแยกแยะออกมาก็เหลือแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลมเท่านั้น พอเอามาขยับรวมกันเข้า มีหัว มีหู มีหน้า มีตา เรามาอาศัยอยู่ชั่วคราวก็ไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู

    ท่านทั้งหลายต้องเห็นให้ชัดเจนนะครับ แล้วขณะเดียวกันต้องน้อมใจยอมรับด้วย ถ้าใจยังไม่ยอมรับ เห็นเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ครับ เหมือนกับเป็นสมบัติของคนอื่นเขา แต่ถ้าใจยอมรับเมื่อไร สบายครับ จะเป็นสมบัติของเรา ดังนั้น..ไม่ใช่พิจารณาอย่างเดียวนะครับ ต้องให้กำลังใจยอมรับด้วย

    โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ในปัจจุบันนี้ ถึงเวลาปฏิบัติธรรมแล้ว พอลุกขึ้นก็ทิ้งหมดเลย วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ไม่มีความก้าวหน้าอะไรเลย เพราะว่าการปฏิบัติธรรมเหมือนกับเราว่ายทวนน้ำ พอเราปล่อยก็ลอยตามน้ำไป รุ่งขึ้นว่ายใหม่ กลับมาก็ได้แค่เดิม ปล่อยอีกก็ลอยตามน้ำอีก วันไหนเหนื่อยมาก ว่ายกลับมาได้ไม่เท่าเดิม ระยะก็ยาวขึ้นไปเรื่อย

    เพราะว่าเราขาดการรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องครับ ปฏิบัติแล้วทิ้งหมดเลย โดยไม่ได้ไปใส่ใจถึงอีก กลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ผลงานไม่มี น่าสงสารนะครับ แล้วบางคนก็มาคุยว่าปฏิบัติธรรมมาเป็น ๑๐ ปีแล้วไม่เห็นได้อะไรกับใครเลย ก็เพราะว่าท่านทำแล้วทิ้งอย่างไรละครับ
     
  15. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    มีคำถามในช่องแชตว่า "การกำหนดส่วนของราคะจริตต้องกำหนดอย่างไร ?"

    ราคะจริต เป็นจริตคือความชอบเฉพาะตัว ไม่ใช่กองกรรมฐานที่จะกำหนดได้ ถ้าจะแก้ไขราคะจริต ท่านให้ไปใช้อสุภกรรมฐาน กายคตานุสติกรรมฐาน ไปค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตดูครับว่าสองอย่างนี้ทำอย่างไร แล้วกำหนดไปตามนั้น

    มีโยมจากฟินแลนด์จะถาม เชิญเลยจ้ะ

    ชื่ออะไรจ๊ะ ?
    ชื่อปรารถนาค่ะ

    ตอนนี้อยู่ฟินแลนด์ อากาศก็น่าจะเริ่มหนาวแล้ว
    ช่วงนี้หิมะตก ก็เลยถือโอกาส..

    เราจะได้เห็นว่าการดำรงชีวิตอยู่เป็นทุกข์จริง ๆ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หนาวร้อน หิวกระหาย ก็ล้วนแล้วแต่สร้างความทุกข์ให้เราอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถที่จะหนีได้ นอกจากผ่อนเบา ก็คือหนีจากฟินแลนด์มาอยู่เมืองไทย เพราะว่าหนาวน้อยกว่า ตราบใดที่ยังมีร่างกายนี้อยู่ ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ก็จะปรากฏอยู่กับเราตามปกติ

    คราวนี้การที่เราจะจัดการกับความทุกข์ อันดับแรกเลย เราต้องยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสมบัติประจำร่างกาย โดยเฉพาะนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเครียดกับ รัก โลภ โกรธ หลง เหลือเกิน


    ราคะมา ทำอย่างไรจะจัดการได้ทัน ?

    โทสะมา ทำอย่างไร
    จะจัดการได้ทัน ?

    โลภะมา ทำอย่างไร
    จะจัดการได้ทัน ?

    โมหะมา ทำอย่างไร
    จะจัดการได้ทัน ?

    ไม่ต้องจัดการครับ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสมบัติประจำร่างกายนี้ เอ็งอยากจะมีก็จงมีไปเถิด ข้าแค่ไม่ไปยุ่งกับเอ็งก็จบแล้ว ฟังดูง่ายนะครับ
     
  16. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,672
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ทุกวันนี้ทำไมเราถึงไปยุ่งกับ รัก โลภ โกรธ หลง ครับ ? ก็เพราะว่าเราไปนึกคิดปรุงแต่ง สมมติว่าเห็นเพศตรงข้ามเดินมา หน้าตาอย่างนี้ รูปร่างอย่างนี้ สเป็คของเราเลย ราคะก็เจริญงอกงามสิครับ ทำอย่างไรเราจะสักแต่เห็นว่าเป็นรูป สักแต่เห็นว่าเป็นธาตุ เป็นเรือนร่างที่อาศัยอยู่ตามกรรมชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างพังไป

    เวลาจะเกิดโทสะขึ้น ทำอย่างไรที่เราจะรู้เห็นว่าสิ่งนี้มีแต่โทษ ในเมื่อมีแต่โทษ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งตัวเขาและตัวเรา ถ้าสติปัญญารู้เท่าทัน เราก็จะระงับโทสะได้ เป็นต้น

    ดังนั้น..สำคัญที่สุดก็คือ "อย่าไปคิด" ครับ แล้วเราจะหยุดคิดได้อย่างไร ? เราก็ต้องอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า หรือถ้าปฏิบัติมาตามสายพองยุบ ก็คืออยู่กับพองยุบของเรา อย่าให้หลุดไปไหน หลุดไปเมื่อไร คิดเมื่อไร ก็จะก่อความเดือดร้อนให้กับเราทันที

    ดังนั้น..ในขันธ์ ๕ ที่บอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาวิปัสสนาญาณ

    รูป คือร่างกายเรานี้

    เวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือว่ากลาง ๆ

    สัญญา คือความรู้ได้หมายจำ

    สังขารนี่แหละครับ..สาหัสที่สุด ความนึกคิดปรุงแต่ง เขาเรียกว่า "จิตสังขาร" ครับ การปรุงแต่งของใจ

    ท้ายที่สุด วิญญาณ คือการรับความรู้สึก ถ้าเป็นหมอสมัยใหม่ก็บอกว่าเป็นเส้นประสาท

    ทำอย่างไรที่เราจะไม่ไปนึก ไม่ไปคิด เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสสักแต่ว่าได้รส สัมผัสสักแต่ว่าสัมผัส ระมัดระวังไม่ให้เข้ามาในใจของเรา ถ้าท่านทั้งหลายทำได้ ชีวิตนี้จะมีความสุขมากขึ้นมหาศาลเลยครับ

    นอกจากเรายอมรับว่าร่างกายนี้มีความทุกข์เป็นธรรมดา แต่เราก็ยังต้องทนกับความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้อยู่ แต่เมื่อเราเห็นว่าธรรมดาของร่างกายนี้ เรามาอาศัยอยู่แค่ชั่วคราว ถ้าเปรียบกับระยะเวลาอันยาวนานของวัฏสงสาร ก็เหมือนแค่ลืมตาขึ้นแล้วหลับตาลงเท่านั้นเอง ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แค่นี้ ทำไมเราจะอยู่ให้ดีไม่ได้ ?

    ก็เป็นเรื่องของการที่พระพุทธเจ้าสอนเรา เพื่อให้เกิดปัญญา ถ้าเป็นสมัยใหม่เขาเรียกว่าเกิดมุมมอง คือ Vision หรือทัศนคติ ว่าจะจัดการกับชีวิตอย่างไรถึงจะถูกต้อง ? โดยเฉพาะท้ายที่สุด ทำอย่างไรถึงจะละวางลงได้อย่างสิ้นเชิง ?

    ถ้าไม่มีคำถาม กระผม/อาตมภาพก็ขอโอกาสนี้ตั้งสัตยาธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านทั้งหลายเคารพนับถือ ตลอดจนคุณงามความดีที่ท่านทั้งหลายได้สร้างมา จงรวมกันเป็นตบเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ มีความปรารถนาที่สมหวังจงทุกประการ ทุกท่านทุกคนเทอญ

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    ธรรมบรรยาย "วิชากรรมฐาน สำหรับนิสิตบัณฑิตศึกษา"
    วันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...