กรรมฐานกองหลักคือ อานาปานสติ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 พฤศจิกายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,578
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,383
    0F213EAD-D853-4D89-ABB3-BB0CD3677E80.jpeg

    กองกรรมฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติของเรา อันดับแรกที่ทิ้งไม่ได้โดยเด็ดขาด คือ อานาปานสติ หรือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก เพราะถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก เราก็ไม่สามารถที่จะสร้างสมาธิให้เกิดได้ กองกรรมฐานอื่น ๆ ก็ไม่สามารถที่จะทรงตัวอยู่ได้

    การที่ใช้อานาปานสตินั้นควรที่จะควบพุทธานุสติไปด้วยเพื่อเป็นกำไร ก็คือการใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” ก็ดี “สัมมาอรหัง” ก็ดี ซึ่งทำให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นปกติ หรือถ้าหากท่านใดถนัดในการจับภาพพระเป็นพุทธานุสติ นั่นก็เป็นส่วนของกสิณ ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราถนัด ยกเว้นว่าเราทำกรรมฐานกองเหล่านั้นได้ทั้งหมดแล้ว จึงนำมาประยุกต์รวมกันได้

    ครั้นเราใช้อานาปานสติกรรมฐานควบกับพุทธานุสติกรรมฐานแล้ว เมื่อภาวนาไปจนอารมณ์ใจทรงตัว ก็ให้แผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งใจว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก ตัวเมตตาพรหมวิหารจะช่วยให้กำลังใจของเราเยือกเย็น ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ มีความไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติธรรม ไม่อย่างนั้นถ้าเราไม่มีการแผ่เมตตาเป็นปกติ ก็จะรู้สึกว่าแห้งแล้ง ติดขัด ไม่คล่องตัว

    เมื่อแผ่เมตตาไปแล้วจนกระทั่งกำลังใจทรงตัวดี ก็หันมาพิจารณาให้เห็นชัดว่า ร่างกายนี้ก้าวเข้าไปสู่ความตายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็คือ มรณานุสติกรรมฐาน ชีวิตของเรามีอยู่แค่ชั่วลมหายใจเท่านั้น หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าไปใหม่ก็ตายเช่นกัน ความตายมาถึงเราได้อยู่ทุกเวลา จึงไม่ควรประมาท ให้เร่งรัดการปฏิบัติให้มากเข้าไว้

    เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว ลำดับต่อไปก็ให้ทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ นั่นคือ สีลานุสติกรรมฐาน ตั้งใจระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่ามีความดีอย่างไร จนกระทั่งจิตใจของเราปรากฏความเลื่อมใสแน่นแฟ้น ไม่ล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ นั่นก็คือการระลึกถึง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติกรรมฐาน

    หลังจากนั้นก็พิจารณาให้เห็นสภาพร่างกายของเรา ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร อาจจะดูในลักษณะของกายคตานุสติกรรมฐาน คือแยกออกเป็นอาการ ๓๒ ให้เห็นชัดว่าร่างกายนี้ไม่ใช่แท่งทึบ เป็นเครื่องจักรกลที่ประกอบด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ มีความสกปรกเป็นปกติ หรือเราจะพินิจพิจารณาในส่วนของจตุธาตุววัฏฐาน คือ แยกร่างกายเราเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เห็นชัดว่าประกอบขึ้นมาเป็นเรือนร่างให้เราอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไป ซึ่งก็คือในส่วนของมรณานุสติกรรมฐาน และถ้าพิจารณาเลยนั้นไปก็จะเป็นอสุภกรรมฐาน เป็นต้น

    เมื่อเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย คลายกำหนัด สังเวชใจในสภาพร่างกายที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรานี้แล้ว ก็เอาจิตสุดท้ายของเราเกาะพระนิพพาน คือ อุปสมานุสติกรรมฐาน แล้วกำหนดภาวนาของเราไป ตั้งใจว่าถ้าวันนี้เราต้องสิ้นชีวิตลงเพราะหมดอายุขัย หรือตายลงด้วยอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ก็ตาม เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น นั่นคืออุปสมานุสติกรรมฐานนั่นเอง

    กรรมฐานทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ หลัก ๆ เลยก็คืออานาปานสติกรรมฐาน พุทธานุสติกรรมฐาน มรณานุสติกรรมฐาน พรหมวิหารสี่ ตลอดจนกระทั่งกายคตานุสติหรือว่าอสุภกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เราจะต้องทำอย่างละเว้นเสียไม่ได้ เพื่อให้ท้ายสุดเราเข้าถึงอุปสมานุสติกรรมฐาน หรือมรรคผลพระนิพพานของเรา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...